นายกรัฐมนตรีกับช่องทางแห่งความเสื่อม ?


พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ
กระแสทรรศน์ มติชนรายวัน
ฉบับวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๔๐๐ หน้า ๖

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นประสบความสำเร็จอย่างสูงตามกรอบคิดและทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม

 

พิสูจน์ได้จากผลประกอบการและโครงสร้างของกำไรกิจการที่ท่านริเริ่ม ก่อตั้ง และบริหาร ก่อนการเข้ารับตำแหน่งหรือแสดงบทบาททางการเมือง

 

กระทั่งสามารถใช้ความสำเร็จเหล่านั้น เป็นบาทฐานเข้ายึดกุมอำนาจรัฐด้วยกลไกการเลือกตั้งสำเร็จในที่สุด

 

อาจนับได้ว่า นี่เป็นประวัติศาสตร์ความสำเร็จของฝ่ายทุน ที่รวดเร็วและเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยิ่ง โดยที่มิได้ใช้กลไกกองทัพ ระบบราชการ หรือทำการปฏิวัติ-รัฐประหาร แต่อย่างใด

คงปฏิเสธได้ยาก ว่าอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านกลไกต่างๆของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น ณ วินาทีนี้ ตลอดจนที่จะเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้ ยังไม่มีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งคนใดเคยมีหรือทำได้มาก่อน

 

ความสำเร็จทางธุรกิจด้วยระยะเวลาอันสั้น จนสามารถมีทุนทรัพย์ระดับหลายหมื่นหลายแสนล้านบาท ด้วยระยะเวลาเพียงสองทศวรรษเศษ ในระบบทุนนิยมอาจถือได้ว่าเป็นเรื่อง "ความสามารถ" ในการแสวงหากำไรสูงสุด

 

แต่ต้องไม่ลืมว่า "กำไรสูงสุด" นั้น แม้จะถูกกฎหมาย (หรือกฎหมายยังเอาผิดไม่ได้?) ก็มิใช่จะหมายความว่ากระทำไปในทิศทางเดียวกับ "ทำนองคลองธรรม"
บ่อยครั้งที่ความสำเร็จทางธุรกิจการค้าแบบสัมปทานผูกขาด หรือซื้อถูกมาก-ขายแพงมาก จะมีลักษณะมิจฉาอาชีวะ คือการเลี้ยงชีพผิด หาเลี้ยงชีพในทางทุจริต ผิดวินัย หรือผิดศีลธรรมอยู่เสมอ

 

กล่าวกันมาแม้ในชาดกว่า ความสำเร็จอันรวดเร็วและยิ่งใหญ่ เมื่อผสานเข้ากับอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วยแล้วหากผู้นั้นไม่มีธรรมไม่มีการเจริญสติหรือมีการภาวนาเพียงพอก็ง่ายที่จะเกิดความสำคัญมั่นหมายในตน ด้วยอหังการ-มมังการ มีมิจฉาทิฏฐิ นำพาตนเองและพวกพ้องออกนอกลู่นอกทางธรรมยิ่งๆ ขึ้น

 

ประวัติศาสตร์อินเดียหรือแม้ในพระไตรปิฎกจึงกล่าวไว้ว่า"เศรษฐี"ครั้งพุทธกาลนั้นต้องประกาศและผ่านการรับรองจากสมาชิกในชุมชนว่าเป็น"คนดี"เพื่อมิให้คนชั่วหยาบแอบแฝงเข้ามาใช้"วิชามาร"ช่วงชิงพื้นที่และสิทธิของสมาชิกอื่น

 

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันกล่าวด้วยความภาคภูมิใจอยู่เสมอว่า ตนเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นคน "คิดนอกกรอบ" พร้อมที่จะหา "ลู่ทางใหม่ ๆ" มาแก้ปัญหา
หลายครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวกับสื่อมวลชน หรือกับผู้ฟังกลุ่มอื่น ๆ ทำนองว่า "กฎหมายนั้นเป็นเพียงเครื่องมือ มีได้ก็แก้ได้ เพื่อเป้าหมายที่วางไว้"
จะว่าไปแล้ว ความข้อนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราหลงลืมคำกล่าวที่ว่า "กฎหมายออกโดยชนชั้นใด ย่อมรับใช้ชนชั้นนั้น"

 

แต่ตรรกะเช่นนี้ไม่สามารถใช้ได้กับ "หลักศาสนธรรม" หรือเนื้อแท้ในพระธรรมคำสอนของทุกศาสนา ยิ่งกับ "หลักศีลธรรม-จริยธรรม" อันเป็นแก่นแกนของวิถีแห่งความสงบร่มเย็นของมนุษยชาติด้วยแล้ว แม้ว่าถึงที่สุดสิ่งผิดกฎหมายจะได้รับการแก้กฎหมายให้กลับเป็นถูกต้อง ก็มิใช่จะถูกทำนองคลองธรรมเสมอไป

 

กรณี "หวยรัฐ" หรือการจะให้มีแหล่งบันเทิงครบวงจรซึ่งมีบ่อนการพนันอยู่ในนั้น เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในขณะนี้

 

กล่าวคือ แม้รัฐบาลจะใช้อำนาจบริหาร พรรครัฐบาลใช้เสียงข้างมากในสภามาเปลี่ยนดำเป็นขาว เปลี่ยนผิด (กฎหมาย) ให้เป็นถูกได้ตามอำเภอใจ แต่รัฐบาลหรือ นายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถเปลี่ยนกฎศีลธรรม หรือเปลี่ยนหลักธรรมคำสอนได้ ไม่ว่าจะใช้ทฤษฎี "คิดนอกกรอบ" หรือ "กฎหมายออกได้ ก็แก้ได้" หรือทฤษฎี "กำไรสูงสุด คือคำตอบสุดท้าย" หรือข้ออ้างอะไรอื่น ๆ ก็ตาม

 

และไม่ว่าจะเอากำไร "บางส่วน" มาแจกจ่ายคนจน หรือมีเทคนิคทางการเมืองใดๆ มากำราบ หรือกดดันผู้ไม่เห็นด้วย แต่ถึงที่สุดแล้ว หากผู้มีอำนาจมีมโนธรรมสำนึก ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า ตนกำลังมอมเมาประชาชนในอาณัติ และใช้อำนาจเหยียบย่ำทำลายศีลธรรมอันดีของประชาชนเสียเอง

 

มิพักจะต้องกล่าวว่า โดยทฤษฎีรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์อันยั่งยืนนั้น การมอมเมาให้ผู้ด้อยอำนาจทางเศรษฐกิจ ผู้ใช้แรงงานหรือคนยากคนจน ซึ่งมักเป็นลูกค้ารายใหญ่ของอบายมุข ในระยะยาวย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจการเมืองโดยรวมของประเทศ

 

ในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศชาติ พระศาสนา และประชาชน อาจคาดเดาได้ไม่ยากนัก หากรัฐและผู้นำรัฐมุ่งถือเอาผลประโยชน์ทางการเมืองในระยะสั้นเป็นที่ตั้ง มุ่งนำพาอาณาประชาราษฎร์ไปสู่ระบบทุนนิยมบริโภค ที่คนจำนวนน้อยใช้ความได้เปรียบตักตวง "กำไรสูงสุด" แต่ฝ่ายเดียว

 

มิหนำซ้ำ ยังหลอกล่อให้คนด้อยโอกาสมัวเมาอยู่กับ "ช่องทางแห่งความเสื่อม" คือ "อบายมุข" ประเภทต่าง ๆ อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเคยกล่าวหลายครั้งว่าตนเองเป็นพุทธศาสนิกชน มิหนำซ้ำ ยังศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ตลอดจนพระเถรานุเถระร่วมสมัยอยู่มิได้ขาดเชื่อได้ว่า หากมีเวลาที่จะยั้งคิดได้ใช้สติปัญญาที่มีอยู่ โดยมีธรรมะเป็นดั่งเครื่องมือทำลายอวิชชา ตลอดจนรับฟังคำท้วงติงของกัลยาณมิตรให้มากขึ้นแล้ว ความตั้งใจที่ดีย่อมช่วยให้เห็นเป้าหมายถูกต้องได้ในที่สุด

 

"ช่องทางแห่งความเสื่อม" นั้นประกอบไปด้วย ๑) ติดสุราและของมึนเมา ๒) ชอบเที่ยวกลางคืน ๓) ชอบเที่ยวดูการละเล่น ๔) เล่นการพนัน ๕) คบคนชั่วเป็นมิตร ๖) เกียจคร้านการงาน เชื่อว่าการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประสบความสำเร็จมาได้ถึงขนาดนี้ ก็ย่อมจะปฏิเสธและหลีกหนีทั้ง ๖ ข้อ อยู่เป็นปกติ

 

จึงได้แต่หวังว่า การที่ประชาชนลงคะแนนเลือกตั้งท่านและคณะ ทั้งที่ผ่านมาและกำลังจะเกิดขึ้น ถึงที่สุดแล้วจะไม่เป็นไปตาม "อบายมุข" ข้อที่ ๕ คือ การคบคนชั่วเป็นมิตร ในบั้นปลาย..