"สังฆะ" ในทัศนะท่านพุทธทาส / พระดุษฎี เมธงฺกุโร


พระดุษฎี เมธงฺกุโร

เกริ่นนำ

ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นพระมหาเถระที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปและฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้มีชีวิตชีวา สามารถแก้ปัญหาและอำนวยประโยชน์แก่ชาวโลก โดยอาศัยการกลับไปหา "ต้นฉบับ" คือพระพุทธวจนะในพระไตรปิฎกเป็นแนวทาง และทดลองปฏิบัติจริง โดยดำเนินชีวิตอยู่ในป่าใกล้เคียงกับชีวิตพระอริยสาวกในครั้งพุทธกาล เพื่อเข้าถึงความรู้สึกส่วนลึกและบรรยากาศของการเข้าถึงธรรม และพยายามประยุกต์และประกาศธรรม นำสิ่งที่ค้นพบมาจำแนกแจกแจงให้เหมาะกับยุคสมัย มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ คือทดลองพิสูจน์ได้ ช่วยตอบปัญหาชีวิตแก่ปัจเจกบุคคล และยังเป็นแนวทางที่ช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาให้สังคมดังมีหนังสือชุด "ธรรมโฆษณ์" ที่ท่านใช้โฆษณาธรรม ให้คนเห็นคุณค่าของธรรมะที่ประเสริฐยิ่งกว่าสินค้าใด ๆ ที่เป็นวัตถุปัจจัยปรนเปรอกาย หากธรรมะเป็นอาหารใจ เป็นยาใจ และเป็นหลักใจที่จำเป็นที่สุดแก่โลกและชีวิต

 

เมื่อสำรวจดูผลงานของท่านอาจารย์พุทธทาส เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์แล้ว พบว่า ผลงานที่กล่าวถึงพระพุทธ และพระธรรม มีมากและชัดเจนเป็นระบบ แต่ส่วนเกี่ยวกับพระสงฆ์ยังกระจัดกระจาย ควรจะได้ศึกษาและนำมาสู่การถกเถียงพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

 

ในส่วนที่เกี่ยวกับ พระพุทธเจ้า นั้น นอกจากรวบรวมเลือกคัดพระไตรปิฎกออกเป็นชุด "พระพุทธประวัติจากพระโอษฐ์" แล้ว ท่านยังแปล เรียบเรียง และบรรยายเรื่อง พุทธจริยา, พระพุทธคุณบรรยาย, พระพุทธคุณที่บันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์, พุทธประวัติสำหรับยุวชน, พุทธประวัติสำหรับคนหนุ่มสาว (มหาภิเนษกรมณ์) รวมทั้งเขียนหนังสือเป็นหลักสูตรให้คณะสงฆ์ ถวายลิขสิทธิ์แก่มหามกุฎราชวิทยาลัย ในเรื่อง พุทธประวัติเชิงวิจารณ์ อันเป็นเหตุให้ท่านต้องเดินทางไปอินเดีย ศึกษาดูงานโบราณคดีและประวัติศาสตร์อินเดียครั้งพุทธกาล เพื่อให้รู้เห็นของจริงที่ตนเองจะเขียนขึ้น เชื่อว่าท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นผู้ที่รู้จักเข้าใจและรักษาพระพุทธเจ้ามากที่สุดท่านหนึ่ง จนถึงกับเปลี่ยนนามของท่านว่า "พุทธทาส" เพื่อประกาศธรรมะและอุทิศกายรับใช้พระพุทธองค์จนสุดชีวิต

 

ในส่วนที่เกี่ยวกับ พระธรรม นั้น ท่านพุทธทาสมีคุณูปการที่โดดเด่นประการหนึ่ง ในการอรรถาธิบายทำให้การศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นไปตามลำดับ มีขั้นตอนเป็นระบบและประสานเชื่อมโยงกันอย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้เข้าใจว่า โลกียธรรมกับโลกุตตรธรรม ที่แท้จริงก็มุ่งหมายพัฒนามนุษย์ให้มีความสุขและความถูกต้องยิ่งขึ้นไปตามลำดับ มิได้ขัดแย้ง หรือแยกขาดจากกันอย่างที่นักปราชญ์ทางโลกชอบคิด ศีลธรรมต้องมีรากฐานบนปรมัตถธรรมจึงจะเป็นศีลธรรมที่ขจัดทุกข์ได้อย่างถูกต้องยั่งยืน ไม่เป็นการเห็นแก่ตัวหรือตีความเข้าข้างตัวตามใจของบุคคล ผลงานในชุด "ธรรมโฆษณ์" ส่วนใหญ่ท่านจะอธิบายธรรมะ ๔ ความหมายคือ

  1. ธรรมะคือ ธรรมชาติ
  2. ธรรมะคือ กฎของธรรมชาติ
  3. ธรรมะคือ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ
  4. ธรรมะคือ ผลอันเกิดขึ้นจากการทำหน้าที่นั้น

 

นอกจากอธิบายธรรมะเพื่อความดับทุกข์ส่วนบุคคลแล้ว ท่านยังได้ประยุกต์ธรรมะไปใช้กับสังคมในวงการต่าง ๆ เช่น ธรรมะกับการศึกษา การแพทย์ เศรษฐกิจ การเมือง สังคมและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อาทิเช่น ตุลากาลิกธรรม มหิดลธรรม บรมธรรม ฆราวาสธรรม เตกิจฉกธรรม อริยศีลธรรม เยาวชนกับศีลธรรม ศีลธรรมกับมนุษย์โลก เมื่อธรรมครองโลกธรรมะกับการเมือง สันติภาพของโลก รวมทั้งความเข้าใจระหว่างศาสนา ซึ่งท่านถือว่าทุกศาสนามีหน้าที่ช่วยคนให้เข้าถึงสันติธรรมและบรมธรรมด้วยกัน ดังเรื่อง ไกวัลยธรรม และใจความสำคัญแห่งคริสตธรรมที่พุทธบริษัทควรทราบ

 

หนังสือและคำบรรยายชุด ธรรมโฆษณ์ ทุกเล่ม ท่านถือเป็นหลักสูตรนักธรรมชั้นพิเศษ เพื่อเพิ่มพูนความรู้จากพื้นฐานนักธรรมตรี โท เอก ที่เป็นหลักสูตรหรือแบบเรียนของคณะสงฆ์ เพื่อให้มีคำตอบและแนวทางสำหรับการประยุกต์ธรรมให้นำโลกและช่วยโลกได้อย่างแท้จริง

 

สำหรับส่วนที่เกี่ยวกับพระสงฆ์นั้น ท่านก็มีส่วนสำคัญในการปฏิรูปคณะสงฆ์จากภายนอกศูนย์อำนาจ กล่าวคือ กิจการของสวนโมกขพลารามทั้งหมด รวมทั้งการออกหนังสือวารสาร พุทธสาสนา ของคณะธรรมทาน ก็เป็นไปเพื่อรื้อฟื้นการศึกษา ปฏิบัติและเผยแผ่ศาสนา เพื่อต้อนรับยุคกึ่งพุทธกาล บทความในพุทธศาสนายุคแรกที่ท่านเขียนเองเป็นส่วนใหญ่ ได้รวมพิมพ์เป็นหนังสือ ชุมนุมข้อคิดอิสระ, ชุมชนเรื่องสั้น, ชุมนุมเรื่องยาว ของธรรมทานมูลนิธิ เป็นแหล่งที่สะท้อนสภาพคณะสงฆ์และข้อเสนอแนะในการปรับปรุงเป็นอย่างดี รวมทั้งการที่ท่านพยายามรวบรวมและเรียบเรียงพระไตรปิฎกเป็นชุดจากพระโอษฐ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ ซึ่งเป็นคำชมและคำขนาบพระสงฆ์โดยตรง ให้ประชาชนทราบว่าพระดีและพระไม่ดีดูอย่างไร ท่านพุทธทาสนับเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจในการบวชแก่คนรุ่นใหม่อย่างสำคัญ ดังงานอมตะชิ้นแรกของท่านคือ ตามรอยพระอรหันต์ และคำสอนผู้บวชพรรษาเดียว ที่แพร่หลายและจัดว่าเป็นคำบรรยายที่สอนพระบวชใหม่ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งจนแม้ปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีคำบรรยาย อบรมพระธรรมทูตในแบบฉบับที่ท่านเห็นว่าต้องมีพร้อม ทั้งวิชชาและจรณะ ตลอดจนสร้างเครื่องมือในการสอนธรรมะอย่างหลากหลาย อาทิ การแปลบทสวดมนต์ บาลีเป็นไทยฉบับสวนโมกข์ การอธิบายภาพปริศนาธรรม และภาพล้อคนในโรงมหรสพทางวิญญาณ ตลอดจนการใช้สื่อสมัยใหม่ เช่นสไลด์ ภาพยนตร์ แม้จนดนตรี เพลงพื้นบ้าน คำประพันธ์และศิลปกรรมต่าง ๆ เช่นรูปปั้นพระโพธิสัตว์ หินสลักพุทธประวัติ สวนหิน ตลอดจนสระนาฬิเกร์ เป็นต้น เป็นสื่อการสอนที่ได้ผลมากบ้างน้อยบ้าง จนในที่สุดท่านเห็นว่าอุปกรณ์การเผยแผ่เพียงอย่างเดียวที่ประหยัดได้ผลดีที่สุดและจำเป็นที่สุด ก็คือการทำตัวของผู้เผยแผ่เอง ให้เป็นนิทรรศการเคลื่อนที่ แสดงสารัตถะและผลจากการปฏิบัติธรรม ให้ผู้พบเห็นได้ประจักษ์แจ้งโดยตรง ด้วยการ สอนให้จำ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัส

สังฆะมี ๓ ระดับ

หากสรุปความคิดของท่านพุทธทาสเกี่ยวกับสังฆะ ซึ่งหมายถึงหมู่ กลุ่ม ชุมชน อาจจำแนกได้เป็น ๓ ระดับ ดังนี้

๑. สังฆะ ในความหมายอย่างกว้างที่สุด ท่านเห็นว่า วิถีของสากลจักรวาล โลก ธรรมชาติแวดล้อมและสรรพสิ่ง ต้องอยู่รวมกันอย่างเป็น สหกรณ์ คือพึ่งพาอาศัยกันและเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน จึงอยู่ร่วมกันได้ดีมาโดยตลอด ซึ่งเป็นรากฐานของแนวคิดเรื่องธัมมิกสังคมนิยม ของท่าน ซึ่งบัดนี้ ดร.โดนัลด์ เค สแวเรอร์ และนักวิชาการรุ่นหลัง ๆ ได้รวบรวมพิมพ์บทบรรยายและบทวิเคราะห์เรื่อง "ธัมมิกสังคมนิยม" นี้ออกมาแล้วหลายเล่ม

๒. สังฆะ ในความหมายของวิถีชีวิตของความเป็นอยู่ของหมู่พระภิกษุสงฆ์ หรือชีวิตในวัด ซึ่งเน้นหลักการ "กินอยู่ง่าย ใคร่ครวญสูง" "อยู่อย่างต่ำ กระทำเพื่อผู้อื่น" "ทำงานเต็มความสามารถ ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น เจียดส่วนเกินให้ผู้อื่นที่ต้องการ" ซึ่งเป็นหลักการเป็นอยู่อย่างขูดเกลากิเลส ลดละอัตตา สามารถนำชีวิตให้มีค่าสูงสุดและเข้าถึงพุทธธรรมได้โดยสะดวก ท่านถึงกับท้าทายว่า "คอมมิวนิสต์เข้ามา พุทธศาสนาก็ยังอยู่ได้" (ในความหมายว่า แก่นแท้พุทธศาสนาคือ ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา) เพื่อตอบโต้รัฐบาลที่ปลุกระดมว่า "คอมมิวนิสต์มา ศาสนาหมด" โดยไปถือเปลือกนอกเป็นหลัก ดังท่านกล่าวว่า

"คอมมิวนิสต์ไม่อาจทำลายหัวใจของพุทธศาสนาคือพระธรรมได้ พระธรรมอยู่ในหัวใจมนุษย์ ไม่ใช่เปลือก เช่น โบสถ์ วิหาร หากพระธรรมที่อยู่ในหัวใจมนุษย์หมดไปเมื่อไร เมื่อนั้นและวินาศ อย่างแท้จริงสิ้นเชิงของมนุษย์" และท่านย้ำว่า "ชาวพุทธนี่แหละจะทำลายพุทธศาสนาเสียเอง เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมวินัยหรือศาสนานี้ จะอยู่หรือสูญสิ้นไปก็เพราะการกระทำของพุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา…… ถ้าเรามาทำกันผิด ๆ สอนกันผิด ๆ พูดกันผิด ๆ ปฏิบัติกันผิด ๆ ได้รับผลมาผิด ๆ นั่นแหละศาสนาหมดแล้ว ทั้งที่คอมมิวนิสต์ไม่ทันมา ศาสนาก็หมดแล้ว…. การไม่มีธรรมะ ไม่มีศีลธรรม ไม่มีความเป็นมนุษย์ มันน่ากลัวกว่าคอมมิวนิสต์…. อบายมุขทุกชนิด ความโง่ความหลงในความสุขทางวัตถุ ทางเนื้อหนัง ทางกามารมณ์ ที่กำลังมากขึ้นทุกที่ ๆ นี่แหละเลวร้ายกว่าคอมมิวนิสต์…"

"คอมมิวนิสต์เขาอ้างตัวเองอย่างยิ่งว่า เขาเกิดขึ้นมาในโลก เพื่อทำให้โลกนี้มีสันติสุข ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็มีอุดมคติตามแบบของคอมมิวนิสต์ แล้วจนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นผล…. เรามีธรรมะในพุทธศาสนาที่ดีกว่าลัทธิคอมมิวนิสต์อยู่แล้ว"

(จากประมวลธรรมท่านพุทธทาส หน้า ๒๐๖)

๓. สังฆะ ในความหมายถึง "การคณะสงฆ์ไทย" ซึ่งมีแบบแผนการปกครองการจัดการศึกษา การเผยแพร่ และสาธารณูปการ ที่ต้องจัดให้ได้ผลดี มีประสิทธิภาพคุ้มค่าและยั่งยืนนาน ทั้งเหมาะสมกับยุคสมัย สอดคล้องกับพระธรรมวินัยนั้น

 

ท่านอาจารย์พุทธทาสในฐานะนักคิดนักเขียน ได้เสนอแนะเกี่ยวกับสภาพการศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ไว้ในบทความชุด "ระดับการปฏิบัติธรรมในประเทศสยาม" (พ.ศ.๒๔๗๗) ชี้ให้เห็นว่า คุณภาพของพระสำคัญกว่าปริมาณหรือจำนวน และเรียกร้องให้ญาติโยมสนใจการปฏิบัติของพระสงฆ์ด้วย ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการเล่าเรียนเท่านั้น แม้การศึกษาส่วนปริยัติ ท่านก็ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและทันสมัยของศาสนศึกษาของเราว่ากระทำกันอย่างเพียงพอหรือไม่ หากมีความรู้ที่ถูกต้องเพียงพอ ก็จะช่วยให้การประพฤติปฏิบัติตัวของพระสงฆ์ดียิ่งขึ้น ข้อนี้มีความสำคัญเป็นความเจริญและความเสื่อมของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ที่ญาติโยมก็มีส่วนต้องรับผิดชอบด้วย

 

ในส่วนเบ็ดเตล็ดปลีกย่อย แต่เป็นเรื่องที่ชวนถกเถียงจนทะเลาะแตกแยกกันได้ เช่น เรื่องนิกาย สีจีวร บรรพชิตกับการใช้ของสวยงาม ของแพง ๆ (ปัจจุบันเช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ) พิธีการทำศพของชาวพุทธ อย่างธรรมปาละ ซึ่งประหยัดและได้คุณค่าทางธรรมะ รวมไปถึงความห่วงใยสามเณรในฐานะที่เป็นศาสนทายาท ซึ่งดูจะไม่ได้รับความเอาใจใส่เท่าที่ควร ท่านให้ให้แนวทางสร้างความภูมิใจในตัวเอง นับถือตัวเองของเยาวชน ซึ่งข้อนี้น่าจะเป็นประโยชน์ แก่การประยุกต์ใช้ได้กับเยาวชนทั่วไปในปัจจุบันด้วย โดยที่ปัญหาสามเณรในปัจจุบันดูจะยิ่งแย่หนักลงไปกว่าก่อนเสียอีก ทั้งปริมาณและคุณภาพ ทั้งนี้เพราะเราไม่แยกแยะและทำหลักสูตรให้เหมาะกับวัยของเด็กหรือพื้นฐานของผู้บวช ซึ่งบัดนี้ควรสนใจว่าระยะเวลาการบวชสั้นลงเพียง ๓ เดือน (ผู้ทำงานลาบวช) หรือ ๑ เดือน (ปิดเรียนภาคฤดูร้อน) หรือน้อยกว่านั้นเรายังไม่มีหลักสูตรที่เหมาะสมเพียงพอซึ่งเราควรปรับปรุงต่อไปดังท่านได้ทำเรื่อง "ศึกษาธรรมอย่างถูกวิธี" (หรือธรรมวิภาคนวกภูมิ) เป็นแนวทางไว้แล้ว

 

ท่านอาจารย์พุทธทาส เป็นนักการศึกษาคนสำคัญที่สร้างองค์ความรู้ทางพุทธศาสนาไว้มาก ทั้งจากการค้นคว้ารวบรวมจากพระไตรปิฎก และคัมภีร์ต่างศาสนาต่างนิกาย นำมาแปลและเรียบเรียง เปิดหูเปิดตาเปิดใจชาวพุทธไทยอย่างน่ายกย่องยิ่ง ประสานกับความรู้จากการปฏิบัติส่วนตนประจำวัน ดังในอนุทินปฏิบัติธรรมในวัยหนุ่ม ตลอดจนการพยายามเป็นอยู่อย่างใกล้ชิดธรรมชาติ ตามอย่างพระอริยสาวกในครั้งพุทธกาล และการปฏิบัติงานเผยแผ่สั่งสอนผู้อื่นหลายสิบปี (รวมทั้งงานนำพัฒนาท้องถิ่น จนท่านสรุปประสบการณ์เหล่านี้ว่าไม่คุ้มค่าความเสียสละมาบวช จนเป็นเหตุให้มุ่งทำงานชี้แจงหัวใจพุทธศาสนา เน้นให้การศึกษาแก่ชนในวงกว้างเป็นหลัก) จะน่าตื่นตาตื่นใจเพียงใด หากท่านอาจารย์พุทธทาสได้ทำหน้าที่คิดอ่านวางหลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์โดยตรง? อย่างน้อยการท่องจำแบบตายตัว โดยไม่เปิดให้มีความคิดเห็นต่างออกไป อันเป็นเหตุให้ท่านอาจารย์ยุติการเรียนเปรียญธรรมเพียง ๓ ประโยค เมื่อความเห็นไม่ตรงกับกรรมการตรวจข้อสอบ และเชื่อมั่นในการค้นคว้าหาความรู้เองจากต้นแหล่งโดยตรงมากกว่า ท่านไม่เคยตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้เขียนหลักสูตรที่ใช้กันมานับสิบปี (หรือบัดนี้นับร้อยปีแล้ว) โดยที่เห็นว่าท่านผู้รจนาตำราเหล่านั้นทำได้ดีแล้ว เท่าที่เหตุปัจจัยในเวลานั้นอำนวย แต่ผู้สืบทอดงานมากลับยึดคัมภีร์อย่างตายตัว โดยไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของการประยุกต์ธรรมให้สมสมัย เหมาะแก่ผู้รับและผู้ใช้จริงในสังคมต่างหากที่ควรพิจารณาตัวเองให้มาก

 

งานด้านการเผยแผ่พุทธศาสนาของท่านพุทธทาสนั้น อาจกล่าวได้ว่าท่านประสบความสำเร็จในการจุดความสนใจให้คนรุ่นใหม่หันมาหาพุทธธรรม ในฐานะที่เป็นทางแก้ปัญหาชีวิต และควรนำไปประยุกต์ในสังคมทุกระดับทุกวงการ โดยย้ำว่า โลกต้องไม่แยกจากธรรม โลกียะต้องไปด้วยกันกับโลกุตตระ เพราะช่วยลดละอัตตาไปโดยลำดับ และแม้ความคิดของท่านจะเป็นที่น่าสนใจของชาวต่างประเทศมาก แต่ท่านก็ยังเห็นว่าควรให้ชาวต่างประเทศสอนกันเองจะได้ผลดีกว่าส่งพระไทยไปสอนในต่างประเทศ เพราะความจำกัดเรื่องภาษา วัฒนธรรมและกำลังคน หากพระไทยควรปักหลักมั่นสอนอยู่ที่เมืองไทย แก่ชาวไทยและต่างประเทศ ที่พร้อมและสนใจเสาะแสวงธรรม จึงเดินทางมาศึกษาปฏิบัติหรือบวชเรียนจริงจัง ด้วยเห็นความทุกข์หรือปัญหาอย่างชัดเจนแล้ว การสอนก็จะได้ผลดียิ่งกว่า (ดังบทความที่ท่านอธิบายไว้ใน "ทำไมไม่ไปกับพระโลกนาถ" ในชุมนุมข้อคิดอิสระ พ.ศ.๒๔๗๖) และแนวนโยบายการดำเนินงานของสวนโมกข์นานาชาติในระยะต่อมา

 

อนึ่ง ควรกล่าวด้วยว่า เมื่อท่านได้รับแต่งตั้งเป็น "เผยแผ่จังหวัดสุราษฏร์ธานี" และโดยคำสั่งของคณะตรวจการภาค ๘ ให้ท่านจัดทำ "เค้าโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสำหรับสมัยปัจจุบัน (โดยสังเขป)" เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ ท่านได้ใช้ประสบการณ์งานเผยแผ่ธรรมะที่ผ่านมากว่า ๑๐ ปี เรียบเรียงเสนออย่างเป็นระบบ ละเอียดลออ และน่าสนใจนำไปใช้อย่างยิ่ง คำปรารภเหตุความจำเป็นและจูงใจในการเผยแผ่อย่างถูกหลักเกณฑ์เข้าสู่เป้าหมายของการพัฒนาคน สร้างความกระตือรือร้นและแรงใจแก่ผู้ปฏิบัติ ท่านจำแนกประเภทการเผยแผ่ ทั้งโดยวิธีปฏิบัติ ปริยัติ และปฏิเวธ จำแนกผู้รับการสอนโดยเหตุการณ์ โดยวัย โดยหน้าที่การงานอย่างละเอียดถึง ๒๔ ประเภท ทางแห่งความสำเร็จบุคคลองค์กรและทุนรอนที่ต้องใช้เพื่อทำงานให้ได้ผล และแม้เหตุจะล่วงไปกว่ากึ่งศตวรรษแล้ว เราก็ยังทำได้ไม่ถึงเสี้ยวส่วนที่ท่านคิดไว้ นอกจากองค์การทั้ง ๔ คือการปกครอง การศึกษา การเผยแผ่ และการสาธารณูปการแล้ว ท่านยังเสนอให้ตั้งองค์การสมณธรรมเพิ่มขึ้นอีกเพื่อให้งานได้ผลยิ่งขึ้น (ปัจจุบัน นอกจากไม่พัฒนาแล้ว เรายังรวบอำนาจไว้ที่บุคคลเดียวทำหน้าที่ทุกอย่าง แถมยังอ่อนเปลี้ยเสียขาเป็นอัมพาตไปทุกองค์การอย่างน่า อิดหนาระอาใจในความหวงอำนาจ และขาดความรับผิดชอบหน้าที่ของตน ๆ อย่างดีพอ)

 

การที่คณะสงฆ์อ่อนแอ และการพระศาสนารวนเร เป็นเหตุให้ต้องมีการปฏิรูปและฟื้นฟูอย่างจริงจังเร่งด่วน ควรกล่าวด้วยว่า การที่นายนรินทร์ (กลึง) บวชลูกสาวเป็นสามเณรีและวิพากษ์วิจารณ์จ้วงจาบพระสงฆ์ เป็นแรงผลักดันส่วนหนึ่งที่ทำให้อาจารย์พุทธทาสจากวัดปทุมคงคามาก่อตั้งคณะธรรมทานขึ้น และแม้จะมีสวนโมกข์ขึ้นอย่างยากลำบากด้วยเป็นของใหม่ และทวนกระแส แต่ท่านก็ไม่แยกตัวออกจากคณะสงฆ์เพื่อตั้งนิกายใหม่ให้เกิดการแตกแยกหนักขึ้นไปอีก เพราะภารกิจของท่านคือการเพิ่มพูนกำลังแก่พระศาสนาดังนั้นท่านจึงเรียกร้องให้ปรับปรุงส่วนที่อ่อนแอ แก้ไขส่วนที่ด้อย ยกส่วนที่ต้อยต่ำให้สูงขึ้นแทนการแยกพวกออกไป (หรือกำจัดจุดอ่อน)

 

ปัญหาถกเถียงเรื่องสามเณรีและภิกษุณีจะมีได้หรือไม่ในเมืองไทย ดูจะเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันต่อไปอีกนาน เมื่อไม่มีทางยุติเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย การที่จะมีแม่ชีบิณฑบาต ตั้งสำนักสอนธรรมะ ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก หรือการที่ท่านอาจารย์พุทธทาสริเริ่ม "ธรรมมาตา" ขึ้นทดแทนภิกษุณี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ปฏิบัติธรรมและสั่งสอนผู้หญิงกันเองได้โดยสะดวก ก็เป็นทางเลือกที่น่าพิจารณา เว้นแต่คณะสงฆ์ไทยจะยังคงยึดมั่นอยู่แต่มติของตน ไม่ยอมรับ เอื้อเฟื้อ หรือแม้แต่หาทางออกที่ดีแก่ผู้ใฝ่ใจในการบวชจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาที่แก้ได้ยากขึ้นเรื่อยในอนาคต ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนว่า หากมีพระต่างนิกายมาเยี่ยมเยือน ให้เอื้อเฟื้อต้อนรับให้ดีที่สุด จะเป็นที่พอใจแก่ทุกฝ่าย และไม่ต้องสร้างวัดแข่งกัน ด้วยเหตุของความไม่สะดวก หรือการแบ่งแยกนิกาย ซึ่งเป็นความสูญเปล่า ความขัดแย้งและความยากลำบากโดยไม่จำเป็น

 

คณะสงฆ์ไทยยังมีเรื่องสมณศักดิ์ และความเป็นพระราชาคณะ อันเป็นที่ใฝ่ฝันต้องการของพระภิกษุไม่น้อย โดยที่ผู้พิจารณาถือเอาเกณฑ์จากผลงานการก่อสร้างหรือหาเงินเก่งทั้งเพื่อถวายในหลวงในฐานะเป็น "คณะพระราชา" หรือเพื่อช่วยชาติโดยเอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง แทนการสั่งสอนหรือปลูกฝังสัมมาทิฏฐิเป็นงานหลักแล้ว การคณะสงฆ์คงคลอนแคลนเบียดเบียนญาติโยมและมีการวิ่งเต้น เลวร้ายไม่แพ้ระบบราชการนั่นเอง ไม่จำต้องพูดถึงลาภสักการะที่จะพึงได้เป็นส่วนแบ่งอันไม่ชอบธรรม คล้ายการคอรัปชั่นเชิงนโยบายของฝ่ายโลกก็ได้ ควรที่จะลดการสาธารณูปการที่ไม่ได้การ และหันมาสร้างคนที่เป็นศาสนทายาท เพื่อรักษาพระศาสนาที่ตัวแก่นแท้

 

ตะเกียงที่ไร้ไส้และน้ำมัน แต่ไม่อาจส่องสว่างนั้น มีคุณค่าไว้อวดและเป็นภาระดูแลรักษาสิ้นเปลืองที่คุ้มค่าเวลาและทรัพยากรหรือไม่? ชาวพุทธไทยที่หลงสร้างศาสนสถานอันโอฬาร ด้วยความภูมิใจและอุ่นใจว่าได้จรรโลงรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ได้มั่นคงโดยไม่สนใจจะถามว่า ในวัดกำลังปฏิบัติอะไรกันอยู่? เป็นธรรมะและเพื่อธรรมะหรือไม่? จะต่างอะไรกับคนตาบอดหลงถือตะเกียงที่ไฟดับแล้ว โดยหวังว่าตนเองจะปลอดภัยในยามค่ำคืน เพราะเข้าใจว่าแสงไฟ (ที่จริงดับแล้ว) จะคุ้มครองตนเองไม่ให้ถูกชนล้มลงได้ ปัญหาสังคมที่เกิดกับเยาวชนและประชาชน ทั้งเรื่องอบายมุข กามารมณ์ ยาเสพติด อาชญากรรม และความไร้ศีลธรรมต่าง ๆ เป็นภารกิจของพระสงฆ์ใช่หรือไม่ ที่ต้องช่วยกู้วิกฤต สมเด็จและพระราชาคณะ ตลอดจนสมณศักดิ์ ได้ช่วยเอื้อให้เกิดการแก้ปัญหาหรือยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น?

 

มีคนถามท่านอาจารย์พุทธทาสว่า ทำไมไม่คืนสมณศักดิ์เสียเล่า ท่านตอบว่า "ทำไมจะต้องเอาไปคืน ในเรื่องเราไม่ได้รับมาแต่แรกแล้ว" เรื่องยศช้างขุนนางพระอย่างนี้นับวันจะหาได้ยากยิ่ง ดังนั้นการปลงศพท่านจึงเรียบง่าย ไม่ต้องการรบกวนใคร ๆ โดยเฉพาะเบื้องพระยุคลบาท ยิ่งพระผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างในทางฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมมากเท่าไร พระผู้อยากใหญ่ก็ต้องเอาอย่างทำให้มากกว่าหนักกว่าอีก ดังนั้นผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายจึงควรใคร่ครวญให้จงหนัก ในการสร้างแบบอย่างให้ผู้อื่นทำตาม

 

ท่านอาจารย์พุทธทาสไม่ประสงค์ และไม่ถนัดอย่างยิ่งในการปกครองคณะสงฆ์ ทั้งไม่ต้องการไต่เต้าเอาทางยศศักดิ์ ท่านจึงละจากเมืองหลวง กลับสู่บ้านเกิดหรือบ้านแม่เพื่อกอบกู้ฟื้นฟูพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองมาแต่ยุคศรีวิชัยได้สำเร็จ หากท่านต้องมัวประจบหรือเอาใจญาติโยมเพื่อความสำเร็จส่วนตน ไหนเลยจะทำประโยชน์ได้กว้างขวางปานนี้

 

สรุป

ผู้เขียนได้มีโอกาสรับใช้ในสำนักของท่านอาจารย์พุทธทาสช่วงหนึ่งในบั้นปลายชีวิตของท่าน แม้จะมิได้รับรู้หรือร่วมงานมาโดยตรงแต่ต้น แต่ปฏิปทา คำสอน คำดำริและความจำนงหวังของท่านก็เป็นสิ่งที่ประทับใจ ไม่เห็นมีสิ่งใดที่บั่นทอนศรัทธาหรือเป็นข้อกังขาให้ต้องคลางแคลงใจ

 

ท่านอาจารย์ถ่อมตนทุกครั้งที่พบพระดีที่น่าเคารพ เช่นองค์ทะไลลามะและสมเด็จพระสังฆราช รังเกียจพระที่ลุ่มหลงในวัตถุนิยม และอิดหนาระอาใจผู้มักใหญ่ใฝ่สูงเกินพอดี ท่านตำหนิผู้แวดล้อมบางคนเสมอที่ชอบเข้าหาผู้ยิ่งใหญ่ในวงการเมืองหรือคณะสงฆ์เพื่อหาทางวิ่งเต้นว่า "มันบ้า ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง ควรไม่ควร" แม้จะสร้างอารามที่เป็นธรรมชาติให้ผู้อื่นเอาอย่างตามเพื่อให้คนเข้าใจเรื่อง ธัมมิกสังคมนิยม ตามกฎธรรมชาติได้โดยง่าย ก็ดูจะมีผู้เห็นด้วยถึงกับลงมือทำตามไม่มากนัก หนังสืออ่านประกอบเพื่อเสริมการศึกษา นักธรรมตรี โท เอก และนักธรรมพิเศษ ก็ดูจะไม่ได้รับความสนใจใยดีจากผู้บริหารคณะสงฆ์ ในปัจจุบัน แนวคิดเรื่องกระทรวงศีลธรรม ที่ท่านเสนอให้ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบความถูกต้องในจริยธรรมของกระทรวงต่าง ๆ ก็ดูจะล้ำสมัยเกินไป (แต่บัดนี้เราก็มีองค์กรอิสระเพื่อตรวจสอบ ฝ่ายรัฐ เช่น ศาลปกครอง ผู้ตรวจการรัฐสภา กกต. ปปช. ฯลฯ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีผล อะไรมากนักหากผู้ทำหน้าที่ไม่บริสุทธิ์โปร่งใสน่าศรัทธาพอ) วัตถุนิยมที่ท่านคัดค้านก็กำลังท่วมโลกภาวะจิตทรามเพราะลุ่มหลงกามารมณ์ก็มีอยู่ทุกวงการ ทุกเพศทุกวัย มิใยต้องเอ่ย ถึงสิ่งเสพติด และไสยศาสตร์ที่ท่านชี้ให้เห็นพิษภัยตัวร้าย "เต่า" ตัวใหญ่ที่เป็นด้วยความโลภ โกรธ หลง ก็ยังคงอยู่และคืบคลานต่อไป เพื่อครอบครองพุทธจักรในอนาคตอันใกล้ ชาวพุทธไทย ก็ยังฝากอนาคตพระศาสนาไว้กับคนอื่นที่เป็นลูกหลานผู้ด้อยโอกาส ชนิดหวังพึ่งโดยที่ก็รู้อยู่ว่าพึ่งอะไรไม่ได้มากนัก หากท่านหยั่งรู้ด้วยญาณวิถีใดว่าสิ่งที่ท่านเพียรสร้างริเริ่มนำทางและกระทำต่อเนื่องมากกว่า ๖๐ ปี มีผลน้อยนักต่อศาสนาในสังคมไทยปัจจุบัน ท่านคงปลงธรรมสังเวช ดังที่ท่านเคยปรารภกับนายธรรมทาส พานิช ผู้น้องชายว่า อีกสิบปีหรือร้อยปีข้างหน้า อาจจะมีรูปปั้นของท่านพร้อมเซียมซีศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานให้ผู้คนกราบไหว้ขอลาภขอพร ซึ่งท่านไม่มีให้และไม่มีวันจะให้ก็ได้ แต่เชื่อว่าเมล็ดพันธุ์ที่ท่านหว่านไว้ในใจพุทธชน ก็จักมีโอกาสเบ่งบานกลางกระแสความวุ่นวายอลวลได้ไม่แพ้กัน

 

ทุกครั้งที่พระพุทธศาสนาเกิดวิกฤตศรัทธาก็เป็นโอกาสสำหรับการฟื้นฟูปฏิรูปครั้งใหญ่บัดนี้ "พุทธทาส" และ "ธรรมทาส" ที่เคยมีได้ล่วงลับไปแล้ว "อริยสังฆทาส" ที่ดำรงตนดังหนึ่งสังฆราชา ไม่สมกับฉายาที่ขนานให้ตนก็ล่วงลับไปแล้วด้วยเช่นกัน โดยวาทะว่าระเบียบคณะสงฆ์ใด ๆ จะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อท่านตายไปเสียก่อน บัดนี้ดูจะยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น อาจเพราะมีอามิสทายาทและผู้ไต่เต้าเอาดีเพื่อตนรอเสวยอำนาจวาสนาดังกล่าวมากเกินไป ทอดตาดูในใต้หล้า เห็นอยู่แต่พระธรรมราชาและธรรมราษฎร และธรรมเสนาบางส่วนกระมังที่ยังมีความจงรักภักดี เป็นข้าพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ช่วยกันกอบกู้สถานภาพสงฆ์ไทยในโลกสมัยใหม่ อย่างอุทิศตนและรู้เท่าทันกิเลสวาสนาและปัญหาสารพัน

 

"พระสร้าง พระเสก พระสวด และพระสอน" เรามีอยู่มากเกินพอดี บางทีอาจจะต้องช่วยกันบำรุงรักษา "พระสงฆ์" ที่แท้ ซึ่งต้องการการบ่มเพาะให้เติบโตในชุมชนแห่งธรรม เพื่อนำสังคมไทยไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่มเย็นและยั่งยืนสืบต่อไป ตามเจตนาท่านอาจารย์พุทธทาสที่ว่า

พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย
ถึงดีร้ายก็จะอยู่คู่ศาสนา
สมกับมอบกายใจรับใช้มา
ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลย.