รากเหง้าที่ถูกมองข้าม / พระไพศาล วิสาโล


โดย พระไพศาล วิสาโล
เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย http://budnet.info

มติชนรายวัน วันที่ ๐๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๙๕๒๑

ปัญหาความขัดแย้งกรณีแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชได้ยืดเยื้อมากว่า ๒ เดือนแล้ว และมีแนวโน้มว่าบานปลายไปเรื่อยๆ

โดยมีตัวบุคคลหลายคนที่ตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีอย่างเผ็ดร้อน นอกจากนายวิษณุ เครืองาม และนายทองก้อน วงศ์สมุทร แล้ว ยังมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช) ไปจนถึงหลวงตามหาบัว และพระธรรมโกศาจารย์ (หลวงพ่อปัญญา)

 

ผลก็คือจากความขัดแย้งในเรื่องหลักการและข้อกฎหมาย ได้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลไป

 

ความขัดแย้งในกรณีนี้เมื่อมองให้ลึกแล้ว มีรากเหง้าที่ลึกไปกว่าข้อกฎหมายที่เห็นต่างกันโดยเฉพาะที่พูดถึงมากคือ มาตรา ๑๐ ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ อีกทั้งมีความเป็นมาที่ไกลกว่าความขัดแย้งระหว่างบุคคล ที่เป็นเหตุให้หลวงตามหาบัวอยู่คนละฝ่ายกับสมเด็จพระพุฒาจารย์แต่น่าเสียดายที่รากเหง้าอันลึกซึ้งนี้ไม่ค่อยจะมีผู้ใดนึกถึงหรือกล่าวถึงเท่าใดนัก

 

จะเข้าใจรากเหง้าดังกล่าว ก็ต้องเริ่มจากคำถามที่ว่าเหตุใดรัฐบาลนายวิษณุ เครืองาม จึงต้องผลักดันให้มีประกาศแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช

 

คำตอบก็คือ เป็นที่รู้กันมาอย่างน้อยก็ในช่วง ๓-๔ ปีมานี้ว่า มีการอ้างพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชหลายครั้งที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย

 

ที่ชัดเจนก็คือ การมีพระลิขิตให้ปลดนายบัณฑูร ล่ำซำ ออกจากตำแหน่งผู้จัดการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย หลังจากที่พบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างยืดเยื้อมานานหลายปี (ภายหลังต้องแต่งตั้งนายบัณฑูรกลับไปเป็นกรรมการใหม่)

 

และล่าสุดก็คือการมีพระลิขิตแต่งตั้งพระราชาคณะชั้นราชผู้ใกล้ชิดรูปหนึ่ง ให้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งกลายเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงเนื่องจากผู้ที่จะเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมนั้นต้องเป็นพระราชาคณะชั้นสมเด็จ หรืออย่างน้อยต้องเป็นพระราชาคณะชั้นธรรม (แม้จะไม่มีระเบียบห้ามพระราชาคณะต่ำกว่านั้นมาดำรงตำแหน่งก็ตาม)

 

เดิมนั้นเคยเชื่อว่าพระลิขิตเหล่านี้เป็นพระลิขิตปลอม แต่ภายหลังมีหลักฐานให้เชื่อว่า เกิดจากการทำจดหมาย "ยัดไส้" เพื่อให้ลงพระนาม

 

วิธีการดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่มีคนใกล้ชิดของสมเด็จพระสังฆราชเกี่ยวข้องด้วย และที่เกิดขึ้นบ่อยมากในระยะหลังก็เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชทรงชราภาพมาก อีกทั้งยังทรงประชวรด้วยโรคหลายโรค ไม่สามารถที่จะทำหน้าที่ดังแต่ก่อนได้

 

จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม นายวิษณุ เครืองาม คงพบว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะให้สมเด็จพระสังฆราชทรงลงพระนามแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ ดังนั้น จึงเสนอเรื่องเข้ามหาเถรสมาคมเพื่อให้มหาเถรสมาคมเห็นชอบกับการแต่งตั้งดังกล่าวจนนำไปสู่การออกประกาศดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๗

 

ปัญหาไม่ได้อยู่แค่ว่าประกาศดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายคณะสงฆ์หรือไม่ คำถามที่น่าจะถามควบคู่ไปด้วยก็คือ ทั้งๆ ที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระชนมายุถึง ๙๐ พรรษาแล้ว เหตุใดจึงยังทรงต้องมีภารกิจหลายอย่าง ซึ่งเปิดช่องให้ผู้ใกล้ชิดแอบอ้างพระองค์ท่านเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

 

คำตอบก็คือ เป็นเพราะพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ได้มอบหมายอำนาจและหน้าที่ให้แก่พระองค์อย่างมากมาย

 

กล่าวคือนอกจากการทรงเป็นประมุขสงฆ์ในฐานะสกลมหาสังฆปริณายกแล้ว ยังทรงมีหน้าที่บัญชาการคณะสงฆ์ทั้งหมด ตลอดจนดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคมอีกด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งกฎหมายได้รวบอำนาจและหน้าที่ในทางคณะสงฆ์มารวมศูนย์ที่พระองค์แต่ผู้เดียว

 

จะเห็นได้ว่าตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมีอำนาจและหน้าที่สูงมาก ยิ่งกว่านั้นพระราชบัญญัติสงฆ์ยังไม่มีการกำหนดวาระ กล่าวคือสมเด็จพระสังฆราชจะพ้นจากตำแหน่งก็ต่อเมื่อสิ้นพระชนม์หรือพ้นจากความเป็นพระภิกษุ หรือมิฉะนั้นก็ลาออกหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ออก

 

กล่าวในทางปฏิบัติก็คือทรงดำรงตำแหน่งไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ซึ่งหมายความว่าแม้จะทรงชราภาพ เหนื่อยล้าในทางพระวรกายและพระสติปัญญาเพียงใด ก็ยังทรงมีภารกิจสำคัญที่ต้องทำอยู่

 

ผลก็คือมีช่องทางที่ความผิดพลาดจะเกิดขึ้นได้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเนื่องจากชราภาพนี้มิใช่เพิ่งเกิดเป็นครั้งแรก คงจำได้ว่าเมื่อปี ๒๕๓๒ ได้เกิดกรณี "สมีเจี๊ยบ" ขึ้น สมีเจี๊ยบนั้นเดิมเป็นพระที่ดูแลอุปัฏฐากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจอาสโภ) ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชที่สิ้นพระชนม์ไป

 

สมเด็จพระพุฒาจารย์ในครั้งนั้นตกอยู่ในสถานภาพเดียวกับสมเด็จพระสังฆราชเวลานี้ คือ ชราภาพมาก และถูกพระเจี๊ยบแอบอ้างเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวมากมาย รวมทั้งลักลอบนำตราประจำตำแหน่งไปใช้ในทางมิชอบ นอกจากนั้นยังได้ลักลอบเสพเมถุนกับสีกา โดยปรนเปรอด้วยเงินที่ได้มาอย่างมิชอบ

 

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์หาได้ระแคะระคายไม่ แต่เมื่อเรื่องเกิดแดงขึ้นจนพระเจี๊ยบถูกสึก ความเสื่อมเสียก็ได้บังเกิดขึ้นแล้วกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ในระบบสมณศักดิ์ปัจจุบัน ผู้ที่จะได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช หรือได้รับเลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นสมเด็จ มักจะเป็นผู้ที่มีอายุมากแล้วคือมากกว่า ๗๐ ปีขึ้นไป

 

การที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจการบริหารคณะสงฆ์มารวมศูนย์อยู่ที่สมเด็จพระสังฆราช (หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนซึ่งต้องเป็นพระราชาคณะชั้นสมเด็จที่มีอาวุโสสูงสุด) จึงไม่น่าจะเหมาะ เพราะมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดได้มากโดยเฉพาะจากผู้ใกล้ชิดดังได้ปรากฏมาแล้ว

 

ยิ่งตำแหน่งนี้มีอำนาจในการให้คุณให้โทษมากเท่าไร ก็ยิ่งดึงดูดใจให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบจากพระองค์ได้มากเท่านั้น

 

ทางออกน่าจะได้แก่ การแยกอำนาจบริหารออกจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชและจากสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จ โดยสมเด็จพระสังฆราชยังคงเป็นประมุขสงฆ์ แต่การบริหารการคณะสงฆ์ควรเป็นหน้าที่ของคระกรรมการสงฆ์อีกชุดหนึ่ง ซึ่งมีวาระการทำงานที่แน่นอน เช่น ๔ ปีหรือ ๖ ปีโดยไม่จำต้องเป็นพระราชาคณะชั้นสูง หากแต่มีคุณสมบัติที่เหมาะแก่การบริหารงานคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการอยู่ในวัยที่ยังทำงานได้ดีและเป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์ได้ หากรังเกียจการเลือกตั้ง คณะกรรมการชุดนี้จะมาจากการแต่งตั้งโดยสมเด็จพระสังฆราชก็ได้ โดยมีกรรมการมหาเถรสมาคมทำหน้าที่กลั่นกรองหรือให้คำปรึกษา

 

หากพระราชบัญญัติสงฆ์ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยยังคงรวมศูนย์อำนาจการบริหารไว้ที่สมเด็จพระสังฆราช (หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน) ปัญหาอย่างที่เกิดจากสมีเจี๊ยบหรือผู้ใกล้ชิดสมเด็จพระสังฆราช ก็จะยังเกิดขึ้นมาอีกกับสมเด็จพระสังฆราช (หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน) องค์ต่อไปไม่มีสิ้นสุด ผลตามมาจะมิใช่เพียงแค่ความเสียหายส่วบุคคลเท่านั้น หากยังจะนำไปสู่ความเสื่อมเสียแก่คณะสงฆ์ ดังที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน

 

ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นเนื่องจากประกาศแต่งตั้งของนายวิษณุ เครืองาม จึงมิได้เป็นเพียงแค่ความขัดแย้งส่วนบุคคลหรือการความกฎหมายต่างกันเท่านั้น ถึงที่สุดแล้วมันเป็นความขัดแย้งเนื่องจากโครงสร้างที่บกพร่องและไม่สอดคล้องกับยุคสมัย โครงสร้างเช่นนี้แหละที่เป็นระเบิดเวลาพร้อมจะก่อความเสียหายแก่คระสงฆ์ได้ทุกเมื่อ หากไม่ปลดชนวนที่โครงสร้างดังกล่าวแล้ว ความแตกแยกและความเสื่อมเสียก็จะเกิดขึ้นเรื่อยไป

 

ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่าพุทธบริษัทมีความตระหนักเพียงใดถึงโครงสร้างที่เป็นปัญหาดังกล่าว แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือจะมีความสามารถเพียงใดที่จะแก้ไขโครงสร้างดังกล่าว

 

ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น ได้ทำให้รัฐบาลขาดการยอมรับจากพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับหลวงตามหาบัว

 

ขณะเดียวกันสมเด็จพระพุฒาจารย์ ก็ประสบปัญหาความน่าเชื่อถือ เช่นเดียวกัน ทั้งในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช หรือแม้แต่ในฐานะสมเด็จพระสังหราชองค์ต่อไปด้วยซ้ำ

 

รอยร้าวที่แตกลึกจะมีผลในระยะยาวที่ทำให้การแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ โดยการริเริ่มของรัฐบาลและสมเด็จพระพุฒจารย์ (หากจะมี) เป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง

 

แต่ปัญหาจะไม่ได้มีแค่นั้น สิ่งที่กำลังปรากฏชัดและมีแนวโน้มจะขยายตัวมากขึ้นก็คือ การสูญเสียศรัทธาและความเชื่อถือในมหาเถรสมาคมภายใต้ผู้นำคนใหม่ ซึ่งจะทำให้มหาเถรสมาคมยากที่จะบริหารการคณะสงฆ์ไปได้

 

อย่าว่าแต่การผลักดันความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เลยเพียงแค่การรักษาระบบที่เป็นอยู่เอาไว้ ก็ยากที่จะเป็นไปได้เสียแล้ว เพราะมีพระสงฆ์นับหมื่นๆที่ไม่ให้การยอมรับผู้นำของมหาเถรสมาคมชุดปัจจุบัน

ปัญหานี้จะแก้อย่างไร ผู้เขียนไม่มีคำตอบ แต่อยากจะฝากให้กันพิจารณา