เจตนารมณ์พระศาสนา


 

 

การประกาศพระศาสนา

 

ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นผู้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์และเป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอทั้งหลาย ก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์. ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลาย จงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่อความเอ็นดูแก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อย่าไปทางเดียวกันถึงสองรูป. ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงแสดงธรรมให้งดงามในเบื้องต้น ให้งดงามในท่ามกลาง ให้งดงาม ในที่สุดลงรอบ, จงประกาศพรหมจรรย์ให้เป็นไปพร้อมทั้งอรรถะทั้งพยัญชนะ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายที่เป็นพวกมีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยก็มีอยู่. สัตว์พวกนี้ ย่อมเสื่อมจากคุณที่ควรได้ เพราะไม่ได้ฟังธรรม. สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีเป็นแน่. ภิกษุทั้งหลาย แม้เราเอง ก็จักไปสู่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม.

 

การกักตุนส่วนเกิน เหตุแห่งวิกฤตการณ์

 

...ครั้งนั้น สัตว์ผู้หนึ่งเกิดความเกียจคร้านขึ้น จึงได้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญ เราช่างลำบากเสียนี่กระไร ที่ต้องไปเก็บข้าวสาลีมาทั้งในเวลาเย็นสำหรับอาหารเย็น ทั้งในเวลาเช้าสำหรับอาหารเช้า อย่ากระนั้นเลย เราควรไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้เพื่อบริโภคทั้งเย็นทั้งเช้าคราวเดียวเถิด. ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อแต่นั้นมาสัตว์ผู้นั้นก็ไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้ เพื่อบริโภคทั้งเย็นทั้งเช้าในคราวเดียวกัน ฉะนี้แล.

 

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์ผู้หนึ่งเข้าไปหาสัตว์ผู้นั้นแล้วชวนว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ มาเถิด เราจักไปเก็บข้าวสาลีกัน. สัตว์ผู้นั้นตอบว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ ฉันไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้เพื่อบริโภคพอทั้งเย็นทั้งเช้าเสียคราวเดียวแล้ว. ต่อมาสัตว์ผู้นั้นถือตามแบบอย่าง ของสัตว์ผู้นั้น จึงไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้คราวเดียว เพื่อสองวัน แล้วพูดว่า ได้ยินว่า แม้อย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน ท่านผู้เจริญ. ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมาสัตว์อีกผู้หนึ่ง เข้าไปหาสัตว์ผู้นั้น แล้วชวนว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ มาเถิด เราจักไปเก็บข้าวสาลีกัน. สัตว์ผู้นั้นตอบว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ ฉันไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้เพื่อบริโภคพอทั้งเย็นทั้งเช้าเสียคราวเดียวแล้ว.

 

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้นั้นถือเอาตามแบบอย่างของสัตว์นั้น จึงไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้คราวเดียว เพื่อสี่วัน แล้วพูดว่า แม้อย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน ท่านผู้เจริญ. ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมาสัตว์อีกผู้หนึ่ง เข้าไปหาสัตว์ผู้นั้น แล้วชวนว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ มาเถิด เราจักไปเก็บข้าวสาลีกัน สัตว์ผู้นั้นตอบว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ไปเก็บข้าวสาลีมาไว้คราวเดียว เพื่อสี่วันแล้ว. ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้นั้น ถือเอาตามแบบอย่างของสัตว์นั้น จึงไปเก็บข้าวสาลีมาไว้คราวเดียว เพื่อแปดวัน แล้วพูดว่า แม้อย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน ท่านผู้เจริญ.

 

เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นพยายามเก็บข้าวสาลีสะสมไว้เพื่อบริโภคกันขึ้น เมื่อนั้นแลข้าวสาลีนั้นจึงกลายเป็นข้าวมีรำห่อเมล็ดบ้าง มีแกลบหุ้มเมล็ดบ้าง ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้วก็ไม่กลับงอกแทน ปรากฏว่า ขาดเป็นตอนๆ (ตั้งแต่นั้นมา) จึงได้มีข้าวสาลีเป็นกลุ่ม ๆ.

สัตว์ทั้งหลายจึงประชุมกันปรารภเรื่องราวที่ผ่านมา และเห็นสมควรให้มีการแบ่งข้าวสาลีปักเขตแบ่งแดนกัน

 

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้หนึ่งเป็นคนโลภ สงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค. สัตว์ทั้งหลายจึงช่วยกันจับสัตว์ผู้นั้น ครั้นแล้ว ได้ตักเตือนอย่างนี้ว่า แน่ะ สัตว์ผู้เจริญ ก็ท่านกระทำกรรมชั่วช้านัก ที่สงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านอย่าได้ให้กระทำกรรมชั่วช้าเห็นปานนี้อีกเลย. ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์ผู้นั้นแล รับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ สัตว์นั้นสงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค. สัตว์เหล่านั้นจึงช่วยกันจับสัตว์ผู้นั้น ครั้นแล้ว ได้ตักเตือนว่า แน่ะ สัตว์ผู้เจริญ ท่านทำกรรมอันชั่วช้านัก ที่สงวนส่วนของตนไว้ ไปเอาส่วนที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านอย่าได้กระทำกรรมอันชั่วช้าเห็นปานนี้อีกเลย. สัตว์พวกหนึ่งประหารด้วยฝ่ามือ พวกหนึ่งประหารด้วยก้อนดิน พวกหนึ่งประหารด้วยท่อนไม้. ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็นัยเพราะมีเหตุเช่นนั้นเป็นต้นมา การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จึงปรากฏ การติเตียนจึงปรากฏ การกล่าวเท็จจึงปรากฏ การถือท่อนไม้จึงปรากฏ.

มีการปกครองเพราะคนเสื่อมศีลธรรม

 

ครั้งนั้นแล พวกสัตว์ที่เป็นผู้ใหญ่จึงประชุมกัน ครั้นแล้ว ต่างก็ปรับทุกข์กันว่า พ่อเอ๋ย ก็การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จักปรากฏ การติเตียนจักปรากฏ การกล่าวเท็จจักปรากฏ การถือท่อนไม้จักปรากฏ ในเพราะบาปธรรมเหล่าใด บาปธรรมเหล่านั้นเกิดปรากฏแล้วในสัตว์ทั้งหลาย. อย่ากระนั้น เลย พวกเราจักสมมติสัตว์ผู้หนึ่งให้เป็นผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ. ส่วนพวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น ดังนี้.

 

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นแล้ว สัตว์เหล่านั้นพากันเข้าไปหาสัตว์ที่สวยงามกว่า น่าดูน่าชมกว่า น่าเลื่อมใสกว่า และน่าเกรงขามมากกว่าสัตว์ทุกคน แล้วจึงแจ้งเรื่องนี้ว่า ข้าแต่สัตว์ผู้เจริญ มาเถิดพ่อ ขอพ่อจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ จงติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบเถิด. ส่วนพวกข้าพเจ้าจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่พ่อ. ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์ผู้นั้นแลรับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว จึงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ. ส่วนสัตว์เหล่านั้นแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่สัตว์ที่เป็นหัวหน้านั้น

ความสุขที่ประณีตกว่ากามสุข

 

"ดูกรอานนท์ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่.

 

ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่.

 

ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่.

 

ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยมีอุเบกขา มีสติมีสัมปชัญญะและเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ ยังมีอยู่.

 

ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ ยังมีอยู่.

 

ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากาสานัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญาได้โดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญาได้ เพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญาอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.

 

ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า วิญญาณไม่มีที่สุด เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.

 

ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌานด้วยมนสิการว่า หน่อยหนึ่งไม่มี เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.

 

ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.

 

ดูกรอานนท์ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรอานนท์ เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ ยังมีอยู่.

 

ดูกรอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.

 

ดูกรอานนท์ ข้อที่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณะโคดมตรัสสัญญาเวทยิตนิโรธไว้แล้ว แต่บัญญัติลงในสุข ข้อนี้นั้นจะเป็นไฉนเล่า ข้อนี้นั้นเป็นอย่างไรเล่าดังนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรอานนท์ อัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนี้ ท่านควรจะกล่าวตอบว่า ดูกรอาวุโส พระผู้มีพระภาคทรงจะหมายสุขเวทนาอย่างเดียว แล้วบัญญัติไว้ในสุขหามิได้ แต่บุคคลได้สุขในที่ใด ๆ พระตถาคตย่อมบัญญัติที่นั้นๆ ไว้ในสุข."

 

พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.

 

การแสวงหา
ชีวิตเป็นทุกข์ยังแสวงหาสิ่งที่เป็นทุกข์

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลายคนบางคนในโลกนี้ โดยตนเองเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีชาติเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีชราเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีโศกเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีโศกเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีสังกิเลส (ความเศร้าหมอง) เป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

 

ก็อะไรเรียกว่า สิ่งมีชาติเป็นธรรมดา? บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่า สิ่งมีชาติเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีชาติเป็นธรรมดาเหล่านั้น เป็นอุปธิ (สิ่งที่ยังระคนด้วยกิเลส) ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้อง ในสิ่งมีชาติเป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าโดยตนเองเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา อยู่นั่นแหละ

 

ก็อะไรเล่า เรียกว่า สิ่งมีชราเป็นธรรมดา? บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งมีชราเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีชราเป็นธรรมดาเหล่านั้น เป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้อง ในสิ่งมีชราเป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าโดยตนเองเป็นผู้มีชรา เป็นธรรมดายังแสวงหาสิ่งมีชราเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

 

ก็อะไรเล่า เรียกว่า สิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา? บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา เหล่านั้น เป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้อง ในสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าโดยตนเองเป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดายังแสวงหาสิ่งที่มีพยาธิเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

 

ก็อะไรเล่า เรียกว่า สิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา? บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่า สิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีมรณะเป็นธรรมดาเหล่านั้น เป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้อง ในสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าโดยตนเองเป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

 

ก็อะไรเล่า เรียกว่า สิ่งมีความโศกเป็นธรรมดา? บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่า สิ่งมีความโศกเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีความโศกเป็นธรรมดาเหล่านั้น เป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้อง ในสิ่งมีความโศกเป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าโดยตนเองเป็นผู้มีความโศกเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีความโศกเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

 

ก็อะไรเล่า เรียกว่า สิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา? บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่า สิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีสังกิเลส เป็นธรรมดาเหล่านั้น เป็นอุปธิผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้อง ในสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าโดยตนเองเป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้คือการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ.

 

ชีวิตเป็นทุกข์แต่แสวงหาสิ่งที่ไม่ทุกข์

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย การแสวงหาที่ประเสริฐเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนบางคนในโลกนี้ โดยตนเองเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่เกิด หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ

 

โดยตนเองเป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีชราเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่แก่ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ

โดยตนเองเป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน หาพยาธิมิได้ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ

โดยตนเองเป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่ตาย หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ

โดยตนเองเป็นผู้มีโศกเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีโศกเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่หาโศกมิได้ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ

โดยตนเองเป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่เศร้าหมอง หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แล คือการแสวงหาที่ประเสริฐ.

หลักธรรมอันควรน้อมนำมาในตน

(การรู้จักคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น)

 

ครั้งนั้น พราหมณ์และคฤหบดีชาวเวฬุทวารคามได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาค บางพวกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค บางพวกประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค บางพวกประกาศชื่อและโคตรในสำนักพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

"ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทั้งหลาย มีความปรารถนา มีความพอใจ มีความประสงค์อย่างนี้ ๆ ว่า ขอเราทั้งหลายพึงแออัดไปด้วยบุตรอยู่ครองเรือน พึงลูบไล้จันทน์ที่เขานำมาแต่แคว้นกาสี พึงทัดทรงมาลา ของหอม และเครื่องลูบไล้ พึงยินดีทองและเงิน เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพระองค์ทั้งหลายจะพึงแออัดไปด้วยบุตรอยู่ครองเรือน... เมื่อแตกกายตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ด้วยประการใด ขอท่านพระโคดมโปรดทรงแสดงธรรม ด้วยประการนั้น แก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้มีความปรารถนา ผู้มีความพอใจ ผู้มีความประสงค์อย่างนั้น ๆ เถิด."

 

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

 

"ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมปริยายอันควรน้อมเข้ามาในตนแก่ ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังธรรมปริยายนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว"

 

พราหมณ์และคฤหบดีชาวเวฬุทวารคามทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

 

"ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมปริยายที่ควรน้อมเข้ามาในตนเป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า 'เราอยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ผู้ใดจะปลงเราผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เสียจากชีวิต ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงปลงคนอื่นผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เสียจากชีวิต ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่น ไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร?' อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนั้นแล้วตนเองย่อมงดเว้นจากปาณาติบาตด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่องดเว้นจากปาณาติบาตด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นปาณาติบาตด้วย กายสมาจาร (ความประพฤติทางกาย) ของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.

 

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า 'ผู้ใดพึงถือเอาสิ่งของที่เรามิได้ให้ด้วยอาการขโมย ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงถือเองสิ่งของที่ผู้อื่นมิได้ให้ด้วยอาการขโมย ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร?' อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากอทินนาทานด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากอทินนาทานด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากอทินนาทานด้วย กายสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.

 

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า 'ผู้ใดพึงถึงความประพฤติ (ผิด) ในภริยาของเรา ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงถึงความประพฤติ (ผิด) ในภริยาของคนอื่น ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร?' อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารด้วย กายสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.

 

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า 'ผู้ใดพึงทำลายประโยชน์ของเราด้วยการกล่าวเท็จ ข้อนั้นไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงทำลายประโยชน์ของเราด้วยการกล่าวเท็จ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร?' อริยสาวกนั้นพิจารณา เห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากมุสาวาทด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากมุสาวาทด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากมุสาวาทด้วย วจีสมาจาร (ความประพฤติทางวาจา) ของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.

 

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า 'ผู้ใดพึงยุยงให้เราแตกจากมิตรด้วยคำส่อเสียด ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงยุยงคนอื่นให้แตกจากมิตรด้วยคำส่อเสียด ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร?' อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากปิสุณาวาจาด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้เว้นจากปิสุณาวาจาด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากปิสุณาวาจาด้วย วจีสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.

 

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า 'ผู้ใดพึงพูดกะเราด้วยคำหยาบ ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงพูดกะคนอื่นด้วยคำหยาบ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร?' อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้วตนเองย่อมงดเว้นจากผรุสวาจาด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากผรุสวาจาด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากผรุสวาจาด้วย วจีสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.

 

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า 'ผู้ใดพึงพูดกะเราด้วยถ้อยคำเพ้อเจ้อ ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงพูดกะคนอื่น ด้วยถ้อยคำเพ้อเจ้อ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร?' อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้น จากสัมผัปปลาปะด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากสัมผัปปลาปะด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่ง การงดเว้นจากสัมผัปปลาปะด้วย วจีสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้. อริยสาวกนั้นประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว... เป็นไปเพื่อสมาธิ.

 

ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เมื่อใด อริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการนี้ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นหวังอยู่ ด้วยฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความหวัง ๔ ประการนี้ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า 'เรามีนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า'."

 

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์และคฤหบดีชาวเวฬุทวารคามได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก ฯลฯ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์เหล่านี้ ขอถึงท่านพระโคดมกับทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯลฯ"

๑ มหา. วิ. เล่ม ๔ ข้อ ๓๒.
๒ อัคคัญญสูตร ปา. ที. เล่ม ๑๑ ข้อ ๖๐.
๓ อัคคัญญสูตร ปา. ที. เล่ม ๑๑ ข้อ ๖๒.
๔ พหุเวทนิยสูตร ม. ม. เล่ม ๑๓ ข้อ ๑๐๑-๑๐๒.
๕ ปาสราสิสูตร มู. ม. เล่ม ๑๒ ข้อ ๓๑๕-๓๑๕.
๖ เวฬุทวารสูตร มหา. สํ. เล่ม ๑๙ ข้อ ๑๔๕๖-๑๔๖๘.