หนังสือธรรมะชุดลอยประทุม


ปมเขื่อง

จิตวิเคราะห์แบบพุทธ

ความเรียงรุ่นเก่าที่หาอ่านได้ยากของท่านพุทธทาสภิกขุ
เคยตีพิมพ์รวมเล่มใน ชุมนุมเรื่องยาวของพุทธทาสภิกขุ

ในการพิจารณาทางฝ่ายจิตใจ เพื่อค้นหาต้นเหตุแห่งการประทุษร้ายเบียดเบียน หรือการประกอบอกุศลกรรมทุกชนิดนั้น อาจมีทางพิจารณากันได้หลายทาง แล้วแต่ความถนัด แต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท ควรจะได้พิจารณากันถึงมูลรากอันสำคัญอย่างยิ่ง หากแต่มักจะไม่ค่อยมีผู้สนใจไปถึงอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่า อาจจะเป็นหนทางแก้ไขมูลเหตุแห่งการประกอบอาชญากรรมได้โดยตรง และอาจขยายต่อขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งถึงการทำความดีงาม แล้วเลยขึ้นไปจนถึงระดับความหลุดพัน หรือโลกุตตรธรรมได้โดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวของการปฏิบัติ หรือการศึกษา

 

สิ่งซึ่งเป็นมูลแห่งการกระทำทุกๆ สิ่งที่กล่าวนี้ก็คือ ความรู้สึกที่เป็นสัญชาตญาณชั้นต้นตอ ที่เป็นความยึดถือว่า "ฉันเป็นฉัน" อันประจำอยู่ในสันดานสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง ความรู้สึกยึดถือว่า "ฉันเป็นฉัน" อันประจำอยู่ในส่วนลึกของสันดานสัตว์ทั่วไปนี้ ถ้าเรียกอย่างบาลี ก็เรียกว่า อัสมิมานะ เป็นความยึดถือว่า ตัวมี ตัวเป็นอยู่กะเขาด้วยคนหนึ่ง และตัวมีความเด่นเป็นของตัว หรือต้องมีความเด่นเป็นของตัวอยู่กะเขาด้วยเหมือนกันอย่างเด็ดขาด

 

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจต่อไปในข้อนี้ก็คือว่า ความยึดถือว่า "ฉันเป็นฉัน" นี้ จะต้องควบคุมกันอยู่ หรือเลยไปถึงความยึดถือที่ว่าตัวมีความเด่นอย่างมนุษย์คนหนึ่งหรือสัตว์ตัวหนึ่งเสมอไป อย่างที่จะแยกกันไม่ได้ ทำนองเดียวกับการเผาไหม้กับความร้อน เป็นสิ่งแยกจากกันไม่ได้ฉันใดก็ฉันนั้น แต่ว่าสัตว์นั้นไม่จำเป็นต้องมีความรู้ว่าความเด่นที่ถูกต้องนั้นคืออะไร ย่อมจะถือเอาความมีตัวของเขาเอง ตามความหมายหรือตามความรู้สึกของเขาเองว่า นั่นแหละคือความเด่นแห่งตัวเขา ที่เขาจะต้องมีอัสมิมานะหรือความรู้สึกที่เป็นสัญชาตญาณอันยึดถือว่า "ฉันเป็นฉัน" และ "ต้องมีตัวฉันเด่นอยู่" ซึ่งควบคู่กันอยู่นี้ ซึ่งบางทีก็เรียกอีกอย่างหนึ่งโดยถือเอาตามอาการที่แสดงออกว่า "อหังการ" ก็ตาม นี้นับว่าเป็นรากฐานที่ควรถูกสมมติเรียกกันในภาษาจิตวิทยาว่า "ปมเขื่อง" หรือ Superiority อันแท้จริง ในฐานะที่เป็นตัวประธานอันยิ่งใหญ่ จนรู้สึกว่าใหญ่กว่าสิ่งทั้งปวง หรือเป็นตัวแท้ของชีวิต ที่จะเบ่งตัวออกเป็นวิวัฒนาการต่างๆ ด้วยความทะเยอทะยานใฝ่สูง อัสมิมานะหรือความรู้สึกที่เป็นตัว "ปมเขื่อง" อันนี้เองที่เป็นมูลเหตุอันสำคัญชั้นรวบยอดของการทำความชั่ว การทำความดี หรือทั้งทำบุญและทำบาป แต่เป็นความตรงกันข้างจากการเข้าถึงพุทธธรรม หรือนิพพานโดยตรง ฉะนั้นเราควรจะได้พิจารณากันถึง "คุณ" ของ "ปมเขื่อง" นี้โดยละเอียด เพื่อช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหายุ่งยากของมนุษยชาติทั้งมวล เท่ามี่จะช่วยกันทำได้คนละไม้คนละมือ

 

อัสมิมานะ หรือ "ปมเขื่อง" นี้เป็นทั้งมูลเหตุ และเป็นทั้งปัจจัยเครื่องสนับสนุนจรรโลงใจอันแรงกล้าที่สุด ที่ทำให้สัตว์มีความยึดมั่น และพยายามรักษา "ความมีตัวตน" และ "ความเด่นของความมีตัว" หรือ "อหังการ" ไว้อย่างมั่นคง โดยไม่คำนึงถึงการรักษาของผู้อื่นบาง การกระทำอันนั้นก็กระทบผู้อื่น และเราเรียกกันว่า การทำชั่ว หรือทำบาป หรือการประกอบอาชญากรรม แล้วแต่กรณี แต่ถ้าเขามีความรู้ฉลาดอยู่ส่วนหนึ่ง ในการรักษาความมีตัวของเขา พอที่จะไม่ให้กระทบคนอื่นแล้ว การรักษาความมีตัว หรือความเด่นของเขา แม้เพื่อตัวเขาเองก็กลายเป็นความดี หรือเป็นการทำบุญกุศลไป ดังเราจะเห็นได้ในรายที่คนบางคน "ทำบุญ" จนหมดเนื้อหมดตัวในทางทรัพย์สมบัติ ก็เพื่อไปมีตัวหรือมีความเด่นของตัวอีกทางหนึ่ง เพราะอำนาจอัสมิมานะหรือด้วยอำนาจความดันของ "ปมเขื่อง" นี้ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "อหังการ" หรือเลยไปถึง "มมังการ" แล้วแต่กรณี (แต่แล้วก็ไม่พ้นจากการที่จะก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากแก่สังคมอยู่ตามเคย) เมื่อสิ่งทั้งสองนี้คือทั้งทำชั่วและทำดีล้วนเกิดมาแต่ความผลักดันของความรู้สึกในปมเขื่องของเช่นนี้แล้ว ความมัวเมาในเรื่องทั้งสองนี้ก็มิได้เป็นได้เท่าๆ กัน มีความรุนแรงอย่างเดียวกันเพราะมาจากต้นตออันเดียวกัน กล่าวคือสัญชาตญาณแห่งการหล่อเลี้ยงรักษาปมเขื่องของตัวตน นั่นเอง

 

ส่วนในด้านตรงกันข้าม ก็คือการบรรเทาความรู้สึกดังกล่าวนั้นลงไปเสีย หรือถึงกับนำออกจากสันดานจนหมดสิ้น ไม่มีสัญชาตญาณในการยึดถือปมเขื่องเหลืออยู่ การทำเช่นนี้ เรียกตามโวหารพระศาสนาว่า "อสฺมิมานสฺส วินโย" เป็นการทำให้จิตไม่ตกอยู่ภายใต้ความเป็นทาสของการเลี้ยงรักษาปมเขื่องของตนไว้ จึงนำไปสู่ศานติอันแท้จริงหรือนิพพาน อย่างที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า อสฺมิมานสฺส วินโย เอตํ เว ปรมํ สุขํ ซึ่งแปลว่า "การนำออกเสียได้ซึ่งอัสมิมานะนั่นเป็นความสุขอย่างยิ่งเว้ย" และบรมสุขในที่นี้ก็คือนิพพานนั่นเอง ฉะนั้นการไม่มีปมเขื่อง จึงอยู่เหนือความดีความชั่ว เหนือบุญเหนือบาป เหนือโลกทั้งปวงจึงได้เรียกว่า โลกุตตรธรรม หรือพุทธธรรมอันเป็นสิ่งที่ทำคนให้เป็นพระพุทธเจ้า ส่วนในทางตรงกันข้าม ความมีปมเขื่องก็คือ อวิชชาโดยตรงนั่นเอง จึงเป็นสิ่งที่อยู่คนละฝั่งกับนิพพาน หรือการไม่มีปมเขื่องอย่างกะฝั่งนี้กับฝั่งโน้น

 

ในตอนแรกนี้ สิ่งที่จะพิจารณากันก็คือปัญหาที่ว่า ปมเขื่องเป็นมูลเหตุอันสำคัญแห่งการประกอบอาชญากรรม หรืออกุศลกรรมทั้งหลายอย่างไร ส่วนข้อที่ว่า ปมเขื่องเป็นมูลเหตุแห่งการทำดี และข้อที่ว่า การไม่มีปมเขื่องเสียเลย เป็นสิ่งที่อยู่เหนือความดีและความชั่วโดยประการทั้งปวงอย่างไรนั้น ควรจะได้พิจารณากันในตอนหลัง

 

ในการที่จะพิจารณาในข้อที่ว่า ปมเขื่องเป็นมูลเหตุแห่งการประกอบกรรมชั่วอย่างไร โดยละเอียดนั้น เราจะต้องพิจารณากันไปตั้งแต่ "ปมเขื่อง" ชั้นต้นๆ ต่ำๆ ที่แสดงออกมาเป็นสัญชาตญาณของสัตว์ (Animal Instinct) ทั่วๆ ไปเสียก่อน เพื่อจะได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ปมเขื่อง นี้โดยชัดเจน และทำให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ความชั่ว โดยเฉพาะได้ง่ายเข้า

 

บรรดาสิ่งที่มีชีวิตเป็นรูปร่างชัดเจนแล้ว นับตั้งแต่ต้นไม้ขึ้นมาถึงสัตว์และคนตามลำดับ ล้วนแต่มีปมเขื่องหรืออัสมิมานะมาด้วยเสร็จทั้งนั้น จะต่างกันก็เพียงแต่สูงหรือต่ำกว่ากัน และที่ต่ำจนยากที่จะสังเกตได้ ก็คือของสิ่งทีชีวิตชั้นพืช แม้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวินัยปรับโทษภิกษุที่ฆ่าสัตว์และฆ่าพืชเท่ากัน และอย่างเดียวกัน เราไม่จำเป็นที่จะต้องอ้างข้อนี้ขึ้นยืนยันว่า สัตว์และพืช มีชีวิตและอัสมิมานะมาด้วยกัน เพราะเหตุว่าเรามีหนทางที่จะสังเกตเอาเองจากอากัปกิริยาของสิ่งนั้นๆ โดยการแสดงออกมาทางวัตถุหรือกิริยาท่าทางอยู่เพียงพอแล้ว

 

ต้นไม้มีอัสมิมานะ หรือความถือว่าตัวมีตัว หรือความปรารถนาในการมีความเด่นของตัว โดยแสดงออกมาทางการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด ดิ้นรนเพื่อสืบพันธุ์ ดิ้นรนหาอาหารและอื่นๆ ซึ่งสัญชาตญาณเหล่านี้เป็นเพียงสัญชาตญาณชั้นรอง หรือชั้นสองเท่านั้น ไม่เหมือนกับอัสมิมานะซึ่งควรจะจัดเป็น แม่แห่งสัญชาตญาณทั้งหลาย หรือจัดว่าเป็นตัวสัญชาตญาณแท้ เพราะว่าสัญชาตญาณรองๆ เหล่านั้น ออกมาจากอัสมิมานะ คือความรู้สึกว่าฉันเป็นฉัน หรือฉันมีตัวฉันนั่นเอง และความยึดถือใน "ตัวฉัน" นั่นแหละคือความรู้สึกที่เป็น "ปมเขื่อง" เมื่อความรู้สึกว่า ฉันมีตัวฉัน กับความยึดถือในตัวฉัน เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้เพราะเป็นสิ่งเดียวกัน จึงเป็นการถูกต้องเพียงพอที่จะเรียกอัสมิมานะว่า ปมเขื่องของแต่ละชีวิต ที่ทำให้แต่ละชีวิต (แม้กระทั่งต้นไม้) ต่างมีความทะนงในความมีตัวของตัว และเป็นมูลเหตุแห่งวิวัฒนาการ หรืออีวอลิวชั่นของชีวิตนั้นๆ เรื่อยไปไม่สิ้นสุด

 

อัสมิมานะของสัตว์ ก็มีลักษณาการอย่างเดียวกับของพืช เป็นแต่ว่าสูงขึ้นมามากกว่า ชัดเจนกว่า แสดงออกเป็นผลมากกว่า เพราะเคลื่อนไหวได้โดยสะดวก เราจึงแลเห็นอาการแห่งปมเขื่อง หรือการหล่อเลี้ยงปมเขื่องของสัตว์ ได้ชัดเจนกว่าของพืช สัตว์ประเภทที่มีเลือดนักสู้รุนแรง เช่นปลาจำพวกปลากัด หรือไก่ประเภทไก่ชน เหล่านี้ล้วนแต่มีอัสมิมานะจัดยิ่งกว่าสัตว์ประเภทอื่น สัตว์ประเภทนี้จะแสดงปมเขื่อง หรืออัสมิมานะ ออกมารุนแรง ก่อนอายุขนาดที่มีความรู้สึกในการสืบพันธุ์ ลูกปลากัดพันธุ์แท้จะรู้จัก "วางโต" ตั้งแต่เมื่อตัวมันยังยาวเพียง ๕-๖ มิลลิเมตร เมื่อมีการแยกเลี้ยงเป็นรายตัว หรือแม้เลี้ยงรวมกลุ่มกันไว้แต่พวกขนาด ๕-๖ มิลลิเมตรด้วยกันในขวดแก้ว ลูกไก่อูจะวางท่าโตต่อกัน ตั้งแต่เมื่อเริ่มมีขนชุดที่ต่อมาจากชุดที่ออกมาจากไข่ ซึ่งนกกระจอกหนุ่มสาวก็ทำเช่นนี้ไม่เป็น ปลากัดหนุ่มที่เลี้ยงถึงที่ จะแสดงอาการวางโต แม้แก่มนุษย์ที่เพียงแต่เข้าไปมองดูเฉยๆ ใกล้ขวดโหล มันแสดงปมเขื่องหวงถิ่น มากกว่ามุ่งหมายจะต่อสู้หรือหวงคู่ สุนัขจะรี่เข้าวางโตต่อกันทุกแห่งที่ "เพียงแต่เห็นกัน" เหล่านี้ล้วนแต่เป็นอำนาจของอัสมิมานะ หรือปมเขื่องที่แสดงออกมารุนแรง จนถึงกับรู้สึกว่าการปรากฏตัวของอีกฝ่ายหนึ่งนั้น คือการลดปมเขื่องของตัว ฉะนั้น โดยไม่ต้องมีการบาดหมางกันมาก่อน ความรู้สึกที่เป็นไปในทางผลักดันหรือเหยียบย่ำ ก็เกิดขึ้นในใจของสัตว์เหล่านี้เสียแล้ว ด้วยเหตุสักว่าการปรากฏตัวของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งความมีอัสมิมานะ ทำให้เกิดความรู้สึกว่า การปรากฏตัวนั้น กระทบกระเทือนปมเขื่องของตน นักเลงที่กำลังเมาปมเขื่องจึงอยากจะฆ่านักเลงอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยเหตุที่ว่ามาปรากฏตัวแก่สายตาของตนเท่านั้น โดยไม่ต้องมีเหตุผลอะไรมากกว่านี้ นี่คือผลของอัสมิมานะหรือปมเขื่องที่เป็นไปรุนแรงโดยไม่ต้องมีสุรา หรือเครื่องกระตุ้นอย่างใดเข้าช่วย ให้มากไปกว่าลำพังอำนาจแห่งสัญชาตญาณแห่งการยึดถือตัวตน กล่าวคืออัสมิมานะ นั่นเอง

 

อัสมิมานะของคนก็อย่างเดียวกับสัตว์ เป็นแต่รุนแรง และพิเศษแนบเนียนไปกว่านั้น เพราะมีความต้องการอย่างอื่นๆ หลายอย่างเข้ามาแทรกแซง ทั้งในทางสนับสนุนและขัดขวาง คนหรือสัตว์ก็ตาม ย่อมมีความรู้สึกยึดถือตัวตน เป็นรูปร่างแห่งความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ แล้วแต่ระดับของจิตใจที่ผ่านสิ่งแวดล้อมหรือการศึกษาอบรมมาอย่างไร ความสำคัญว่า "ฉันเป็นฉัน" หรือ "ฉันมีตัวฉัน" นั้นคงมีอยู่เท่ากัน แต่ "รูปร่าง" แห่งตัวฉันนั้น ต่างชีวิตต่างก็มีของตัวเองแตกต่างกันไกล แต่ก็มีนามว่า "ตัวฉัน" เหมือนกันทั้งนั้น ฉะนั้น ทุกชีวิตจึงมีอัสมิมานะเต็มเปี่ยมด้วยกันทั้งนั้น ทั้งที่สิ่งที่เรียกว่า "ตัวฉัน" นั้นเป็นของลมๆ แล้งๆ ไม่มีตัวตนอะไรเลย

 

เมื่ออัสมิมานะมีก็คือปมเขื่องมี สัญชาตญาณแห่งการขยายพันธุ์ นั้นเป็นแต่เพียงความต้องการขยายตัวของปมเขื่องให้กว้างออกไป หรือสร้างตัวแทนช่วยกันแสดงความเขื่องเป็นวงกว้างออกไป กามารมณ์อันเนื่องด้วยการสืบพันธุ์ ก็เป็นเพียงความต้องการจะแสดงอำนาจบาตรใหญ่ ในทางตามใจตัวเองของปมเขื่อง ด้วยการให้ถูกบำเรอจากสิ่งแวดล้อม (แต่แล้วก็ต้องถูกลงโทษด้วยการต้องลำบากบางอย่าง) การรักลูกและเลี้ยงลูก คือความต้องการจะให้เป็นไปตามความต้องการในการที่จะเผยแพร่ความเขื่อง จึงไม่มีความรู้สึกว่าเสียความเขื่องไปในการต้องทนลำบากเพราะเหตุนี้ สัญชาตญารแห่งการหาอาหารเป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ในทางหล่อเลี้ยงตัวเอง หรือความเขื่องของตัวเองด้วยการกินผู้อื่นหรือสิ่งอื่น เพราะความเห็นแก่ตัวของปมเขื่อง โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้อื่นจะถูกกิน สัญชาตญาณแห่งการป้องกันตัว โดยทางต่อสู้หรือหนีภัยก็ตาม เป็นการสงวนตัวเองของปมเขื่อง ถ้าในกรณีที่เห็นว่า ความเขื่องของตัวขึ้นอยู่กับผู้อื่น การต่อสู้อาจจะถึงกับสละชีวิตตัว เพื่อความอยู่ของผู้อื่นก็ได้ การต่อสู้ทั้งหมดทุกๆ อย่าง จึงถือความต้องการจะเขื่องของปมเขื่องทั้งสิ้น หรืออย่างน้อยก็เพื่อรักษาเอาความเขื่องไว้ที่ สัญชาตญาณแห่งการรุกรานเมื่อได้โอกาส มีความหมายทำนองเดียวกับสัญชาตญาณแห่งการสืบพันธุ์ ที่เนื่องด้วยกามารมณ์ กล่าวคือการแผ่อำนาจตามใจตัวเพื่อให้ถูกบำเรอ การรุกรานนั้นมิใช่เพื่อกามารมณ์ล้วนๆ แต่เพื่อสัญชาตญาณที่มีอำนาจแรงกล้า เป็นสมบัติประจำตัวของอัสมิมานะ หรือปมเขื่อง อาชญากรรมคือการรุกราน จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย เหตุนี้เองชีวิตทุกชีวิตจึงมีปรกติสันดานไม่ชอบคู่แข่งขัน ที่แสดงตนออกมาด้วยอาการสักว่าปรากฏขึ้นในสายตา และมีความริษยาคุ่แข่งขันเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุเพียงสักว่าได้เห้นกันด้วยตาเท่านั้น และอาจจะเกลียดชัง แม้แก่คู่สืบพันธุ์ขึ้นมาได้ทันที ในเมื่อคู่สืบพันธุ์ฝ่ายหนึ่งทำตัวเป็นคู่แข่งขัน ทั้งนี้ด้วยอำนาจของ "ปมเขื่อง" หรืออัสมิมานะที่ต่างชีวิตต่างมีนั่นเอง

 

สำหรับสิ่งที่เรียกกันว่า "มิตรภาพ" นั้น เป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้น ในเมื่อต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่า ต่างฝ่ายต่างจะช่วยหล่อเลี้ยงปมเขื่องของกันและกัน เมื่อฝ่ายใดแสดงอาการผิดไปจากนี้ ความรู้สึกที่เป็นมิตรภาพของอีกฝ่ายหนึ่งจะหมดไปทันที แต่ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งยอมตัวลงไปเป็นผู้หล่อเลี้ยงปมเขื่องของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้มากกว่าธรรมดา หรือมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งให้มาแล้ว มิตรภาพของอีกฝ่ายหนึ่งก็จะทวีขึ้นจนกลายเป็น ความรัก หรือ ความเอ็นดูปรานี ไป เมื่อสุนัขตัวหนึ่งหมอบกรานเข้าไป แม้จะเป็นสุนัขพลัดถิ่นมา สุนัขอีกตัวหนึ่งก็ปรานีหรือยอมรับเป็นลูกน้อง สุนัขตัวเล็กหรือตัวเมีย ที่กล้าไปสัมผัสจมูกสุนักหัวโจกได้ ก็เพราะมันแน่ใจว่า สุนัขหัวโจกยอมรับรองในความมีปมเขื่องของมันด้วยเหมือนกันแล้ว เราจะเห็นได้ว่ากฎเหล่านี้เหมือนกันทั้งคนและสัตว์ แต่ที่มีในคนนั้น แนบเนียนกว่ามากมาย เพราะคนมีมารยามากกว่าสัตว์

 

ระดับปรกติของปมเขื่อง เมื่อคนใดหรือสัตว์ตัวใด ยังอาจมีความรู้สึกว่า ตนยังมี "ตัวตน" ของตน ตามความหมายของตนเต็มรูปไม่เว้าแหว่ง เราจะเรียกว่า ปมเขื่องของสัตว์ตัวนั้นยังอยู่เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ตามความรู้สึกของสัตว์ตัวนั้นเองเป็นเกณฑ์ นี้จัดว่าเป็นระดับปรกติ พอมีผู้แข่งขันเข้ามาปรากฏในสายตาเท่านั้น มันจะรูสึกตามสัญชาตญาณว่า ปมเขื่องของมันถูกกระทบกระเทือน หรือลดต่ำกว่าระดับปรกติไปเสียแล้ว โดยการมีผู้ที่กล้ามายืนคู่ จึงมีความคิดต่อสู้ป้องกันหรือเบ่งปมเขื่องของตนเต็มที่ ยิ่งเมื่อมันเป็นฝ่ายแพ้ด้วยแล้ว ปมเขื่องของมันก็ลดลงไปอย่างน่าใจหาย เหลือน้อยมากจนมันรู้สึกหนาว หรือเป็น ปมด้อย

 

แต่ที่จริงนั้น ปมด้อยไม่มี มีแต่ปมเขื่องที่ลดตัวเองไปอยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับที่ตามความจริงนั้นในโลกนี้ความเย็นไม่มี มีแต่ความร้อนที่อยู่ในระดับต่างๆ กันเท่านั้น ซึ่งเรารู้กันอยู่แล้วว่าแม้ระดับที่หนาวเป็นน้ำแข็ง คือ ๐ องศาเซ็นติเกรดนั้น ก็ยังมีความร้อนอยู่ถึง ๓๑ องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งยังเป็นจุดที่อยู่สบายสำหรับสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามขั้วโลกเหนือ ถ้าปราศจากความร้อนโดยสิ้นเชิงแล้ว สิ่งที่มีชีวิตต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกก็มีไม่ได้ สิ่งที่เรียกว่าปมด้อยก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่เรียกว่าปมด้อยนั้น ที่แท้ก็คือปมเขื่องในระดับหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะมันยังเอาไปใช้ข่มสัตว์ตัวอื่นที่รองๆ ลงไปได้อีกมากมายหลายชั้น ดังเราจะเห็นได้ในเมื่อเลี้ยงลูกสัตว์เล็กๆ รวมๆ กันมากๆ ปมด้อยหรือความหนาวจึงเป็นเพียงมายาที่เกิดขึ้น เพราะความเข้าใจเอาเองตามความรู้สึกของสัตว์นั้นๆ มีอาชญากรรมหรือแม้อกุศลกรรมตามหลักแห่งศาสนาอยู่ไม่น้อยราย ที่ผู้ทำทำลงไปโดยไม่มีความหมายอะไร นอกจากเป็นการชดเชยความลดปมเขื่อง หรืออัสมิมานะของตนเท่านั้นเอง

 

สิ่งที่จะกระตุ้นหรือตัดทอนปมเขื่องของสัตว์ตัวใดให้ทวีเลย ๑๐๐ ขึ้นไป หรือให้ลดต่ำลงกว่า ๑๐๐ ลงมานั้นย่อมมีได้ ทั้งจากธรรมชาติและจากที่มนุษย์ทำเอาเอง มีได้ทั้งทางวัตถุ และทางจิต มีได้ทั้งที่เกิดขึ้นภายในตัวเอง และที่มาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวภายนอก และมีได้ทั้งโดยบังเอิญหรือโดยเจตนาของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ได้แก่ ภูมิประเทศ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย เครื่องใช้สอย หยูกยา สุรายาเมา ความคิดนึก และสิ่งที่ยั่วให้คิดนึก โรคภัยไข้เจ็บความมั่งมีศรีสุข มิตร ศัตรู ปัญหาในครอบครัว ปัญหาของสังคม ฯลฯ

 

สิ่งสำคัญที่จะต้องสนใจเป็นพิเศษนั้น อยู่ที่กฎของธรรมชาติอันตายตัวที่ว่า เมื่อปมเขื่องของสัตว์ตัวใด ถูกกระทบกระเทือนทำให้เขารู้สึกว่ามันลดลงไปแล้ว เขาจะต้องหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาชดเชยหรือกลบเกลื่อน ด้วยอำนาจอะไรมากมายนัก แต่เป็นไปด้วยอำนาจแห่งสัญชาตญาณล้วน ๆ อย่างแรงกล้า ก็เป็นที่เกิดของอาชญากรรมใหญ่น้อยขึ้นได้แล้ว ชายหนุ่มพวกที่ได้รับการขนานนามว่าพวกอกหัก ก็คือผู้ที่ปมเขื่องของเขาถูกหญิงที่เขารักทำลายให้บี้แบนไป เมื่อเขาหมดทางที่จะเอาชนะหัวใจของหญิงผู้นั้นให้ได้จริง ๆ แล้ว เขาก็หาทางอื่นที่จะพยุงปมเขื่องของเขา สิ่งใดที่ทำให้ปมเขื่องกลับสูงขึ้นมาได้เขาก็จะต้องคว้าเอามาทันที และทำได้โดยไม่ต้องรู้สึกตัว เช่นใช้วัตถุเป็นเครื่องกระตุ้น ได้แก่ สุรา เขาจึงดื่มสุราโดยไม่มีความหมายอะไรที่ปรากฏชัดแก่เขา แต่ความจริงเป็นความต้องการอันแรงกล้าของสัญชาตญาณที่ต้องการจะชดเชยปมเขื่องที่ทรุดลงไป เราจึงได้เห็นคนเหล่านี้ดื่มสุราอย่างผิดประหลาด และไม่มีความหมายอะไรแก่ใครเลย นอกจากแก่สัญชาตญาณล้วน ๆ ที่นี้อีกทางหนึ่ง แทนที่เขาจะพยุงปมเขื่องของเขาให้กลับมาด้วยสุรา เขากลับกลบเกลื่อนความทรุดแห่งปมเขื่องของเขาด้วยการล้างชีวิตหญิงผู้นั้นเสีย เพราะเป็นมูลเหตุแห่งการทำให้ปมเขื่องของเขาลดลงไป เขาจึงไม่กลัวกฎหมาย หรืออำนาจของอะไรหมด เราจึงได้เห็นการฆ่าคนได้ง่าย ๆ เหมือนการตบยุงตัวหนึ่ง ก็ถ้าหากว่าในสัตดานสัตว์ปราศจากปมเขื่องหรืออัสมินานะดังว่านี้ แม้เพียงชั้นที่หยาบ ๆ นี้เท่านั้น ก็จะ "เป็นสุขอย่างยิ่งเว้ย" จริงหรือไม่ท่านอาจมองเห็นเอง

 

สิ่งที่พิเศษไปกว่านี้อีก ก็คือว่า สัญชาตญาณแห่งการชดเชยหรือกลบเกลื่อนการทรุดของปมเขื่องนี้ มีกำลังรุนแรงมาก ถึงกังทำอย่างไรเสียก็ต้องมีให้จนได้ เมื่อเอาโดยตรงไม่ได้ ก็เอาโดยอ้อมค้อมออกไป เราจึงได้เห็นอาการที่เมื่อสัตว์ตัวหนึ่ง ทำอะไรแก่สัตว์ตัวที่เขื่องกว่าตนไม่ได้ ก็หันไปไล่เบี้ยเอากับสัตว์ตัวที่เล็กกว่า ทั้งที่สัตว์ตัวนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีความผิดอะไรเลย และแม้นี้ก็เป็นมูลเหตุแห่งการประกอบอาชญากรรมได้เท่ากัน เราจึงได้เห็นอาชญากรรมอันร้ายกาจที่ไม่มีความหมายอะไรแก่ใคร บางรายเกิดขึ้นอย่างไม่น่าจะเป็นได้ เพียงแต่สัตว์ตัวหนึ่งมาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าต่อตา ในขณะที่สัตว์อีกตัวหนึ่ง ถูกทำให้ปมเขื่องของเขาลดลงไปโดยอำนาจของอะไรก็ตาม เท่านี้เท่านี้ก็สามารถทำให้สัตว์ที่เพียงแต่มาปรากฏตัวอยู่เฉย ๆ นั้นถูกฆ่าตายก็ได้ คน ๆ หนึ่งอาจถูกตบหน้าหรือยิ่งกว่านั้นก็ได้ ด้วยเหตุที่เผอิญเขาแอบไปเห็นคนอีกคนหนึ่งทำการชะล้างอวัยวะหรือโรคที่เขาต้องการจะปกปิด และกลายเป็นอาชญากรรมได้ สัญชาตญาณแห่งการปกปิดความลดของปมเขื่องของสัตว์นั้น ๆ นี้เราเรียกกันว่า ความอาย และเป็นสัญชาตญาณที่มีอำนาจ พอที่จะเป็นมูลเหตุแห่งอาชญากรรมทั้งหลายได้เท่ากัน ผู้รักษาความยุติธรรมของกฎหมายควรจะเอาใจใส่ไว้เท่ากับมูลเหตุอันอื่น ๆ สุนัขตัวเล็ก ๆ อาจถูกสุนัขที่แพ้ตัวอื่นมาไล่เบี้ยแก้เก้อเอาเมื่อไรก็ได้ แม้แต่สุนัขก็ทำการแก้เก้อเป็นแล้ว ทำไมคนจะทำไม่เป็น แม้นี้ก็เป็นบ่อเกิดแห่งอาชญากรรม และการแก้เก้อเป็นสิ่งที่จะต้องมีได้ทุกเมื่อ ด้วยอำนาจแห่งสัญชาตญาณ กล่าวคือการชดเชยหรือกลบเกลื่อนการทรุดลงแห่งปมเขื่องของสัตว์นั่นเอง ถ้าจะสรุปเรียกสั้น ๆ ก็คือว่า นั่นแหละคือพิษสงของปมเขื่อง หรืออัสมิมานะ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "นำออกเสียได้ เป็นความสุขเว้ย"

 

ของมึนเมาทุกอย่าง เป็นสิ่งกระตุ้นและส่งเสริมปมเขื่องถ้ากล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเมานั่นแหละคือการสูงขึ้นไปของปมเขื่องโดยวิธีหนึ่ง ธรรมดาของเมานั้นมีลักษณะเป็นสิ่งกระตุ้น (Stimulant) อยู่ตามธรรมชาติ แม้จะทำให้มีการลดต่ำกว่าระดับเดิมในตอนหลังก็ตาม แต่ในตอนแรกก็ได้ทำใหสูงจนเป็นที่พอใจแก่ผู้ที่เสพความครึ้มใจในเวลาเมา นั้นคือความรู้สึกว่าสูงในทางปมเขื่องของผู้นั้นหรือสัตว์ตัวนั้น และเป็นสิ่งที่อาจได้มาโดยง่ายด้วยราคาไม่กี่บาทกี่สตางค์ คนจึงหนุนปมเขื่องของตนเล่นด้วยของมึนเมา นับตั้งแต่บุหรี่ขึ้นไป จนถึงสุรายาฝิ่นถ้าหากของเมามิได้ทำให้เกิดความรู้สึกว่าสูงในทางปมเขื่องแล้ว จะไม่มีใครในโลกนี้เสพของมึนเมาเลย หรือของมึนเมาทำนองนี้จะเกิดขึ้นในโลกไม่ได้ เมื่อมุ่งถึงใจความแล้ว ของเมาก็คือของที่กระตุ้นปมเขื่องหรืออัสมิมานะโดยวิธีต่าง ๆ กัน

 

ของเมาที่เป็นวัตถุ ก็กระตุ้นทำให้เกิดผลทางระบบประสาทผ่านไปจนถึงความรู้สึกในใจว่า "ฉันโตขึ้น" แล้วก็ครึ้มใจหรือพอใจของเมาที่เป็นนามธรรม เช่น สรรเสริญ เกียรติยศ ชื่อเสียงเป็นต้น ก็กระตุ้นอย่างเดียวกัน ให้เกิดผลทำนองเดียวกัน แม้จะผิดแปลกกันโดยอาการ จึงทำให้คนกล้าลงทุนซื้อหามา เช่นนักการเมืองที่ลงทุนทุกอย่างเพื่อหาชื่อเสียงใส่ตน หรือนักผจญภัยสละชีวิตหาชื่อเสียงใส่ตน นี่คืออิทธิพลของของเมา สุรามีอยู่ทั่วไป และราคาไม่เท่าไร คนจึงดื่มสุราได้โดยง่าย เพื่อรสคือความครึ้มใจ (หรือความสูงของปมเขื่อง) ซึ่งเป็นรสที่ดึงดูดอยู่ไม่น้อยถ้าใครไม่มีทางได้มาซึ่งความสูงของปมเขื่อง โดยทางอื่นที่บริสุทธิ์และโดยง่าย ก็มักจะหันมาหาของเมา เช่นสุรา หนุนปมเขื่องของตนเล่นไปพลาง จนกระทั่งกลายเป็นนักดื่ม แท้จริงสิ่งที่จะหนุนปมเขื่องให้สูงโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้นก็มีอยู่มากมาย แต่ว่าล้วนแต่เป็นของยาก หรือได้ต่อนาน ๆ ไม่ทันใจของคนหนุ่มทั่ว ๆ ไป ที่ไร้การศึกษาหรือศีลธรรม จึงทนความยั่วยวนของของเมา ที่อาจให้รสความสูงของปมเขื่องได้ทันทีทันควัน โดยการเสียสตางค์นี้ไม่ได้ เราจึงได้เห็นคนกินเหล้ามากขึ้นทุกทีโดยเฉพาะตามชนบท ได้ลุกลามไปจนถึงผู้หญิงชาวนา ของเมามีเสน่ห์ในตัวมันเอง กล่าวคือการกระตุ้นความรู้สึกในด้านปมเขื่องดังกล่าวมานี้ จึงกลายเป็นนายคนได้และกินกันกระทั่งพวกเทวดา แต่แล้วความเมาในปมเขื่อง หรือความบ้าชนิดหนึ่งนั่นเอง ได้เป็นทางมาแห่งอาชญากรรมต่าง ๆ ไม่ว่าความเมานั้นจะมาจากของเมาอย่างวัตถุเช่นสุรา หรือเมาอย่างนามธรรม เช่นเสียงสรรเสริญ ถ้าผู้ใดบังคับตัวไม่ได้ สิ่งเหล่านี้กระตุ้นได้เมื่อใดแล้ว ก็มีโอกาสที่จะประกอบอาชญากรรมได้ทั้งนั้น การกระตุ้นปมเขื่องให้สูงนั้น มีได้ทั้งอย่างโสมมและอย่างสะอาด ถ้าเป็นอย่างโสมมก็เรียกว่าทำชั่ว ถ้าทำอย่างสะอาด ก็กลับเรียกว่าทำดี

 

การเสพติด นั้นคือผลของการเคยชินในการลิ้มรสแห่งความฟูของปมเขื่อง ขณะที่ถูกหนุนให้สูงขึ้น แล้วแต่ว่าเขาจะได้ใช้สิ่งใดเป็นเครื่องหนุนปมเขื่องของเขาอยู่เป็นปรกติ ถ้าใช้สิ่งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมหนุน ก็ติดในรสของปมเขื่องที่ถูกหนุนอยู่ด้วยการทำดี แต่ในกรณีที่ไม่ได้ใช้ความดีหนุน ก็จะต้องติดในรสของปมเขื่องที่ถูกหนุนอยู่ด้วยของชั่ว เช่น สุรายาเมา เป็นธรรมดา ซึ่งมีมากมาย เพราะมีได้โดยง่ายทุกหัวระแหง ยิ่งเมื่อรัฐบาลแห่งประเทศนั้น ๆ เป็นผู้ต้องการเร่งปริมาณการผลิตสุราเสียเองแล้ว ของเหล่านี้ก็ใกล้มือยิ่งขึ้น การเสพติดในการหมุนปมเขื่อง ซึ่งเป็นความต้องการอันแรงกล้าอย่างหนึ่งของสัญชาตญาณโดยอาศัยของชั่ว จึงท่วมทันไปหมด เป็นการเพิ่มปริมาณของอาชญากรรมไปในตัว จนทำนบแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามก็กั้นไว้ไม่ไหว หรือพังทะลายหมดไป ๆ ความเคยชินหรือเสพติดจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนชนิดที่จะหลีกไม่ได้เพราะว่าของเมานั้นกระตุ้นในระยะแรก ๆ และทำให้มีการตกต่ำในระยะปลาย ๆ ออกไป จนทำให้รู้สึกไม่สบาย จนต้องเพิ่มใหม่หรือกระตุ้นใหม่อย่างนี้เรื่อยไป ๆ จนเป็นความเคยชินหรือเสพติด ซึ่งผู้ติดบุหรี่ หรือติดอะไร ๆ ก็ตาม ย่อมทราบความข้อนี้ได้ดี ของมึนเมามีเสน่ห์และมารยาดั่งนี้ จึงสามารถยึดหัวใจคนทั้งโลกไว้ได้ ให้มีความเมาอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างเป็นของประจำตัว ความเมาในด้านดี เราจะได้วินิจฉัยกันในตอนหลัง ๆ แต่เราต้องไม่ลืมว่าความเมานั้นคือ รสของปมเขื่อง ที่ถูกหนุนให้สูงขึ้ไปด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามความต้องการของสัญชาตญาณซึ่งเมื่อไม่ได้ด้วยดี ก็ต้องเอาด้วยชั่ว หรือที่ใกล้ ๆ มือ และสิ่งใดที่ขัดขวางกระแสความต้องการของสัญชาตญาณแล้ว ย่อมเป็นมูลเหตุแห่งอาชญากรรมได้โดยง่ายทุกเมื่อ นั่นคือพิษสงของปมเขื่องหรืออัสมิมานะ

 

เด็ก ๆ แม้ที่เป็นขนาดจิ๋ว ก็มีอาการของปมเขื่องแสดงออกมาให้เห็นชัด และมีความต้องการอันแรงกล้าที่จะให้ปมเขื่องของตนปรากฏและถูกสนับสนุน เมื่อได้รับการสนับสนุนก็มีอาการเมาในรสของปมเขื่องที่ถูกสนันสนุนเหมือนกัน ถ้าเขาไม่หิวเกินไป เขาจะเพลิดเพลินในการที่ปมเขื่องของเขาถูกสนับสนุน ยิ่งกว่าที่จะนึกถึงอาหาร หรือถ้าปมเขื่องของเขาถูกกดลงไปในขณะที่เขากำลังกินอาหารเขาก็จะเลิกกินทันที ถ้ามีการแบ่งปันของไม่ยุติธรรมเขาจะขว้างทิ้งส่วนแบ่งของสิ่งที่เขาได้รับทันที แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นของที่เขาอยากได้ หรืออยากกินแทบจะขาดใจก็ตาม และแม้นี้ก็เป็นมูลเหตุแห่งอาชญากรรมได้ทุกเมื่อแม้แก่เด็ก ๆ โดยไม่ต้องกล่าวถึงผู้ใหญ่ ปมเขื่องของเด็ก ๆ รุ่นจิ๋ว แสดงออกมาทางการอยากเป็นเจ้าของ อยากทำลาย อยากทำเอง อยากอวดความสามารถ อยากสอนคนอื่น อยากได้ชื่อว่าตัวทำถูกเองโดยไม่ต้องมีใครมาสอน เด็กเล็ก ๆ จับตัวแมลงได้ ก็จะฆ่าให้ตาย เช่นเดียวกับลิง ซึ่งอันนี้เป็นสัญชาตญาณที่เป็นความต้องการของปมเขื่อง เมื่อได้ฆ่าสิ่งใดลงไปก็จะได้รสของการที่ปมเขื่องของตนสูงขึ้น ทำนอนเดียวกับการกระตุ้นด้วยของเมา สัญชาตญาณอย่างสัตว์หรือ Animal Instinct มีลักษณะเป็นอยู่อย่างนี้ตรงกันข้ามกับการมีศีลธรรมที่มนุษย์ต้องการ เราจึงต้องมีระบบสำหรับอบรมคนมาตั้งแต่แรกคลอด ถ้าปล่อยตามธรรมชาติ ผลจะเป็นอย่างไร ก็พอจะทายกันได้

 

เด็กยิ่งโตขึ้นมา ก็ยิ่งอยากไม่ให้ใครดุใครว่าหนักขึ้น มีเด็กจำนวนมากนึกด่าแช่งครูอยู่ในใจเมื่อถูกด่าหรือลงโทษ และมีเด็กจำนวนไม่น้อยจะทำวิธีการ "ใต้ดิน" กลั่นแกล้งหรือทำลายครูประจำชั้นของตนเอง ทุกขณะที่เขาโกรธขึ้นมาโดยเฉพาะในชนบทที่ประชาชนยังไร้การอบรม บิดามารดาเองเสียอีกที่สนับสนุนความต้องการของเด็กในเมื่อครูลงโทษลูก เด็กตามชนบทส่วนมากจะนั่งตากระปริบ ไม่ยอมตอบคำถาม เพราะอำนาจของสัญชาตญาณที่รู้สึกว่าการถูกถามนั้นเป็นการลดปมเขื่องของตัว ยิ่งการต้องตอบแล้ว ยิ่งลดมากลงไปอีก

 

คนโตจนกระทั่งบวชพระบวชเณร ก็ยังมีลักษณะดังกล่าวอยู่เต็มที่ ทำให้ลำบากอย่างยิ่งแก่การอบรมสั่งสอน เมื่อบีบบังคับหนักเข้า บางคนจะถึงกับก่ออาชญากรรมขึ้นในที่นั้นก็ได้ พระเณรที่มาจากเด็ก ๆ ที่ไม่เคยเข้าโรงเรียนหรือเข้าชนิดพอไปที จะมีลักษณะเช่นว่านี้มาก จนการบวชคราวหนึ่งของตนแทบจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรคุ้มกัน คนประเภทนี้ไม่ยอมถามข้อที่ตนสงสัยกะครูบาอาจารย์ แม้ครูจะคะยั้นคะยอให้ถาม เพราะรู้สึกว่าการถามนั้น ทำให้ตนด้อยลงไป ยังมีพระเณรจำนวนไม่น้อย ที่อยากจะได้ความรู้จากเพื่อนหรืออาจารย์ แต่ไม่ยอมแสดงความประสงค์ซึ่งหน้าหรือร้องขอให้บอก เพราะปมเขื่องของตนจะลดลงไปด้วยการต้องลดตนลงเป็นอุปัฏฐากหรือเป็นหนี้บุญคุณ สู้แอบฟัง "ฟรี" ไม่ได้ แม้จะต้องคอยเก็บเล็กผสมน้อย ก็ยังเป็นการดีกว่าที่จะแสดงออกไปว่าตนไม่รู้อะไร และทั้งต้องการจะให้ยังคงเป็นความลับอยู่ว่า ตนรู้มาจากใคร เพื่อให้มีส่วนว่าตนคิดเอาเองหรือรู้เอง เราเรียกชื่อความรู้สึกอันนี้กันอย่างผิด ๆ ว่า ความละอายครู ความจริง ความกระด้างกระเดื่องทั้งหมดนี้ ทุกอย่างเป็นเพราะความต้องการของปมเขื่องหรือสัญชาตญาณแห่งความรู้สึกว่า "ฉันเป็นฉัน" หรืออัสมิมานะนั่นเอง เมื่อถูกบีบคั้นเข้าโดยไม่ถูกวิธีหรือไม่เหมาะกาลเทศะ ก็กลายเป็นทางเกิดของอาชญากรรมขึ้น ในวัดหรือโรงเรียน ได้ทุกเมื่อ ที่กล่าวนี้ เพื่อต้องการให้สังเกตถึงพิษสงของปมเขื่องเป็นพิเศษ ว่ามันเป็นสิ่งที่ได้ลงรากไว้ตั้งแต่แรกกำเนิด รอคอยเตรียมพร้อมสำหรับจะเป็นมูลเหตุแห่งอาชญากรรมทั้งหลายเรื่อย ๆ มา ด้วยอาการอย่างไร

 

คนหนุ่มคนสาว หรือสัตว์ที่ขึ้นถึงขีดเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้น ความต้องการของปมเขื่องยิ่งรุนแรงหนักเข้า ในทางที่จะให้สิ่งแวดล้อมมาหล่อเลี้ยงหรือบำเรอความต้องการของตัว เพศผู้ต้องการให้ได้รับการบำเรอจากเพศเมียตามความใคร่ของตน ทางสัมผัสทุกอย่างที่จะทำการหล่อเลี้ยงได้ แม้เพศเมียก็มีความต้องการทำนองเดียวกัน จึงมีการผ่อนผันกันในการทำหน้าที่ตามที่ธรรมชาติบังคับมา และเราเรียกความต้องการชนิดนี้ของปมเขื่องว่า กามารมณ์ กามารมณ์ที่ถูกต้อง จึงเป็นการผ่อนผันประนีประนอม ยอมรับนับถือปมเขื่องของแต่ละฝ่ายเท่า ๆ กัน และช่วยหล่อเลี้ยงซึ่งกันและกัน ถ้าหากฝ่ายหนึ่งต้องทำไปเพราะการถูกบีบบังคับจนปมเขื่องลดตัวไป กามารมณ์ย่อมไม่มีแก่ฝ่ายนั้น เพราะฉะนั้นตัวสิ่งที่เรียกว่า "กามารมณ์แท้" นั้น ก็คือปมเขื่องที่ถูกสนับสนุนให้ได้ตามใจตัวเองถึงขีดสุดนั่นเอง หาใช่เพียงแต่รสชาติของการสัมผัสทางผิวกายไม่ ถ้าฝ่ายหนึ่งหยิ่งจองหองถือตัว ปราบปมเขื่องของฝ่ายหนึ่งราบลงไป กามารมณ์ก็มีไม่ได้ ลำพังการสัมผัส แม้จะมีรสชาติพิเศษเพียงใด ความรักกระจัดกระจายหมด เมื่อปมเขื่องของอีกฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายถูกกระทบกระเทือนจากกันและกัน ความรักทรงตัวอยู่ได้เมื่อปมเขื่องของฝ่ายนั้น ๆ ถูกหล่อเลี้ยงไว้เป็นอย่างสูง การเป็นทาสของความรัก มีความหมายตรงที่ต้องยอมหล่อเลี้ยงปมเขื่องของคู่รัก พอปมเขื่องถูกเหยียบย่ำ แม้จะรักกันอยู่อย่างไม่มีอะไรเปรียบก็จะทะเลาะวิวาทกันได้ในนาทีต่อมา สิ่งที่เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่ากามารมณ์นั้น อยู่ใต้อำนาจความต้องการของปมเขื่องที่จะคงความเขื่องของมันไว้ หาใช่ปมเขื่องหรือ "อหังการ" นี้อยู่ใต้อำนาจของกามารมณ์ไม่ จึงเมื่อจะกล่าวให้ตรงตามที่เป็นจริง ก็ควรจะกล่าวว่า กามารมณ์ที่แท้นั้น ก็คือการที่ปมเขื่องได้แสดงความเขื่องออกไปในทางแสดงอำนาจบาตรใหญ่เพื่อตามใจตัวเอง ให้สิ่งแวดล้อมบำเรอตนจนถึงระดับสูงสุดต่างหาก การที่อวัยวะของคนหนุ่มสาวขยายตัวเต็มที่เพื่อกิจการอันนี้เมื่อถึงวัย ควรจะถูกเข้าใจว่า เพื่ออำนวยแก่การแสดงความเขื่องของปมเขื่องในฝ่ายนี้โดยตรง แทนที่จะเข้าใจว่า เพื่อรสของกามารมณ์โดยเฉพาะ จะถูกกว่าความลดของปมเขื่อง ย่อมหักห้ามกามารมณ์ได้ฉับพลันเสมอ เพราะฉะนั้น การขัดขวางทางกามารมณ์จึงได้แก่การขัดขวางปมเขื่องที่จะแสดงความเขื่อง และมีอำนาจรุนแรงในทางก่ออาชญากรรมได้ตามกรณี ปมเขื่องจึงเป็นตัวการหรือต้นเหตุแห่งอาชญากรรม แม้ในรายที่เกี่ยวกับกามารมณ์อยู่นั่นเอง หาใช่ลำพังรสชาติของกามารมณ์ล้วน ๆ ไม่ ถ้าเราเข้าใจกามารมณ์ถูกต้อง จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ยังไม่มีน้ำหนักหรือความหมายเลย จนกว่าจะได้ลากเอาความต้องการจะแสดงความเขื่อง ของปมเขื่อง เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นักจิตวิทยาแห่งยุคปัจจุบันบางคณะวางกฎเกณฑ์ลงไปว่า

การกระทำทุก ๆ อย่างของสัตว์ เนื่องมาจากกามารมณ์หรือมีกามารมณ์เป็นมูลเหตุอยู่ในส่วนลึกทั้งสิ้น ข้อนี้โดยทั่ว ๆ ไปเราพอจะมองเห็นได้ว่ามีความจริงอยู่เป็นส่วนใหญ่ แต่กฎเกณฑ์อันนี้ย่อมนำไปใช้ไม่ได้กับสัตว์ประเภทที่ขึ้นถึงขีดพ้นอำนาจของกามารมณ์แล้ว แต่ยังมีอหังการมมังการเหลืออยู่ เช่น พวกพรหมเป็นต้น สัตว์ประเภทนี้ พ้นขาดจากฐานะที่ปมเขื่องของตนจะแสดงความเขื่องในทางให้ถูกบำเรอ ด้วยวัตถุแห่งกามารมณ์แต่ยังมีเหลืออยู่สำหรับหาความเขื่องในทางที่สูงขึ้นไปกว่านั้น สัตว์พวกนี้จึงถูกจัดไว้ในพวกสัตว์ชั้นสูง ๆ ขึ้นไปกว่ามนุษย์ธรรมดาหรือเทวดาธรรมดา

 

คู่ผัวตัวเมียอยู่กันไปได้ กระทั่งเป็นพ่อบ้านแม่เรือนนั้น หาใช่เพราะอำนาจแห่งกามารมณ์ไม่ แต่ที่อยู่กันไปได้ก็เพราะปมเขื่องของแต่ละฝ่ายได้รับความเอื้อเฟื้อจากแต่ละฝ่ายอยู่ แม้ในรายที่ภรรยาข่มสามีอย่างกะทาส ก็หาใช่เพราะสามีทนอยู่เพื่อเห็นแก่กามารมณ์ไม่ ปมเขื่องของสามีถูกลดไปในทางด้านนี้ แต่ต้องไปมีทางออกด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ด้านสังคมเป็นต้น ซึ่งภรรยาใจร้ายนั้น คงไม่ได้ปิดเสียหมดทุกแง่ทุกมุมหรือแม้ที่สุดแต่การที่จะทนอดกลั้นเพื่อเห็นแก่ลูก ๆ หรือชื่อเสียงของครอบครัว ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของตนโดยตรง ซึ่งเป็นการหล่อเลี้ยงรักษาปมเขื่องในส่วนนี้เอาไว้ก็อยู่กันไปได้ ถ้าหากว่าฝ่ายภรรยาสามารถปิดได้หมดทุก ๆ ประตูจริง ๆ สามีจะต้องแยกออกไป หรือมิฉะนั้นก็ต้องตาย จะเป็นพระอรหันต์ผู้หมดปมเขื่องหรืออัสมิมานะอยู่ในครอบครัวไม่ได้ เพราะปมเขื่องหรืออัสมิมานะซึ่งสมบูรณ์เต็มที่นั้น คือชีวิตของปุถุชนจริง ๆ การทะเลาะวิวาทในครอบครัวเกิดขึ้นได้ เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการปมเขื่องมากเกินไปบ้าง เพราะต้องการจะป้องกันปมเขื่องของตนบ้าง ครอบครัวที่ปราศจากการทะเลาะโดยสิ้นเชิง ก็คือครอบครัวที่แต่ละคนรู้จักควบคุมปมเขื่องของตน หาใช่เพราะเห็นแก่สินจ้าง เช่นกามารมณ์ เป็นต้นไม่ กามารมณ์ไม่อาจใช้เพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อยของครอบครัว เพราะเป็นการต้องการขยายตัวของปมเขื่องที่ไม่มีขอบเขต แม้นี้ก็แสดงให้เห็นว่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในระหว่างผัวเมียในครอบครัว ก็มีมูลมาจากปมเขื่อง หรืออัสมิมานะ หรืออหังการอีกนั่นเองหาใช่ลำพังกามารมณ์ไม่

 

ลูกจ้างกับนายจ้างนั้น ตามปรกติลูกจ้างจะรู้สึกว่าตนเสียความสูงของปมเขื่องไป ตั้งแต่แรกเข้ามาเป็นลูกจ้างแล้วและเก็บอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ ทนทำงานเพื่อจะเอาค่าจ้างไปหล่อเลี้ยงปมเขื่องตนทางหนึ่งในเวลาอื่น ถ้านายจ้างสามารถทำให้เกิดโอกาสแก่ลูกจ้าง เพื่อมีโอกาสแสดงปมเขื่องของตนได้แม้จะในทางไหนก็ตาม จะดึงดูดให้เขาทำงานได้ดีกว่าเงินเดือนจะทำให้เขาซื่อตรงหรือรักใคร่นายจ้าง เพราะสิ่งนี้มันยกปมเขื่องของเขา ตรงกันข้ามกับเงินเดือนซึ่งกดปมเขื่องของเขา แต่การให้รางวัลพิเศษ หรือการขึ้นเงินเดือน อยู่ในจำพวกยกปมเขื่อง ในชนบทบ้านนอกที่ชาวบ้านสันโดษ มีกินมีใช้ไปตามธรรมชาตินั้น จ้างคนทำงานยาก แต่วานหรือขอแรงได้ง่าย ข้าพเจ้าได้ประสบปัญหาอันนี้มาด้วยตนเองแม้กระทั่งทุกวันนี้ ทั้งนี้เพราะการวานนั้น มันเป็นการเพิ่มปมเขื่องให้เขา การจ้างเป็นการลดปมเขื่องของเขา ลูกจ้างจะบันดาลโทสะเอานายจ้างเมื่อใดก็ได้ เพราะเขามีความลดปมเขื่องเป็นทุนอยู่ในใจ อันเป็นมูลเหตุแห่งการทำอาชญากรรมต่อนายจ้าง ลูกจ้างที่ทำงานเต็มที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจนั้น มีแต่เมื่อนายจ้างแสดงความนับถือในปมเขื่องของเขาทางใดทางหนึ่งอยู่เสมอเท่านั้น นับตั้งแต่การวางตนเสมอ นับตั้งแต่การกินร่วมคุยร่วมเป็นต้นขึ้นไป ลำพังค่าจ้างอย่างเดียว ไม่ช่วยให้ลูกจ้างทำงานด้วยความมามารถทั้งหมดได้ เขาจะพยายามเอาเปรียบอยู่ทุกวิถีทาง การมอบหมายให้รับผิดชอบ การให้เป็นเจ้าหน้าที่ทดลองค้นคว้าหรือทำอะไรทำนองนี้ ส่งปมเขื่องของผู้ถูกใช้ให้เด่นลอย จนค่าจ้างกลายเป็นของไม่มีค่าไป ลูกจ้างนั้นจึงทำงานเกินค่าจ้างเกินเวลา และเกินอะไรทุก ๆ อย่าง นายจ้างจึงควรคิดค้นหาทางออกให้ปมเขื่องของลูกจ้างแสดงออกมาทางใดทางหนึ่งให้จนได้ จึงจะราบรื่น มิฉะนั้นแล้วก็เท่ากับเสี่ยงตนอยู่ใกล้กับอาชญากรรม ที่ลูกจ้างจะประกอบขึ้นเมื่อใดก็ได้ เพราะเขามีความลดของปมเขื่องอันเป็นทางเกิดแห่งอาชญากรรม เป็นทุนในใจอยู่ตลอดเวลา

 

ทาสและนักโทษนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง ทาสเป็นผู้ที่ต้องมอบปมเขื่องของตัวไว้กับนาย ปมเขื่องของตน ตนยอมให้ลดเพื่อไปเพิ่มให้นาย ตนมีปมเขื่องที่ลดไปอยู่ในระดับหนึ่งก็พอใจแล้ว และยึดถือเอาเป็นระดับปรกติของตน นักโทษหรือผู้ต้องขังเพราะมีผิดในกรณีปรกตินั้น คือผู้ที่หวังการกลับมาของปมเขื่องในอนาคต ส่วนใหญ่ผิดจากทาสตรงที่ยังมีความคิดที่จะเอาคืนอยู่ทุกโอกาส เนื่องจากการไม่ยอมปล่อยนี่เอง เขาอาจบันดาลโทสะขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ หลักการราชทัณฑ์ชนิดที่กดปมเขื่องของผู้ต้องขังอยู่ตลอดเวลานั้น ไม่มีทางที่จะให้นักโทษเหล่านั้นกลับนิสัยเป็นคนดีได้ เพราะฝืนความต้องการของสัญชาตญาณหรืออัสมิมานะ มีแต่จะทำให้อำหิตยิ่งขึ้นทุกที

 

เพื่อนบ้านเรือนเคียง อยู่กันไปได้ด้วยลักษณะอันเดียวกันกับคู่ผัวเมีย กล่าวคือต่างฝ่ายต่างช่วยเหลี้ยงปมเขื่องของกันและกัน ผิดกันแต่ว่าเป็นการหล่อเลี้ยงคนละระดับเท่านั้น ถ้าบ้านใดเกิดเด่นขึ้นมาเป็นพิเศษด้วยอะไรก็ตาม ควรจะหาวิธียกเพื่อนบ้านเรือนเคียงนั้นให้เด่นตามด้วย อย่างน้อยที่สุดก็ให้เกิดความรู้สึกว่าตนเป็นศรีสง่าของหมู่บ้านนี้ เพื่อแข่งขันกับหมู่บ้านอื่น และตนจะไม่ดูหมิ่นหรือทอดทิ้งเพื่อนบ้านของตนมิฉะนั้นแล้ว ก็จะเป็นทางให้เกิดอาชญากรรมเพราะการริษยาเนื่องจากการที่ปมเขื่องของหลาย ๆ บ้านได้ลดลงไป การริษยานั้น มิใช่เพียงแต่จะให้ความเด่นของบ้านที่เด่นนั้นลดลงมาอยู่ในระดับเดิม แต่จะเลยไปจนถึงอยากให้ล่มจมสูญหายไปเสียทีเดียว ลักษณะของความเป็นเพื่อนบ้านเรือนเคียง เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในเมืองที่รุ่งเรืองด้วยการแข่งขันยื้อแย้งกันอย่างตัวใครตัวมัน จะมีเหลืออยู่แต่ตามชนบทที่ธรรมชาติไม่เปิดโอกาสให้การแข่งขัน ยังจะต้องพึ่งพาอาศัยกันต่อไป แต่ละคนรู้สึกในทางที่จะรักษาปมเขื่องของหมู่บ้านนี้ ก็เป็นทางให้เกิดอาชญากรรมได้กว้างขวางไปตามส่วน เพราะอำนาจสัญชาตญาณการรักษาหมู่หรือ ปมเขื่องร่วม ความสัมพันธ์กันในทางบุญคุณ ของเพื่อนบ้านเช่นนี้ ยังเป็นไปในทางช่วยส่งเสริมปมเขื่องของกันและกัน ด้วยการจำต้องพึงพาอาศัยกัน ยังมีความเห็นแก่ตัวของปมเขื่องนั่นเองเป็นสมุฏฐาน ยังมิใช่ความรู้สึกของผู้ที่เป็นบุพการีหรือกตัญญูกตเวทีต่อกันและกันแท้ จึงยังอาจพลั้งเผลอบัลดาลโทสะขึ้นเมื่อใดก็ได้โดยง่าย ซึ่งทุกคนจะต้องสำรวมระวัง ความรักเพื่อนบ้านยังมิใช่เมตตากรุณา จึงยังไม่มีอำนาจพอที่จะหักห้ามการบันดาลโทสะหรืออะไรทำนองนั้น เหมือนความเมตตากรุณาแท้ เพื่อเป็นทางป้องกันอาชญากรรม เราจะต้องสำรวมระวังความสำคัญในทางบุญคุณกันนี้ อย่าอ้างขึ้นเพื่อเรียกร้องเอาจากกันโดยให้ฝ่ายหนึ่งเกรงใจตัวให้มากไป ส่วนความสัมพันธ์ทางบุญคุณที่บริสุทธิ์ เช่น ระหว่างบิดามารดากับบุตร เป็นต้นนั้น เป็นกตัญญูกตเวที หรือเมตตากรุณาที่บริสุทธิ์ ซึ่งสามารถบีบบังคับปมเขื่องของอีกฝ่ายหนึ่งได้มากกว่าอย่างมากมาย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ยังจำเป็นที่จะต้องสังวรไว้เหมือนกันว่า แม้จะอยู่ในขนาดที่เป็นกตัญญูกตเวทีบริสุทธิ์หรือเมตตาบริสุทธิ์แล้ว ก็ใช่ว่าจะสามารถบีบบังคับอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งยังคงมีปมเขื่องที่มิได้ควบคุม หรือควบคุมไว้มิได้ ได้โดยเด็ดขาดก็หาไม่ ยังคงเป็นทางมาแห่งอาชญากรรมได้ดีอยู่นั่นเอง เพียงแต่ว่าน้อยลงไปกว่า ทั้งนี้ก็เพราะว่า การรู้สึกตัวว่าเป็นหนี้บุญคุณเขานั้น เป็นการลดของปมเขื่องและตรงกันข้าม การรู้สึกตัวว่าตัวเป็นเจ้าหนี้บุญคุณเขานั้น เป็นการฟูของปมเขื่อง สัญชาตญาณเกี่ยวกับเรื่องนี้ย่อมจูงให้คนที่เป็นฝ่ายเป็นหนี้บุญคุณนั้น หาทางยกปมเขื่องของตัวที่ลดลงไปให้สูงขึ้นด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าไม่ได้ทางดีก็เอาทางร้าย ในทางดีเป็นเรื่องบุญกุศล ไว้กล่าวข้างหน้า ในทางร้ายก็คือ กลบเกลื่อนบุญคุณของผู้อื่นที่มีอยู่เหนือตนเสีย ด้วยกิริยาที่เรียกว่า เนรคุณ แต่ส่วนมากย่อมเป็นไปในระดับกลาง คือตอบแทนเสียเท่าที่จะไม่ให้ใครกาหน้าได้ว่า เป็นคนเอาเปรียบผู้อื่น อย่างที่เรียกกันว่า "หมูไปไก่มา" แม้อาการที่เรียกว่า "หมูไปไก่มา" นี้เกิดขึ้นได้ ก็ด้วยอำนาจของการรักษาเหลี่ยมของปมเขื่องของตนเองเป็นใหญ่ จึงยังมิใช่ธรรมะแท้ ส่วนการที่คนต้องตกเป็นหนี้บุญคุณด้วยความสมัครใจและไม่มีทางสู้นั้น เป็นเพราะตนต้องการอาศัยปมเขื่องของฝ่ายโน้น เป็นเครื่องยกปมเขื่องของตนขึ้น เพราะตนหมดความสามารถในกรณีพิเศษเช่นนั้นจริง ๆ เป็นการลงทุนด้วยปมเขื่องที่น้อยกว่า เพื่อหามาซึ่งปมเขื่องที่สูงกว่า ซึ่งเราเรียกกันว่าความสวามิภักดิ์ ดังเช่นที่พุทธบริษัทมีต่อพระพุทธเจ้า หรือศาสนิกเหล่าอื่นที่นับถือพระเป็นเจ้า มีต่อพระเป็นเจ้าของเขา เขาเห็นว่าการเป็นสาวก หรือการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเป็นเจ้านั้น เป็น "ความเขื่อง" ที่เขื่องว่าปมเขื่องทั้งหมดที่เขากำลังมีอยู่ในบัดนี้ ดังนี้เราจะเห็นได้ว่าแม้ความยอมสวามิภักดิ์ ก็ไม่มีอะไรที่พ้นไปจากการแสวงหาหรือการรักษาปมเขื่องของตน อีกนั่นเอง.....

 

ผมเห็นอาจารย์เขียนถึงเรื่องจิตวิทยาบ่อย ๆ อยากทราบว่าอาจารย์อ่านหนังสือของใคร

**อ้าว ก็อ่านหนังสือทั่ว ๆ ไป (หัวเราะ) เมื่อสวามีสัตยานันทบุรีเขาออกหนังสือ Social science พักหนึ่ง ออกมาได้หลาย ๆ เล่ม เขาก็ลงแต่เรื่องอย่างนี้ เขาแปลมา แล้วก็เขียนขึ้นด้วย สวามีก็เคยเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ สะดวก อ่านง่ายไม่ต้องไม่ต้องอ่านยุ่งยากอะไร อ่านง่าย ๆ สรุปใจความได้ง่าย ๆ แล้วเราก็สนใจที่เขาพูดถึงฟรอยด์ว่า เป็นผู้พูดว่า อะไร ๆ ก็ล้วนมีมูลรากมาจาก ความรู้สึกทางเพศ ทั้งนั้น มันก็จริง มันก็จริงที่สุดหละ แต่มันก็มีขอบเขตอยู่เพียงกามาวจรภูมิ ส่วนพวกที่มีจิตเป็นรูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ มันก็ไม่ค่อยเป็นอย่างนั้นด้วย และฟรอยด์ไม่รู้เรื่องนี้ รู้แต่เรื่องกาม กามคือเรื่องมนุษย์ธรรมดา ก็เลยเขียนออกไปอย่างนั้น ผมจึงถือว่า ฟรอยด์ไม่รู้เรื่องรูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ คำพูดนั้นจึงพูดถูกครึ่งเดียว

แสดงว่า อาจารย์ไม่ได้ศึกษาตะวันตก อย่างเป็นล่ำเป็นสันเท่าไหร่

**ไม่ คือเอามาใช้ประกอบในการศึกษาพุทธศาสนา อ่านก็ไม่ค่อยจะออก หนังสือแนวนี้ไม่มีมาก เพียงได้ยินเค้าเงื่อนใหญ่ ๆ ก็มาสนใจแยกแยะเอาเอง เช่นได้ยินว่ามีผู้ว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับความรู้สึกทางเพศ มันก็จริงที่สุด พอมีความต้องการก็เกิดความโลภ พอไม่สมประสงค์ก็เกิดโทสะ เกิดโมหะ เกิดอะไร ความรู้สึกทางเพศ เป็นเหตุบันดาลให้เกิดอะไรขึ้นทุกอย่าง แต่จริงเฉพาะในหมู่ผู้ที่ยังมีจิตใจอยู่ในระดับกาม (หัวเราะ) ภายใต้ความรู้สึกของกาม มันก็เว้นพวกรูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ เว้นพระอรหันต์ นี่ฟรอยด์ไม่รู้เรื่องพระอรหันต์ แต่มันก็เป็นคำพูดชนิดที่เรียกว่า เอาข้างเข้าถู เช่นว่าทำไมจึงออกบวช ก็เพราะความรู้สึกเบื่อกาม(หัวเราะ) นี่ก็เรียกว่าอาศัยกามอยู่ดี(หัวเราะ) แต่เป็นในแง่ตรงข้ามว่ากามมันบับคั้นให้ออกบวช พูดได้ว่า ทุกเรื่องในปุถุชนคนธรรมดา มีมูลเหตุมาจากสิ่งที่เรียกว่าเซ็กส์ ทำสงครามกันก็เพราะต้องการปัจจัยแห่งเซ็กส์

อัตชีวประวัติของท่านพุทธทาส "เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา"
พระประชา ปสนฺนธมฺโม สัมภาษณ์ น. ๕๕๖–๕๕๗

 

  1. ความรู้สึกที่เป็นสัญชาตญาณในที่นี้ มีความหมายตามพยัญชนะคือ ความรู้สึกที่เกิดเอง หรือเกิดอยู่แล้วเองประจำสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย คำว่า "ญาณ" นี้มีความหมายเป็นกลางๆ คือใช้ได้ทั้งรู้ถูกและรู้ผิด (มิจฉาญาณ = รู้ผิด สัมมาญาณ = รู้ถูก) สิ่งที่เรียกว่าญาณซึ่งเป็นคำกลาง ๆ จึงได้แก่ "การไหว" หรือ "การเคลื่อน" ของใจ เมื่อเคลื่อนเองหรือไหวเอง ชนิดที่เป็นไปตามธรรมชาติล้วน ๆ เราบัญญัติเรียกกันในที่นี้ว่า สัญชาตญาณหรือสัญชาติญาณ ซึ่งแปลว่า ญาณที่เกิดขึ้นเอง หรือญาณที่มีการเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สัญชาตญาณแห่งการยึดถือว่ามีตัวของตัว นับว่าเป็นสัญชาตญาณแม่บทแห่งสัญชาตญาณอื่นๆ ทั้งหลาย เด็กทารกเอาศีรษะเซไปโดนเสาเจ็บเองก็โกรธเสา แต่เมื่อใครไปตีเสาให้แทนจึงหายร้อง นี่เป็นตัวอย่างของสัญชาตญาณแห่งการมีตัวตน ที่ถือแม้แต่ในเสานั้นว่ามีตัวตน หรือเด็กดูข้างในนาฬิกา คิดว่ามีชีวิต เด็กตั้งใจจะพูดกับต้นไม้หรือสิ่งใดๆ ก็เพราะเข้าใจว่าสิ่งนั้นก็เป็น "ตัวตน" อีกฝ่ายหนึ่ง เช่นเดียวกับเด็กเอง เมื่อมีสัญชาตญาณในการยึดถือตัวตนเช่นนี้แล้ว สัญชาตญาณอื่นๆ ที่รองลงไปก็ตามๆ กันขึ้นมาได้เพราะอาศัยสัญชาตญาณ "ต้นตอ" อันนี้ เช่น สัญชาตญาณของการแสวงหาพวก หาอาหาร หนีภัย สืบพันธุ์ หวงถิ่น ฯลฯ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ อิงอาศัยอยู่บนความยึดถือตัวตน ซึ่งเป็นสัญชาตญาณดั้งเดิม และเราเรียกรวมๆ กันทั้งหมดว่า สัญชาตญาณหรือการเคลื่อนของจิตที่มีพฤติในตัวเอง.
  2. อหังการ คำนี้ ในที่นี้ มิได้หมายอย่างภาษาพูดตามธรรมดา ซึ่งหมายถึงความจองหอง คำว่า อหังการ ตามศัพท์ทางศาสนานั้นหมายถึง การทำความยึดถือว่ามีตัวฉัน เป็นของสิ่งเดียวกันกับ อัสมิมานะ คือความยึดถือ หรือสำคัญว่ามีตัวเรา หรือตัวตนของเราอันเป็นความยึดถือชั้นลึกประจำสันดาน จะขาดไปโดยสิ้นเชิงก็เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วเท่านั้น พระอริยเจ้านอกนั้นมีแต่เพียงเบาบางเพราะมีอหังการอยู่ข้างในล้นออกมาเป็นการถือตัวหรือจองหองได้อย่างหนึ่ง ภาษาพูดธรรมดาจึงเรียกเอากิริยาอันนั้นว่า อหังการ ไปด้วย แต่ที่แท้จริงนั้น อหังการ ทำให้เกิดอะไรได้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับชีวิต ซึ่งในบทความนี้เรียกมันว่า "ปมเขื่อง" ซึ่งท่านจะได้อ่านดูต่อไป ว่ามันทำอะไรได้กี่อย่าง
  3. การใช้คำๆ นี้ในที่นี้ อาจไม่เหมือนกับที่ผู้อื่นใช้กันในที่อื่นโดยวงกว้างแคบกว่ากัน หรือตื้นลึกกว่ากันก็ได้ ผู้อ่านต้องถือเอาความหมายหรืออรรถาธิบายเป็นเกณฑ์ ไม่ควรจะถือเอาคำล้วนๆ เป็นเกณฑ์ คำ Superiority คำนี้โดยมากใช้กันกับกิริยาภายนอกของอหังการ แต่ข้าพเจ้าใช้กับตัวอหังการเสียเองทีเดียว
  4. ทำดี หรือทำชั่ว นั้นคนทำด้วยความยึดถือตัวตน ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ส่วนการลุถึงนิพพานนั้น เป็นการทำลายความยึดถือตัวตน ฉะนั้นจึงพ้นไปจากการทำดีทำชั่ว จึงกล่าวว่า อัสมิมานะ เป็นตัวให้ทำดีทำชั่ว แต่ตรงข้ามกับนิพพาน ซึ่งเป็นการทำลายอัสมิมานะเสียโดยสิ้นเชิง
  5. มมังการ คือการทำความยึดถือว่า "ของตน" เป็นของเนื่อง เป็นอันเดียวกันกับ อหังการ อย่างที่จะแยกกันไม่ได้ คือเมื่อมีอหังการหรือความยึดถือว่าตัวตนแล้ว ความยึดถือว่าของตนก็ไม่ไปไหนเสีย
  6. ภาษาบาลี : มตฺตา= เมา อุมฺมตฺตา = บ้า (อุมฺมตฺตา = เมาสูงขึ้น)
  7. ข้าพเจ้าถือว่า คำว่า Sex ของนักจิตวิทยา โดยเฉพาะของ Sigmund Freud นั้น ตรงกับคำว่า กามารมณ์ในที่นี้