พระเยซูกับพระพุทธเจ้า


Noli me tangere, ca. 1450
Fresco, 166x125 cm
Museo di San Marco, cell 1, Florence

พระสันติสุข สฺนติสุโข –แปล

บทสนทนาต่อไปนี้ เป็นการสนทนาระหว่าง ติช นัท ฮันห์ พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานิกายเซน กับบาทหลวง แดน เบอริแกน นักบวชในพระคริสตศาสนานิกายเยซูอิต ทั้งสองต่างเป็นผู้ที่ได้ต่อสู้และเรียกร้องเพื่อสันติภาพ ความสงบของมวลมนุษย์ โดยยึดหลักทางศาสนธรรมเป็นเกณฑ์ การสนทนาได้กระทำขึ้น ณ สำนักงาน Vietnamese Peace Buddhist Delegation บทสนทนาดังกล่าวเป็นบทหนึ่งในบรรดาหลาย ๆ บทที่รวบรวมตีพิมพ์ในหนังสือ The Raft is not the shore

นัท ฮันห์ : ผมคิดว่า การได้มองลึกลงในดวงตาของศาสดาที่แท้พระองค์หนึ่ง มีค่าเสียยิ่งกว่าการศึกษาคัมภีร์ และคำสั่งสอนของพระองค์ตั้งร้อยปี ในตัวของพระองค์ ท่านได้รับแบบอย่างแห่งการตรัสรู้ และแบบอย่างของชีวิตโดยตรง ในขณะที่จากสิ่งอื่น ท่านจะได้รับก็เพียงแต่เงา ซึ่งอาจจะช่วยอะไรท่านได้บ้างเหมือนกัน แต่ไม่ใช่โดยตรงดังที่พระพุทธตรัสว่า "คำสอนของตถาคต เป็นเพียงพ่วงแพ อันช่วยนำเธอข้ามไปสู่อีกฝั่งหนึ่ง หาใช่ความจริงสูงสุดไม่ เธอไม่ควรหลงบูชาอยู่"

เบอร์ริแกน : เออ, ท่านจะมองลงลึกในดวงตาของพระเยซู หรือพระพุทธเจ้าด้วยวิธีการอย่างไร?

นัท ฮันห์ : วิธีการอย่างไร? ไม่มีคำว่าวิธีการหรอก มันคงเหมือนกับถามว่าผมมองดูท่านด้วยวิธีการอย่างไร? ผมมองดูกิ่งไม้ด้วยวิธีการอย่างไร ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ "วิธีการมอง" แต่อยู่ที่ตัวบุคคลผู้ทำการมอง เพราะถ้าหากท่านเอาของสิ่งหนึ่งมาวางไว้ต่อหน้าผู้คน และก็มีคนมากมายพากันมาดูของสิ่งเดียวกันนี้ คนเหล่านั้นกลับเห็นไปคนละอย่าง มันมิได้ขึ้นอยู่แต่เพียงวัตถุที่ท่านนำมาแสดง แต่ขึ้นอยู่กับธรรมชาติและแก่นสารของบุคลผู้มองด้วย ดังนั้นเมื่อท่านได้สัมผัสความจริงโดยตรง ท่านย่อมมีโอกาสมากในการเจาะทะลุถึงตัวความจริง มากกว่าเมื่อท่านมีเพียงภาพปรากฏของความจริงเท่านั้น นั่นเป็นผังเมืองหาใช่ตัวเมืองจริง ๆ ไม่ นั่นเป็นร่มไม้ หาใช่ต้นไม้ไม่ นั่นเป็นคำสอนหาใช่องค์ศาสดาหรือตัวชีวิตไม่ ผู้ที่มีโอกาสมองเห็นลึกลงไปในดวงตาของพระพุทธเจ้าและพระเยซู แต่ไม่สามารถแลเห็นพระพุทธเจ้าหรือพระเยซูนั้น ผมคิดว่าเป็นความสิ้นหวังเลยทีเดียว

 

เรามีเรื่องราวในวรรณกรรมทางพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ที่กล่าวถึงผู้คนที่พากันหลั่งไหลมาจากแดนไกล ด้วยความหวังว่า พวกเขาจักได้เห็นพระพุทธเจ้า แต่พวกเขากลับไม่สามารถเห็นพระองค์ ทั้งนี้เนื่องมาจากวิธีการที่พวกเขารับและสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาได้ประสบในระหว่างทางนั่นเองเป็นเหตุ คนพวกนี้เมื่อพบหญิงผู้ต้องการความช่วยเหลือ แต่เขากลับลนลานที่จะไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้ผมจึงกล่าวว่า การที่ท่านจะสามารถเห็นพระพุทธเจ้าหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับตัวท่านเองมากทีเดียว

เบอร์ริแกน : น่าตระหนกใจว่า จะมีทัศนะทำนองนี้มากมายสักเพียงใด ในระหว่างวิถีการดำรงชีวิตวัฒนธรรมและประเพณีที่แตกต่างกันออกไป ทำให้หวนระลึกถึงเหตุการณ์อันระทึกใจในวันพิพากษา ซึ่งกล่าวไว้ในตอนท้ายแห่งพระคัมภีร์ของมัดธายเมื่อองค์พระเยซูตรัสว่า "ขอลาขาด" ต่อคนพวกหนึ่ง เพราะคนพวกนี้ไม่นำข้าวน้ำมาถวายพระองค์ ไม่นำเสื้อผ้ามาถวายพระองค์ และไม่มาเยี่ยมเยียนพระองค์ในคุก คนเหล่านั้นจึงพากันท้วงว่า "ข้าพเจ้าได้กระทำผิดต่อพระองค์เช่นนี้ตั้งแต่เมื่อไร" และพระองค์จึงตรัสว่า "เจ้าได้กระทำผิดต่อพี่น้องผู้ยากจนของเรา ช่างเลวทรามเหลือเกิน ขอลาขาดกันที"

 

นั่นยังเป็นคำถามอันลึกซึ้งสำหรับผมอยู่ดีว่า ท่านประสบกับดวงตาของพระเยซูและของพระพุทธเจ้าได้อย่างไร? บางทีอาจเป็นคำถามของคนไม่ประสีประสา ผมยังคิดว่า หากผู้ใดสามารถหายใจเอาความวิเวกของพระเยซูไว้ในชีวิตได้แล้ว อะไรบางอย่างจะอุบัติขึ้น พระองค์ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ของพระองค์อยู่กับความวิเวก หากเพียงแต่ผู้ใดสามารถเดินทางไปสู่ทะเลทรายพร้อมกับพระองค์ หรืออยู่ในคุกร่วมกับพระองค์ ในระหว่างสัปดาห์อันศักดิ์สิทธิ์ หรือเข้าถึงความเงียบของพระองค์คราวที่อยู่ต่อหน้าของพิเลตและเฮโรด พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะตอบคำถามของคนทั้งสอง ซึ่งที่แท้ก็เป็นการตอบในลักษณะหนึ่งนั่นเอง สำหรับผมแล้วดูเหมือนว่าเหตุการณ์นั้นเป็นการประจันหน้ากันอย่างลึกซึ้ง เป็นชั่วขณะซึ่งเลยพ้นไปจากความจำเป็นที่ต้องเจรจาโต้ตอบกันยืดยาว ผมมักระลึกถึงความหมายของพระดังเช่นตัวท่าน หรือท่านเมอร์ตัน หรือพระหนุ่ม ๆ ซึ่งเราได้ยินกิตติศัพท์เกี่ยวกับมรณกรรมของท่านเหล่านั้นอยู่เป็นประจำ ท่านเหล่านี้แหละเป็นบุคคลผู้ได้ประสบกับดวงตาของพระเยซูหรือของพระพุทธเจ้า โดยอาศัยผ่านความรู้ซึ้งถึงความเงียบสงบในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

นัท ฮันห์ : เมื่อผมกล่าวถึงการมองลึกลงในดวงตาของพระพุทธเจ้านั้น ผมนึกถึงพระพุทธเจ้าในฐานะมนุษย์ผู้หนึ่ง ซึ่งแวดล้อมด้วยบรรยากาศพิเศษ ผมตั้งข้อสังเกตว่า มหาบุรุษทั้งหลายย่อมนำเอาบรรยากาศอันศักดิ์สิทธิ์มาพร้อมกับพระองค์ด้วย และเมื่อเราแสวงหาพระองค์ เราย่อมรู้สึกถึงสันติสุข ความรักและความกล้าหาญ

 

อาจเป็นไปได้ว่า เพียงแต่การปรากฏกายของพระองค์ก็สามารถอธิบายสิ่งนี้ได้ มีภาษิตจีนกล่าวว่า เมื่อคนดีมาจุติ น้ำในแม่น้ำและเหล่าพืชพรรณต้นไม้บนภูเขาในละแวกนั้น ย่อมกลับกลายใสสะอาดขึ้น และเขียวขจีขึ้น นี่เป็นวิธีการที่ชาวจีนพูดถึงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำเนิดขึ้นในเวลาเดียวกับประสูติกาลของผู้มีบุญ

 

ในพระพุทธศาสนา เราพูดถึง "กรรม" ในฐานะเป็นผล หรือเป็นเหตุ เหตุแห่งกรรมคือตัวผู้กระทำ และผลแห่งกรรมคือสิ่งที่ท่านได้รับอันเป็นผลรวมที่เกิดจาก การกระทำ ความคิด และความเป็นอยู่ทั้งหมดของท่าน ดังนั้นกรรมผลาก็คือผลแห่งกรรมนั่นเอง กรรมผลาประกอบขึ้นด้วยสองส่วน : ส่วนแรกถึงตัวท่านเอง และส่วนที่สองคือสิ่งที่แวดล้อมตัวท่านอยู่ เมื่อท่านมาอยู่ร่วมกับเราสักหนึ่งชั่วโมง ท่านก็นำสิ่งแวดล้อมที่ว่านี้มาด้วย เป็นรัศมีอย่างหนึ่งซึ่งแผ่ออกมาจากตัวท่านเอง เหมือนกับเวลาที่ท่านนำเทียนไขเข้ามาในห้องนี้ แท่งเทียนอยู่ ณ ที่นั้น พร้อมกับแสงสว่างจากเทียนซึ่งท่านนำเข้ามาด้วย

 

เมื่อเมธีผู้หนึ่งอยู่ ณ ที่นั้น และเราได้นั่งใกล้ท่าน เราจะรู้สึกโปร่งเบา รู้สึกถึงความสงบ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงกล่าวว่า หากท่านได้นั่งใกล้พระเยซู และมองดูดวงตาของท่าน แต่ยังไม่อาจแลเห็นพระองค์จึงนับว่าเป็นความสิ้นหวัง เพราะในกรณีเช่นนี้ ท่านมีโอกาสมากที่จะเห็นพระองค์ ยิ่งกว่าเมื่อท่านอ่านจากคำสอนของพระองค์เสียอีก แน่นอน หากพระองค์มิได้อยู่ ณ ที่นั้น คำสอนของพระองค์ก็เป็นสิ่งดีที่สุดรองลงมา

 

เมื่อผมได้อ่านหรือถือพระคัมภีร์ ไม่ว่าจะเป็นของพุทธหรือคริสต์ก็ตาม ผมพยายามระลึกอยู่เสมอถึงความจริงที่ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าหรือพระเยซูตรัสอะไรออกมา พระองค์ย่อมตรัสสิ่งนั้นกับคนบางคนหรือกับคนบางเหล่า ผมควรเข้าใจถึงสถานการณ์ในขณะที่พระองค์กำลังตรัสอยู่นั้นด้วย เพื่อที่จะเข้าถึงพระองค์ยิ่งไปกว่าเพียงแต่รับเอาคำสอนของพระองค์มาเป็นคำพูดเฉย ๆ ถ้าหากผมมีเรื่องหนึ่งที่เล่าให้ผู้ใหญ่ฟัง ผมย่อมสามารถเล่าเรื่องนั้นให้เด็กฟังได้ด้วยเช่นกัน แต่ผมจะต้องเล่าเรื่องนั้นให้เด็กฟังในลักษณะที่ต่างออกไป ทั้งนี้มิใช่เพราะผมต้องการทำเช่นนั้น แต่เพราะผมกำลังอยู่ต่อหน้าเด็ก ๆ ต่างหาก ดังนั้นเรื่องของผมจึงเป็นไปในลักษณะหนึ่งโดยปริยาย ผมเชื่อว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสหรือสั่งที่พระเยซูตรัสนั้น ยังไม่สำคัญเทียบเท่ากับ "วิธีการ" ที่พระพุทธเจ้าหรือพระเยซูตรัสสิ่งนั้นออกมา หากท่านสามารถจับเคล็ดอันนี้ได้ ท่านก็จะเข้าไปใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าหรือพระเยซูได้ แต่หากท่านพยายามจะวิเคราะห์ความหมายอันลึกซึ้งของคำต่าง ๆ โดยไม่รู้ถึงลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ผมคิดว่าท่านจะพลาดอย่างง่ายดายมาก ไม่เพียงแต่พลาดประเด็นเท่านั้น แต่พลาดเรื่องของมนุษย์ไปเลยทีเดียว ผมคิดว่านักเทววิทยามีแนวโน้มที่จะลืมการเข้าถึงด้วยวิธีการนี้ด้วยซ้ำ

เบอร์ริแกน : เรื่องนี้สะดุดใจผม เมื่อคราวฝึกอบรมพระคาธอลิก ผมเคยพบกับนักเทววิทยาพวกนี้ ผมไม่รู้ว่าจะพูดอะไรกับพวกเขาดี เพราะผมไม่มีความเข้าใจในตัวเขาเหล่านั้นเลย มีผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งซึ่งเคบพบกันในลิฟท์ ผมทราบว่าเขากำลังแสดงปาฐกถาไปทั่วประเทศ ในหัวข้อเรื่อง "ทัสนะเกี่ยวกับความรักในพระคัมภีร์ใหม่" ตอนนั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่จะพูดเรื่องทัศนะเกี่ยวกับความรัก ผมคิดว่าเขาควรพูดเรื่องความรักในพระคัมภีร์ใหม่ แทนที่จะพูดเรื่องทัศนะเกี่ยวกับพระเจ้า ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องโน้น ผมคิดว่าเหตุผลข้อหนึ่งอันเป็นอุปสรรคอันลึกซึ้งในหมู่นักศึกษาที่เข้ามาฝึกอบรมก็คือ ไม่มีบรรยากาศใด ๆ รอบตัวของพวกเขาที่กล่อมให้เขากลายมาเป็นคริสเตียนได้เลย แต่บรรยากาศกลับส่งเสริมให้ผู้เข้าฝึกอบรมกลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางคริสตศาสนามากกว่า และการเป็นคริสเตียนกับการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางคริสตศาสนานั้นแตกต่างกันมาก เป็นธรรมดาอยู่เองที่การอบรมเช่นนี้ย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย มันไม่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของผู้เข้าฝึกอบรม ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงถอนตัวออกไป นักศึกษาปฏิเสธที่จะรับการบวช หลายคนยังอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ แต่ไม่มีความสุข และไม่ได้รับความพึงพอใจ

 

แต่สำหรับผมแล้ว ดูเหมือนว่าหากอาจารย์สอนคริสตศาสนาคนใดสามารถดำรงชีวิตของเขาอยู่ได้อย่างราบรื่น ปราศจากความรู้สึกรบกวนใด ๆ ในระหว่างช่วงสิปปีหลังสงครามเวียดนามแล้วละก็ อาจารย์ผู้นี้ย่อมนำแต่ความหลงผิดมาสู่ผู้เข้าฝึกอบรม อย่างน้อยที่สุดเขาคงจะเสนอตัวอย่างที่ใช้ไม่ได้ของคนจำพวกที่กล่าวแต่เพียงเรื่อง "ทัศนะเกี่ยวกับพระคัมภีร์ใหม่" แทนที่จะเข้าถึงบรรยากาศจริงในตอนนั้น ๆ ของพระเยซู นับเป็นเรื่องเพ้อเจ้ออย่างร้ายกาจ ทั้งผมมิได้คิดว่านั่นเป็นความล้มเหลวทางความคิดด้วย เพราะความคิดเป็นเรื่องเพ้อเจ้อเช่นกัน สิ่งที่ผมกำลังเอาใจใส่อย่างจริงจังก็คือ สภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับพระเยซูซึ่งถูกบดบังไป ในขณะที่ข้อบิดเบือนทั้งหลายแหล่เกี่ยวกับพระองค์ปรากฏขึ้นมาแทนที่ และข้อบิดเบือนข้อแรก ก็คือการที่พวกนักเทววิทยาพากันสอนเรื่อง "ทัศนะเกี่ยวกับพระเยซู"

 

และก็มีข้อบิดเบือนในทำนองนี้อย่างอื่น ๆ อีก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย รวมทั้งความผิดแปลกธรรมดาของพระเยซูด้วย สำหรับผมแล้วสิ่งนี้ดูเหมือนว่าเป็นสัญลักษณ์ของความแตกแยกระหว่างคนแต่ละรุ่น ขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมแท้นั้นได้สูญสิ้นไปแล้ว คนรุ่นใหม่ซึ่งมีความเห็นไปคนละทาง ก็ยังคงรับเอาเปลือกกระพี้บางอย่างของพระเยซูไว้ได้ แต่ก็ไร้ความหมายเต็มที ทั้งนี้เพราะภาคแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีตะวันตกทั้งหมด คือองค์พระเยซู พระองค์มิสูญหายไปโดยสิ้นเชิงได้ แต่สิ่งที่คนรุ่นใหม่รับเอามาอย่างฉาบฉวยนั้น เป็นเพียงบางส่วน และบิดเบือนไปจากเดิมจนกระทั่งว่า เมื่อเขามองไปที่พระเยซู เขาก็ลืมนึกถึงโลก แต่นั่นท่านรู้ไหม? คนเหล่านั้นไม่แตกต่างไปจากอาจารย์ที่ให้การอบรมแก่พวกเขาเท่าใดนัก อย่างน้อยที่สุดพอจะกล่าวได้ว่า อาจารย์พวกนี้สนใจแต่ทัศนะเกี่ยวกับพระเยซู และก็ลืมนึกถึงโลก (เสียงหัวเราะ) คนรุ่นใหม่อาจจะไปไกลกว่าเรื่องความคิดบ้าง แต่คนทั้งสองรุ่นต่างก็กำลังกระทำการรุนแรงต่อพระเยซู

นัท ฮันห์ : พูดถึงความรุนแรงแล้ว พระพุทธเจ้าประสูติในสังคมซึ่งความรุนแรงปรากฏน้อยกว่าในสังคมที่พระเยซูประสูติ แต่หากท่านได้อ่านพระคัมภีร์ฝ่ายพุทธแล้ว ท่านจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงเฉียบขาดมากทีเดียว ปฏิกิริยาที่พระองค์มีต่อประเพณีฝ่ายพระเวท เป็นแบบถอนรากถอนโคน พระองค์ทรงปฏิเสธเนื้อหาทั้งหมดของพระเวททัศนะแห่งอาตมัน หรือตัวตน เป็นศูนย์กลาง เป็นแก่นของฝ่ายพระเวทและอุปนิษัท แต่คำสอนของพระพุทธเจ้า วางอยู่บนพื้นฐานของทัศนะแห่งอนัตตา อนัตตาเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับตอบโต้ ไม่ใช่เพราะอนัตตาเป็นเรื่องสำคัญ จนกระทั่งพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นเป็นหลักคำสอนของพระองค์ แต่คำสอนเรื่องนี้เริ่มบัญญัติขึ้น ในฐานะที่เป็นปฏิกิริยาต่อสู้กับความหยุดนิ่งของชีวิตภายในสังคมสมัยของพระองค์ และถึงขนาดนั้น พระองค์ก็ยังไม่ถูกตรึงกางเขน ชาวอินเดียไม่กระทำเช่นนั้น แต่ผมเชื่อแน่ว่า หากพระพุทธเจ้าประสูติในสังคมที่พระเยซูประสูติแล้วละก็ พระองค์จะต้องถูกตรึงกางเขนด้วยเช่นกัน

 

อีกเช่นกัน ท่านอาจคิดว่า พระพุทธเจ้าทรงกระทำตรงกว่าพระคริสต์ในแง่ของการต่อสู้ แต่นั่นไม่เป็นความจริงเลย นี่เป็นเพียงเพราะว่า ในสภาพแวดล้อมของพระองค์วิถีทางอย่างอื่นเป็นไปได้กว่า กลับมาดูที่พระเยซู เราจะเห็นความกล้าหาญอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ที่เผชิญหน้ากับสังคมเช่นนั้น ทั้งพยายามที่จะทำลายลักษณะของชีวิต ลักษณะของความเป็นอยู่ ซึ่งหาใช่ชีวิตไม่ ถ้าหากขาดความเข้าใจในเรื่องสภาพแวดล้อมแล้ว ท่านก็มองไม่เห็นความเป็นจริงอย่างถ่องแท้

 

พระพุทธเจ้าทรงเริ่มด้วยความคิดเรื่องความไม่มีตัวตน ซึ่งแท้ที่จริงก็เป็นปฏิกิริยาต่อต้านกับความเชื่อในสมัยของพระองค์นั่นเอง แต่พุทธศาสนิกเป็นอันมากเข้าใจว่า ความไม่มีตัวตน อนัตตานี้เป็นรากเหง้าของสัจธรรมทั้งมวล ในกรณีเช่นนี้ พวกเขากำลังเข้าใจว่ามรรควิธีเป็นเป้าหมาย เห็นพ่วงแพว่าเป็นฝั่ง เห็นนิ้วชี้ขึ้นฟ้าเป็นดวงจันทร์ จะต้องมีอะไรบางอย่างที่มีความหมายมากกว่าอนัตตา ซึ่งไม่ติดอยู่กับความเชื่อทั้งอนัตตาและอัตตา หลักอัตตาที่ประชาชนในสมัยพุทธกาลเคยเชื่อถือนั้น เป็นต้นเหตุอันแท้จริงที่ก่อให้เกิดความอยุติธรรม ความโง่เขลา และความหยุดนิ่งภายในสังคม สังคมที่เต็มไปด้วยความชั่วร้าย เต็มไปด้วยระบบแบ่งชั้นวรรณะ ชีวิตที่อยู่ภายใต้อำนาจของพวกพราหมณ์ การปฏิบัติต่อวรรณะจัณฑาล การผูกขาดการสอนทางด้านจิตวิญญาณ โดยบุคคลผู้เสพสำราญอยู่กับสภาพทางวัตถุอันเลิศลอย และเป็นบุคคลซึ่งไม่มีคุณลักษณะลึกซึ้งทางจิตวิญญาณเลย คนพวกนี้ห่างไกลที่สุดจากสัจธรรม แต่เขาก็ยังแอบอ้างตนเองว่าเป็นตัวแทนแห่งสมบูรณภาพ

 

ด้วยเหตุนี้ ศาสนาพุทธจึงเป็นมรรควิธีแห่งการต่อสู้แบบหนึ่ง พุทธศาสนาหาได้พยายามที่จะแสดงสัจธรรมออกมาในรูปแบบของคัมภีร์ไม่ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเมื่อพุทธศาสนิกหลงติดยึดพระคัมภีร์ แม้จะเป็นพระคัมภีร์ทางพุทธศาสนาก็ตาม จึงถือว่าเป็นการขบถต่อพระพุทธเจ้า คนรพวกนี้ไม่สามารถมองเห็นพระพุทธเจ้าได้เลย ในวัชรสูตรมีพุทธดำรัสตอนหนึ่งว่า "หากเธอพยายามมองดูตถาคตโดยอาศัยรูปและเสียงแล้ว เธอจะไม่เห็นตถาคตเลย" ผมคิดว่า "เสียง" ในที่นี้หมายถึงพระคัมภีร์ ตลอดจนการติดยึดพระคัมภีร์และการติดยึดในทัศนะด้วยเช่นกัน

 

ผมจำได้ว่า มีนักเรียนผู้หนึ่งถามผมเกี่ยวกับท่าปัทมาสนะ (ท่าดอกบัว) ว่าเป็นท่านั่งสมาธิที่สมบูรณ์แบบหรือไม่ ผมตอบว่า เรื่องท่านั่งสมาธิที่สมบูรณ์แบบนั้นไม่น่าตั้งเป็นปัญหาขึ้นมา ไม่มีความจำเป็นในการคิดค้นท่านั่งสมาธิที่สมบูรณ์แบบขึ้น แต่ผมก็หวังว่า หากเขาต้องการ เขาก็สามารถคิดค้นท่านั่งสมาธิขึ้นมา โดยไม่ต้องเลียนแบบท่าของชาวจีนและชาวญี่ปุ่น

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ดูกร เธอคิดว่ามีเอกลักษณะ มีเอกลักษณะอันเที่ยงแท้อยู่ในสรรพสิ่ง แต่ตถาคตกล่าวว่าสรรพสิ่งย่อมว่างเปล่า เอกลักษณะเช่นนี้หาได้ปรากฏอยู่ไม่ หากเธอมองหาเอกลักษณะอันเที่ยงแท้ของเก้าอี้ ตถาคตกล่าวว่ามันเป็นของว่างเปล่า" แล้วหลังจากนั้นศาสนิกก็เริ่มบูชาความคิดเรื่องอนัตตา พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "หากเธอเชื่อในความไม่มีตัวตนของเก้าอี้ ย่อมเหลวไหลมากกว่าที่เธอเชื่อในความมีตัวตนของเก้าอี้เสียอีก" ท่านเห็นไหม ? ว่าคำพูดและความคิดเห็นนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ "อะไรบางอย่างภายในนั้น" ต่างหากที่สำคัญ กล่าวคือ มรรควสิธีที่จะเข้าไปสัมพันธ์กับสรรพสิ่ง กับมวลมนุษย์ต่างหากที่สำคัญ

เบอร์ริแกน : "อะไรบางอย่างภายในนั้น" ดูเหมือนเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแก่ชาวพุทธอย่างมาก

นัท ฮันห์ : โลกทุกวันนี้ ไม่ใช่โลกของวันวาน ซึ่งแต่ละประเทศแต่ละกลุ่มชนเคยดำรงอยู่เป็นอิสระแยกออกจากกันได้อีกต่อไปแล้ว การกระทำของเราในปัจจุบันนี้ได้เข้ามาพัวพันกันอย่างแยกไม่ออก กล่าวคือได้กลายมาเป็นกรรมร่วม การกระทำของคนกลุ่มหนึ่งย่อมมีผลกระทบต่อกลุ่มอื่น เราจะต้องเลือกที่จะทุกข์ด้วยกัน หรือสุขด้วยกัน มีชีวิตอยู่ด้วยกัน หรือไม่ก็ถูกทำลายไปพร้อมกัน

เบอร์ริแกน : การบรรจบโลกของวงกลม นี่เป็นเรื่องของกรรมสนองกรรมเช่นกัน การดำรงชีวิตในวิถีทางที่เป็นอยู่นี้ กล่าวคือภายในโลกอันเปรียบเสมือนคุกอันกว้างใหญ่และการพึงพอใจกับรูปแบบชีวิตเช่นนี้ นับเป็นการลงโทษที่รุนแรงต่อผู้ที่ละเลยความเป็นจริง

 

เป็นการยากที่จะรู้ว่า จะสามารถทำลายวงแหวนเหล็กวงนี้ตรงจุดไหน และจุดอ่อนของมันอยู่ที่ใด ความรู้สึกของผมก็คือว่า วงแหวนวงนี้จะรัดตัวแน่นเข้า จนกระทั่งมันจะหักทำลายออก ณ จุดทุดจุดของวงแหวน เนื่องจากทุก ๆ จุดนี้นมีความเค้นอันเกิดจากการบีบรัดเท่า ๆ กัน เหมือนกับวงแหวนที่บีบรัดรอบคอหอยของท่าน แต่แน่ละในช่วงเวลานี้เรื่องที่น่าเศร้าก็คือ ชาวอเมริกันเองกำลังถูกบีบคออย่างช้า ๆ แต่ประชาชนในที่แห่งอื่นกำลังถูกรัดคออย่างรวดเร็ว

นัท ฮันห์ : อีกประการหนึ่ง เรายังสนใจงานอีกด้านหนึ่ง กล่าวโดยสังเขปก็คืองานนี้ได้แก่ ความเพียรพยายามของเราที่จะช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์จากสงคราม มีเด็ก หญิงหม้าย คนพิการ นักโทษ บางคนเห็นว่างานสงเคราะห์เหล่านี้เป็นความพยายามที่ไม่มีความสำคัญ งานของเราได้รับการตราจากคนพวกหนึ่งว่า เป็นงานที่ไม่ฉลาดนัก และไม่อยู่บนทิศทางของการปลดแอกหรือการปฏิวัติ อุปสรรคในการทำงานของเรา ส่วนมากมีสาเหตุมาจากทัศนคติเช่นว่านี้ บรรดากลุ่มศาสนาและบรรดากลุ่มนักการเมือง มักเพียงแต่มีจุดมุ่งหมายที่จะรักษาเอกลักษณ์แห่งกลุ่มของตนไว้เท่านั้น โดยต้องเผชิญกับการโจมตีจากกลุ่มตรงกันข้ามที่มีความเชื่อต่างกัน ต่างฝ่ายต่างก็มีความกลัวเช่นว่านี้ ทำไมเราจึงไม่มาร่วมกัน และเผชิญกับการคุกคามที่แท้จริงเสียที?

 

อันที่จริงแล้ว เอกลักษณ์จะสามารถคงความเป็นเอกลักษณ์อยู่ได้ก็ต่อเมื่อ มีสิ่งต่าง ๆ อย่างอื่นที่มาอธิบายเอกลักษณะนั้นในฐานะที่ไม่ใช่เอกลักษณะ ย้อนกลับไปที่ตัวอย่างเกี่ยวกับเอกลักษณะของเก้าอี้ เก้าอี้จะสามารถดำรงความเป็นเก้าอี้อยู่ได้ก็โดยอาศัยส่วนประกอบที่ไม่ใช่เก้าอี้ หากเรามองดูเก้าอี้อย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว เราจะสามารถแลเห็นต้นไม้ซึ่งเป็นที่มาของไม้สำหรับทำเก้าอี้ แลเห็นเผ่าพันธุ์ของมนุษยชาติซึ่งช่างไม้ถือกำเนิดขึ้นมา และส่วนอื่น ๆ ของเก้าอี้ก็เป็นในทำนองเดียวกันนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างอัตตาและอนัตตา ก็คือว่าอัตตามีอยู่ได้ก็ต่อเมื่ออนัตตามีอยู่ ในพระสูตรทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงอธิบายสิ่งนี้ในลักษณะที่ง่ายมาก พระองค์ตรัสว่า "เพราะสิ่งนี้ สิ่งนีจึงมี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ" ดังนั้น สิ่งทั้งปวงจึงอิงอาศัยซึ่งกันและกันเพื่อการดำรงอยู่ เอกลักษณะของผมกับเอกลักษณะของท่านมาประสานกันก็เพื่อความเป็นไปได้แห่งการดำรงอยู่ ทำไมเราจึงไม่มาร่วมกัน เพื่อแสวงหาหนทางที่จะดำรงรักษาไว้ไม่เพียงแต่เอกลักษณะของผมเท่านั้น หากเอกลักษณะของท่านและคนอื่น ๆ ด้วย?

 

การต่อต้านการแบ่งแยกพรมแดน การต่อต้านการกำหนดเขตชายแดนตลอดจนการจำกัดขอบเขตโดยทุจริต เป็นภาระกิจที่สำคัญเช่นกัน คนภายในสังคมไม่ควรเพียงแต่งตั้งความปรารถนา ว่าจะเอาชนะปัญหาเหล่านี้เท่านั้น หากต้องเอาชนะปัญหาด้วยลักษณะการดำรงชีวิตภายในชุมชนนั้น ๆ แต่โชคร้ายว่าที่แล้วมาเราไปผูกยึดตัวเองเข้ากับบางสิ่งบางอย่าง เช่น ชาติ ลัทธิ ศาสนา ทั้งเรามีแนวโน้มที่จะคิดว่าสิ่งอื่นทั้งหมด ที่นอกไปจากความยึดถือของคนเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ หรือไม่เป็นความจริง

 

ยกตัวอย่างเช่น เรามักได้รับรายงานข่าวที่น่าสะเทือนใจหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งโดยปรกติแล้ว ในตะวันตกไม่มีใครสนใจกันเลย ผู้เป็นแม่คนหนึ่งรู้สึกท้อแท้เมื่อได้ยินลูก ๆ ของหล่อนรบเร้าถามอยู่ทุกเช้าว่า ทำไมซุปในชามจึงมีนิดเดียว หล่อนไม่สามารถทนฟังคำถามนี้ได้ ดังนั้นเย็นวันหนึ่ง หล่อนจึงเทข้าวทั้งหมดที่เหลืออยู่ในกะทะและปรุงซุปอย่างดี แต่เธอได้ใส่ยาพิษลงไปในนั้นด้วย แม่และลูก ๆ กินซุปด้วยกัน และถึงแก่ความตาย แต่แม้กระนั้นในสภาพเช่นว่านี้ เราก็ยังคงถูกบังคับให้จับปืนฆ่าฟันกันเอง ความทุกข์ทนหม่นไหม้ของเวียดนาม ได้ให้บทเรียนอะไรแก่อเมริกาบ้างไหม? มันได้ช่วยให้ชาวอเมริกันหันกลับไปมองดูเงาตนเองอีกครั้งหรือเปล่า? มันช่วยอะไรละหรือ?

เบอร์ริแกน : ผมมีความหวังอยู่บ้าง กระนั้นผมก็ไม่คิดว่าเรามีความรู้อย่างถ่องแท้แล้วในเรื่องที่ท่านพูดมา ผมรู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงในขั้นลึกซึ้งหลายประการกำลังเกิดขึ้น ที่นี่บ้าง ที่โน่นบ้าง เพียงแต่ยังไม่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะทั้งในระดับชีวิตทางการเมืองหรือในระดับโครงสร้างของชุมชน ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีชีวิตอยู่ในโลกที่ครึ่งหลับครึ่งตื่นนั้นนั่นเอง.