สุนทรียภาพทางจิตวิญญาณ / กลุ่มพุทธทาสศึกษา


ศาสนาก็คือศิลปะ | ความดี ความงาม ความจริง

 

ศาสนาก็คือศิลปะ 

ในที่สุดนี้อยากจะพูดชั่วเวลาที่เหลืออยู่นี้ว่า  เราจะต้องมีชีวิตของเรานี้เป็นตัวเดียวกันกับธรรมะ  โดยไม่ต้องมีการพูดหรือมีการอะไร.  ชีวิตก็ดี การงานก็ดีศาสนาก็ดี  ศิลปะก็ดี  หรืออะไรก็ดี ให้หลอมเข้า เป็นสิ่งเดียวกัน  เป็นธรรมะ, ให้ชีวิตนั้นมันเป็นอยู่ด้วยธรรมะ, ให้การงานนั้นเป็นการงานอยู่ด้วยธรรมะ, ให้ศาสนาคือการประพฤติ  ปฏิบัติ กาย วาจา ใจ  ตามระเบียบศาสนานั้น อย่าเป็นเปลือกของธรรมะ ให้เป็นธรรมะจริง ๆ

 

อนึ่งสิ่งที่เรียกว่า ศิลป์ ที่เรานิยมกันนัก ว่าศิลปะ ศิลปินอย่างนี้ ให้มันเป็นศิลป์อยู่ตรงที่ การทำที่ฉลาดที่สุด น่าดู งดงามที่สุด,ตรงที่สามารถทำชิวิตนี้ไม่ให้เป็นทุกข์เลย,  ให้มันงามอยู่ ตรงที่ไม่มีความเศร้าหมอง หม่นหมอง  เร่าร้อนเลยนั่นแหละคือความงามอย่างยิ่ง. เมื่อรู้จักทำอย่างนี้ก็เป็นศิลป์หรือศิลปินอย่างยิ่ง, เป็นศิลป์ศิลปินของชีวิต. เพราะฉะนั้นศาสนาก็คือศิลปะ, พุทธศาสนาแท้ ๆ ก็คือศิลปะ   เพราะว่าเป็นอุบายอันหนึ่งที่ทำให้ชีวิตนี้งามอย่างยิ่ง, มีปรากฎการณ์ออกมาเป็นความงามอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรงามเสมอเหมือน  แล้วประณีตละเอียดเป็นงานฝีมืออย่างยี่ง  ในการที่จะทำอย่างนั้นได้ คือการเดินไปตามทางสายกลางดังที่ได้อธิบายแล้วแต่วันก่อน ๆ นั้น  นั่นแหละคือศิลปะอย่างยิ่ง.  ถ้าให้ระบุก็คืออริยมรรคมีองค์แปดประการ  นั่นแหละคือศิลปะสูงสุดของทั้งหมดของมนุษย์  หรือของสิ่งที่มนุษย์จะรู้จักได้.  ศาสนาก็คือศิลปะ  เพราะฉะนั้นการงานของเราเมื่อเนื่องอยู่ด้วยศาสนา  ด้วยธรรมะแล้วมันก็เป็นการงานศิลป์, ชีวิตก็เป็นชีวิตศิลป์.  มองดูในแง่ชีวิตก็เป็นชีวิต มองดูในแง่การงานก็เป็นการงาน  มองดูในแง่ศาสนาก็เป็นศาสนา มองดูในแง่ศิลป์ก็เป็นศิลป์ ทีนี้มันมากนัก  หลอมเป็นสิ่งเดียวกันเสียดีกว่า เป็นธรรมะ, ธรรมะ, ธรรมะ, คำเดียวพอ.

นี่เราจงมีอะไรเป็นของตัวเราเองอย่างนี้เราจะได้เอาตัวรอดได้ เราอย่าไปเดินตามฝรั่ง ไปเสียตะพึด, เพราะว่ามันไม่เหมือนกัน  และกล่าวได้ว่า ฝรั่งยังไม่รู้ธรรมะ ที่จะดับทุกข์ได้ดีไปกว่าเรา  เพราะฉะนั้น เราอย่ายกเขาเป็นผู้นำทางวิญญาณของเรา.  เราดูเขาแต่ที่จะใช้แก้ปัญหา ในทางวัตถุ และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น.  ส่วนใหญ่ใจความเราจะต้องใช้ของเราเอง. ถ้าเราไปหลงวัฒนธรรมตะวันตก ทุกแขนงทุกอย่างนั้น  ก็คือกระโดดลงเหวที่มืดที่สุด และไกลจากธรรมะยิ่งขึ้นไปทุกที มันคนละอย่างคนละแบบ.

 

พุทธทาสภิกขุ.
ธรรมโฆษณ์ ชุด ธรรมบรรรยายระดับมหาวิทยาลัย น.๒๗๘

ความดี ความงาม ความจริง

 

คำว่า  "ศาสนา"  ของพระพุทธเจ้านั้น  ท่านเล็งถึงสิ่ง ๓ สิ่ง  คือความรู้ อย่างหนึ่ง, และการปฏิบัติตามความรู้นั้น อย่างหนึ่ง, และการได้ผลเป็นความสะอาด สว่าง สงบขึ้นมานั้น อีกอย่างหนึ่ง, รวมกันสามอย่างนี้  เรียกว่าศาสนา.  เรียกเป็นบาลีก็ว่า : เป็นปริยัติธรรม, ปฏิบัติธรรม, ปฏิเวธธรรมสามอย่างนี้รวมกันเรียกว่าพระศาสนา.  เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลาย จะต้องเข้าถึงศาสนาอย่างนี้  และมีศาสนาอย่างนี้ เพื่อความรู้ก็ตาม เพื่อปฏิบัติก็ตาม  เพื่อเอาเป็นที่พึ่งก็ตาม ต้องมีศาสนาอย่างนี้  นี้เป็นคำกล่าวที่กว้างที่สุด  และใช้ได้แก่ศาสนาทั้งปวง.

ทีนี้เรามาถึงเรื่องเบ็ดเตล็ด  เป็นคำเบ็ดเตล็ด  แต่ว่าสำคัญมาก เป็นสิ่งที่สำคัญแก่มนุษย์เรามาก เป็นมูลเหตุ แห่งความทุกข์  และความสุขทีเดียว  เช่นว่าความดี  ความดี  ความจริง  ความยุติธรรมเหล่านี้  ลองคิดดูว่า อะไรเป็นความงาม ความดี ความจริง ความยุติธรรม.

 

ความงาม  ทางฝ่ายวัตถุ นั้น  คงจะเข้าใจกันได้ดีมาก  ว่าความงามทางฝ่ายวัตถุก็คือรูปงาม บางคน เอาความงามของร่างกาย เป็นอาชีพก็มี  จึงได้นึกหหลงใหลกันในความงาม มากถึงอย่างนั้นทั้ง ๒ ฝ่าย  คือทั้งฝ่ายที่เป็นเจ้าของความงาม  และผู้ที่จะมาซื้อหาความงาม จากบุคคลนั้น  อันนี้ก็คือ ความงามที่วัตถุที่ร่างกาย หรือที่เนื้อหนัง.

ทีนี้  ความงาม  เพราะว่าเขาร่ำรวย  บางคนก็เอาความงามที่ร่ำรวย เพราะมีทรัพย์มากอย่างนี้ก็มี.  ทีนี้บางคนก็วัดความงาม ที่มีวิชาความรู้สูง  งามอย่างนี้ก็มี.

อย่างที่เขาจะเลือกคู่ครองอย่างนี้  จะต้องนึกถึงรูป  นึกถึงทรัพย์  นึกถึงวิทยฐานะอะไรทำนองนี้  แต่ว่าความงามเหล่านี้  มันเป็นเรื่องวัตถุ  และมองกันในด้านนอก หรือภายนอกเท่านั้น.

ส่วน  ความงามที่แท้จริงนั้น  เป็นเรื่องทางภายในด้านจิตใจ คือ ความงามของธรรมะที่มีอยู่ในบุคคลนั้น  คือเขางามด้วยอำนาจของธรรมะ ที่มีอยู่ที่เนื้อที่ตัว  ที่กาย ที่วาจา  ที่ใจของเขา  ไม่คำนึงถึงรูป  หรือทรัพย์สมบัติ หรือวิทยฐานะเลย  ถ้ามันมีหมด มันก็ยิ่งงามทั้งข้างนอกข้างใน.  แต่ถ้าจะต้องเลือกเอาอย่างเดียวแล้ว  จะเลือกเอาอย่างไหน? ไปคิดดูกันเอง.

เรื่องของความดี พวกวัตถุนิยมก็ต้องเอาว่า "ได้"  นั่นแหละดี  ได้มราเป็นของกู เป็นตัวกูแล้ว นั่นแหละดี  อย่างอื่นไม่ดี. นี่ ! ขอให้ดูไปเถิด ดูที่เราเองดูที่คนอื่น  ดูที่คนทั้งเมือง  ว่าเขากำลังเอาอะไรเป็นความดี  เขากำลังเอาสิ่งที่ได้หรือการได้นั้น เป็นความดีหรือเปล่า ?  บางคนก็เอาตามที่โลกเขานิยมกันว่าดีก็แล้วกัน เพราะเขาว่าดีกันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้ว  เราจะไปไม่ดีอยู่คนเดียวอย่างไรได้  อย่างนี้ก็มี.

แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ว่าอย่างนั้น  คนทั้งเมืองจะว่าอย่างไร  ฉันไม่รู้ถ้าดีมันต้องดีจริง และดีจริงอย่างยิ่ง  ก็ตรงที่มันไม่เศร้าหมอง  มันไม่เร่าร้อนมันไม่ทุกข์ร้อน  มันไม่โง่เขลา, มันต้องดีอยู่ที่ความ  สะอาด  สว่าง  สงบ ด้วยเหมือนกัน.

 

บางคนเป็นเอามากกว่านั้นอีก  คือ โลกนิยมนั้นมันยังเป็นสมัย ๆ อีกด้วยซ้ำไป อย่างแบบเสื้อ หรืออะไรอย่างนี้ มันยังเป็นสมัย ๆ ชั่วเวลาไม่กี่เดือน.  ทีนี้ความดีอย่างอื่นก็เหมือนกัน ที่โลกเขานิยมแล้ว  ยังเป็นสมัย ๆ เป็นเฉพาะถิ่นเฉพาะแห่งไปก็มี. บางคราวเขานิยมว่า นั่นนี่เป็นดี  พอถึง

คราวอื่นเขาไม่นิยมเสียแล้ว.  นี่เป็นความดีอย่างหลอกลวง   อย่างมายา   ตามประสาของโลก. ส่วนความดีที่แท้จริง ที่มนุษย์ควรจะได้ให้ทนในชาตินี้นั้น ไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่า  ความสงบเย็นชนิดที่หาจากทางอื่นไม่ได้  นอกจากจะหาจากธรรมะอย่างเดียว  จึงจะเรียกว่าเป็นความดี.

 

ถ้าพูดถึง ความจริง  คนมันมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย เป็นเครื่องสัมผัส เพราะฉะนั้น มันก็จริง เท่าที่เขาสัมผัสได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กายของเขาเอง คือเท่าที่เขาพิสูจน์ได้ ทดลองได้ทางวัตถุ  เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าความจริงของชาวโลกที่ไม่เกี่ยวกับธรรมะนั้น มันก็คือเท่าที่เขาเห็นหรืเขารู้สึก  หรือเขาเชื่อว่ามันจริง.  เพราะฉะนั้นมันจึงถูกหลอกด้วยอารมณ์  หรือแม้แต่ถูกหลอกด้วยเหตุผล  ที่มันเปลี่ยนแปลงได้  เป็นความจริงในขณะหนึ่ง  และไม่เป็นความจริงในอีกขณะหนึ่ง.

 

แม้แต่กฎวิทยาศาสตร์ของนักวิทยาศาสตร์นั้น  ผู้ศึกษาก็รู้ได้ดีว่า มันเปลี่ยนอยู่บ่อย ๆ. ครั้งหนึ่งสมมุติว่า  จริงอย่างยิ่ง กฏวิทยาศาสตร์ข้อนี้แล้วต่อมาก็ไม่จริงแล้ว. นี้เพราะว่า มันจริงเท่าที่เขารู้สึกได้ด้วยตัวเขา เฉพาะขณะนั้นเวลานั้น  ด้วยเหตุผลอย่างนั้นด้วยการพิสูจน์ทดลองอย่างนั้นเท่านั้น.  อย่างนี้ยังไม่ใช่ธรรมะเลย  เป็นความจริงอย่างโลก ๆ ทางภายนอก.

ความจริงที่แท้จริงมันต้องจริงชนิดที่ไม่เปลี่ยนแปลง  ถ้าทุกข์ก็ต้องทุกข์จริง  ถ้าไม่ทุกข์ก็ต้องไม่ทุกข์จริง   ถ้าเป็นเหนุให้เกิดทุกข์  ก็ต้องให้เกิดทุกข์จริง ๆ ไม่หลอกใคร และถ้าดับทุกข์ได้ ก็ต้องดับทุกข์ได้จริง ๆ แล้วก็ไม่หลอกใคร นี่ ! จึงจะเรียกว่า ความจริงที่ประเสริฐของพระพุทธเจ้า หรือของพระอริยเจ้า.  ขอให้เรามองความจริง หรือสิ่งที่จริงกันในลักษณะเช่นนี้.

 

ความมุ่งหมายของการศึกษาทั่วไป ทั้งหมดทั้งสิ้น ก็เพื่อเข้าถึงความจริง ความมุ่งหมายของปรัชญา ทั้งหมดทั้งสิ้น ก็มุ่งหมายเพื่อจะเข้าถึงความจริง แต่ทีนี้การศึกษา หรือปรัชญาแขนงนั้น ๆ ก็มุ่งหมาย เพื่อจะเข้าถึงความจริง แต่ทีนี้การศึกษา หรือปรัชญาแขนงนั้น ๆ หรือสิ่งนั้นมันไม่สมบูรณ์  มันครึ่ง ๆ กลาง ๆ แล้วมันถึงกับป้ำ ๆ เป๋อ ๆ ก็มี นี่ ! แล้วมันจะจริงหรือเข้าถึงความจริงได้อย่างไร.

ทีนี้เราเอาเรื่องที่สำคัญที่สุดมาเป็นตัวเรื่อง  เช่นเรื่องความทุกข์ และ เรื่องดับทุกข์ เราค้นหาความจริง ของเรื่องนี้ให้พบ  นี้มันจึงจะพบของจริง  และเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่สุด ดีที่สุด ประเสริฐที่สุด.   ส่วนของจริงที่ไม่มีประโยชน์หรือว่าเพราะไม่อาจจะเอามารับใช้เป็นประโยชน์อะไรได้นั้น  ก็มีอยู่เยอะแยะ.

 

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า ฉันบอกแกกำมือเดียวเท่านั้น ที่ไม่บอกอีกเยอะแยะ ที่จำเป็นจะต้องบอกกันนี้กำมือเดียว  ซึ่งกล่าวให้ฟังแล้วแต่วันแรกว่าจริงแท้ด้วย แล้วก็กำมือเดียวเท่านั้นแล้วก็มีประโยชน์ทั้งหมดทั้งสิ้น.

 

คำสุดท้ายที่จะพูด "ความยุติธรรม" หรือความเป็นธรรม ในโลกนี้อำนาจอาจจะเป็นยุติธรรม  หรือเป็นธรรม ขึ้นมาเมื่อไรก็ได้,  หรือว่าตัวประโยชน์นั่นแหละ อาจจะเป็นความยุติธรรมขึ้นมาเมื่อไรก็ได้,   หรือว่าวัตถุพยาน เท่าที่เขาจะหามาได้เท่านั้น  ที่จะให้เป็นเหตุผลแก่ความยุติธรรม. ทีนี้ถ้าพยานมันเท็จ หรือมันไม่อาจจะรู้ได้ว่า พยานเท็จแล้ว  ความยุติธรรมนั้นมันก็หลอกทั้งที่ไม่รู้.

เพราะฉะนั้นความยุติธรรมที่แท้จริงนั้นจึงหาไม่ได้ ถ้าไม่เกี่ยวกับธรรมะ ถ้ามันเป็นโลกแล้ว มันก็เป็นความยุติธรรมไปตามแบบของโลก  ความยุติธรรมอย่างโลก ๆ เป็นเรื่องด้านนอกเสมอไป แต่ถ้าธรรมะแล้วมันไม่เข้าใครออกใครเด็ดขาดโดยประการทั้งปวง.  เช่นกฏแห่งกรรมก็ดี กฏแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตาก็ดี  เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์  ความดับทุกข์  ทางให้ถึงความดับทุกข์ก็ดี   เหล่านี้มันเป็นสิ่งที่เด็ดขาดและยุติธรรมอย่างยิ่ง  ไม่เห็นแก่หน้าใคร ไม่มีผู้ได้สิทธิพิเศษหรืออะไรทำนองนั้น  มันเป็นธรรมชาติที่มีอำนาจเด็ดขาดตายตัว,

พุทธทาสภิกขุ.

ธรรมโฆษณ์ ชุด ธรรมบรรรยายระดับมหาวิทยาลัย น.๑๗๔-๑๗๖