โดย
เกริ่นนำ
การเมือง และอุดมคติทางการเมือง
บทนิยาม"การเมือง"ตามแนวทางศาสนา
การเมืองต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ
ความหมายของศีลธรรม
วิพากษ์สภาพการเมืองในปัจจุบัน
สังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา
เจตนารมณ์ของสังคมนิยมเป็นธรรมสัจจะที่มีอยู่ในธรรมชาติ
จุดตั้งต้นของอุดมคติสังคมนิยม
วิญญาณแห่งสังคมนิยม ธรรมสัจจะแห่งสังคมนิยม
พิจารณาสังคมนิยมของคาร์ล มากซ์
ความหมาย ธัมมิกสังคมนิยม
มีระบบธรรมิกสังคมนิยม จึงจะถูกต้องตามธรรมสัจจะของธรรมชาติ
เจตนารมณ์ของสังคมนิยมในพระพุทธศาสนา
๑. โครงสร้างสังคมนิยมในระบบ "สังฆะ"
๒. การไม่เอาส่วนเกินในปัจจัยสี่ที่บัญญัติไว้ในวินัยของภิกษุ
๓. อุดมคติ "ไม่เอาส่วนเกิน" คือ รากฐานของสังคมนิยม
๔. มนุษย์ต้องอยู่กันเป็นสังคม ช่วยเหลือกันและกัน เสียสละเพื่อผู้อื่น
๕. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นไปอย่างเกื้อกูล ไม่เอาเปรียบทางชนชั้น
พิจารณาคำว่า "ส่วนเกิน"
ระบบสังคมนิยมแบบธรรมราชา
ธัมมิกสังคมนิยมของธรรมชาติต้องกลับมา
การแก้ไขปัญหาสันติภาพสองระดับ
๑. การแก้ไขปัญหาในระดับบุคคล
๒. การแก้ไขปัญหาในระดับสังคม "สังคมที่มีความถูกต้อง"
๒.๑ ต้องมีเศรษฐกิจที่ถูกต้องในสังคมนั้น.
๒.๒ มีระบบการอยู่ร่วมกันระหว่างคนด้อยกับคนเด่น.
๒.๓ มีระบบการเมืองที่ถูกต้อง.
๒.๔ ต้องการระบบการปกครองที่มีธรรมะเป็นหลัก.
๒.๕ ระบบศีลธรรมและศาสนา.
๒.๖ มีการศึกษาถูกต้อง.
๒.๗ ระบบนิเวศวิทยาที่ดี
การเกิดขึ้นของลัทธิการเมืองใด ๆ ย่อมมีปรัชญาการเมืองเป็นรากฐานทั้งสิ้น และคงมีแต่ ปรัชญาการเมืองที่ไม่ขัดต่อสัจจะของธรรมชาติเท่านั้น ที่จะหนุนให้ลัทธิการเมืองนั้น ๆ คงทนถาวรและทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกทั้งใน ระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคม ลัทธิทางการเมืองเท่าที่เกิดขึ้นมาแล้วในโลกนี้ ต่างก็พิสูจน์ ตัวเองมาแล้วมากยุคสมัย ทว่าจวบจนปัจจุบันนี้เราก็ยังไม่สามารถจะบอกได้ว่าลัทธิการเมือง ชนิดใดที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ลัทธิการเมืองในยุคหลังมีแนวโน้มเอนเอียง มาทางโลกียวิสัย (secularization) มากยิ่งขึ้นทุกที และนับวันเมื่อประชากรโลกยิ่งมากขึ้น การแย่งชิงทรัพยากรก็เริ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ปัญหาว่าทำอย่างไร จึงจะสรรหาแนวคิดทางการเมือง ที่เหมาะสม สำหรับมนุษย์และธรรมชาติ จึงยังจำเป็นต้องมีการพูดถึงกันอยู่ทุกยุคทุกสมัย
แนวคิดด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ของพุทธทาสภิกขุ ในชื่อ "ธัมมิกสังคมนิยม" นั้น เป็นผลึกความคิดที่ได้จากกระบวนการ "สิกขา" อย่างเป็นระบบในหลักพุทธธรรมทั้งในระดับ ปัจเจกและชุมชน และได้นำเสนอภายใต้หลักศาสนธรรม ซึ่งท่านเน้นย้ำอยู่เสมอว่า การเมืองก็คือศีลธรรม
บทความชิ้นนี้เป็นการนำ ธรรมบรรยายของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่ว่าด้วยเรื่อง "ธัมมิกสังคมนิยม" ซึ่งท่านได้บรรยายไว้ต่างกรรมต่างวาระกัน มาเรียบเรียงใหม่ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพรวม กว้าง ๆ ของแนวคิดนี้ โดยวางโครงร่างของการเรียบเรียงออกเป็น ๔ หมวดด้วยกัน คือ
๑.ว่าด้วยการก่อรูปอุดมคติทางการเมือง ซึ่งประกอบด้วย การเมืองและอุดมคติทางการเมือง, บทนิยาม "การเมือง" ตามแนวทางศาสนา, การเมืองต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ, ความหมายของ ศีลธรรม และวิพากษ์สภาพการเมืองปัจจุบัน
๒.สังคมนิยม : ความหมายและรากฐาน ประกอบด้วย สังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา, เจตนารมณ์ของสังคมนิยมเป็นธรรมสัจจะที่มีอยู่ในธรรมชาติ, จุดตั้งต้นของอุดมคติสังคมนิยม, วิญญาณแห่งสังคมนิยม-ธรรมสัจจะแห่งสังคมนิยม และพิจารณาสังคมนิยมของ คาร์ล มากซ์
๓.ธัมมิกสังคมนิยม และเจตนารมณ์สังคมนิยมในพุทธศาสนา ประกอบด้วย ความหมาย ของธัมมิกสังคมนิยม, มีระบบธัมมิกสังคมนิยมจึงจะถูกต้องตามธรรมสัจจะของธรรมชาติ, เจตนารมณ์ของสังคมนิยมในพุทธศาสนา, พิจารณาคำว่า "ส่วนเกิน" และระบบสังคมนิยมแบบ ธรรมราชา
๔.แนวทางสู่ธัมมิกสังคมนิยม ประกอบด้วย ธัมมิกสังคมนิยมของธรรมชาติต้องกลับมา และการแก้ไขปัญหาสันติภาพสองระดับ (บุคคลและสังคม)
เนื่องจากการเรียบเรียงในครั้งนี้ มุ่งหวังเพียงแค่ให้เห็นภาพรวมของแนวคิดดังที่กล่าวแล้ว ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงที่จะตีความ หรือตัดสินคุณค่าของแนวคิดดังกล่าวในทุกวิถีทาง แต่จะทิ้งประเด็นเหล่านี้ไว้ เพื่อนำไปคิดต่อทั้งในทางทฤษฎีและการปฏิบัติ และสำหรับผู้ที่สนใจในระดับลึกก็ควรจะได้ศึกษา แนวคิดธัมมิกสังคมนิยม ของพุทธทาสภิกขุโดยตรง ซึ่งจะมีที่มาอยู่ท้ายบทความชิ้นนี้แล้ว
"...หลักธรรมะที่จะใช้เป็นที่พึ่งแก่โลกในทางการเมืองได้นั้น ขอให้ถอดเอามาจากหัวใจของทุก ๆ ศาสนา ทุกศาสนามีหัวใจเป็นสังคมนิยม ทุกศาสนาสอนสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ทุกคน ๆ ไม่ใช่เพื่อคนเดียว หัวใจของศาสนาจึงเป็นลักษณะของสังคมนิยม ไม่ใช่ปัจเจกนิยม...
ธัมมิกะ แปลว่า "ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ" ธรรมะคือความถูกต้อง ถูกต้องอย่างที่ไม่มีทางที่จะผิด สังคมนิยมที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะนี่ เป็นหัวใจของทุกศาสนาอยู่แล้วโดยไม่รู้สึกตัว ทำไมไม่เอาออกมาใช้ เทออกมาให้หมดทุก ๆ ศาสนา มารวมกันเป็นระบบธัมมิกสังคมนิยม ของโลก ใช้กับคนทั้งโลก...
ขอให้หัวใจของทุก ๆ ศาสนาเทไหลออกมากองรวมกันเป็น ระบบธัมมิกสังคมนิยมสำหรับ จะเป็นที่พึ่งในโลก แล้วในที่สุดจะมองเห็นกันได้เองว่า เราเป็นสหธรรมิกกันได้..."
"ถ้าเราจะถือว่าคำว่า "การเมือง" มาจากคำว่า politics ก็จะยิ่งเห็นความหมายได้ง่าย เพราะ คำว่า politics นี้มีความหมาย "เกี่ยวกับคนมาก" หรือเกี่ยวกับเรื่องที่มาก ๆ นี้จะต้องนึกไปถึงความจริงอันหนึ่งว่า พออะไรมีเพิ่มมากขึ้นละก็เป็นเกิดปัญหาทันที จะเป็นคนหรือเป็นของอะไรก็ตาม poli ที่แปลว่า "มาก" นี้ หมายถึงอะไรก็ได้ บัดนี้เอามาใช้ประกอบขึ้นเป็นคำสำหรับอุดมคติอันหนึ่ง ที่จะใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการที่มีคนหรือมีอะไรมาก ๆ เรื่องความมีปัญหามากนี้ไม่ต้องสงสัย ย่อมมาจากการที่มีคนมากขึ้นในโลกในสังคมอะไรนี้ ดังนั้นก็ต้องมีระบบอันหนึ่งทางศีลธรรม หรือว่าทางศาสนาก็ตาม เพื่อจะแก้ปัญหาเหล่านี้ ถ้าคำว่า "การเมือง" หมายความอย่างนี้ก็นับว่าดี คือว่าเป็นกลาง วางไว้สำหรับจะแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับคนมากก็แล้วกัน
ทีนี้ก็มีคำที่เนื่องจากคำนี้ เช่น คำว่า "อุดมคติทางการเมือง" ก็เลยมองเห็นได้ทันทีว่า อุดมคติก็กำลังมีมาก คนนั้นเขาก็ว่าอย่างนี้ คนนี้ก็ว่าอย่างโน้น จนเกิดขึ้นหลาย ๆ ระบบเป็นอุดมคติทางการเมืองที่แข่งขันกันขึ้นมาเสนอตัวเป็นผู้จัดสันติภาพโลก จนกระทั่งเราไม่รู้จะเอาระบบไหนดี จึงมีปัญหา ถ้าเราไม่รู้ก็ย่อมจะเป็นอันตรายหรือไม่สำเร็จประโยชน์เป็นอย่างน้อย
ถ้ารู้จักอุดมคติทางการเมืองว่ามันคืออะไรแล้วจะง่ายนิดเดียว ในเมื่อเราย้อนกลับไปถึงคำพูดที่ได้พูดไว้แล้วว่า ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ศีลธรรม ไม่มีอะไรที่ไม่เกี่ยวกับศีลธรรม ระบบการเมืองที่แท้ก็คือ ศีลธรรม ถ้าระบบการเมืองนั้นถูกต้อง นั่นก็คือศีลธรรมที่มีแล้วอย่างถูกต้อง ถ้าผิดแล้วก็ใช้ไม่ได้ เพราะเป็นศีลธรรมที่ผิดหรือไม่ประกอบอยู่ด้วยศีลธรรม นี่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องไปดูเอาเองว่า ระบบการเมืองระบบไหนประกอบไปด้วยศีลธรรม ซึ่งบัดนี้เราก็จะพูดไว้ล่วงหน้าเสียเลยว่า ระบบ สังคมนิยมนี้ คือ ระบบที่ประกอบด้วยศีลธรรมยิ่งกว่าระบบใด."
"สิ่งที่เรียกว่า การเมือง เรามีความหมายหรือบทนิยามโดยเฉพาะตามแนวทางของศาสนา แต่ก็คงจะมีใจความที่ตรงกันโดยหลักทั่ว ๆ ไปว่า การเมือง นั้นคือ การจัดอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เพื่อคนมากจะอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก. มันจะไม่ตรงกันบ้างก็คือว่า นักการเมืองทั้งหลาย จะไม่ยอมรับว่า "จะต้องมีการจัดอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ" เพราะดูเหมือนเขาจะไม่พูดถึง กฎธรรมชาติกันเสียเลย ; เขาพูดถึงปรัชญาบ้าง อุดมคติบ้าง ตามลัทธินั้น ๆ แล้วก็ตามความคิดเห็น ของเขาเอง
สิ่งที่เรียกว่าการเมือง คือ ระบบศีลธรรมอันเร้นลับ การดูอย่างนี้มีประโยชน์และเป็นสิ่งที่ จำเป็นโดยแน่นอน ถ้าเราเอามาทำให้ถูกต้องก็จะมีประโยชน์ ถึงอย่างนั้นก็ยังจะต้องแยกออกให้ง่าย ให้เห็นได้ง่าย ให้ง่ายแก่การที่จะศึกษาหรือปฏิบัติศีลธรรมในรูปแห่งการเมือง
ถ้าการเมืองอยู่ในรูปของปรัชญา ก็ดูจะยังเป็นเรื่องอากาศธาตุเสียมากกว่า คือลม ๆ แล้ง ๆ เพราะว่าปรัชญานั้นเป็นอย่างนั้นเอง ปรัชญาเป็นเรื่องสำหรับคำนวณแล้วออกมาเป็นคำพูด มันก็อยู่ในลักษณะเป็นคำพูดไม่อาจจะเข้าถึงตัวจริงได้ การเมืองที่อยู่ในรูปของปรัชญาที่บ้าหลัง คลั่งไคล้กันนัก ในรูปปรัชญาในโลกนี้ในเวลานี้ก็จะยังคงเหลวอยู่นั่นแหละ
ถ้าว่าการเมืองมาอยู่ในรูปศีลธรรม ต้องขอใช้คำพูดโสกโดกที่ว่า "มันวิเศษเลย" ถ้าว่าการเมือง มาอยู่ในรูปศีลธรรมก็หมายความว่า ละเสียจากความเป็นปรัชญา นี้จะช่วยโลกได้ ข้อที่ว่าเป็น ศีลธรรมอย่างไรนั้นก็พูดกันแล้ว
ถ้าให้ดีกว่านั้นอีกก็ให้การเมืองมาอยู่ในรูปของศาสนาเสียเลย เพราะว่าคำว่า "ศาสนา" ก็คือ ภาวะสมบูรณ์ของสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม ความเต็มรูปของสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมคือ ศาสนา"การเมืองต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ
"เรื่องการเมืองนี้ก็ต้องเป็นเรื่องเพื่อคนมาก ถ้าคนน้อยก็ไม่จำเป็น ; เมื่อคนมันมากขึ้น จะอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกได้อย่างไร? มันก็ต้องจัดไปด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของ ตัวผู้จัดเอง ; ดังนั้น เรื่องการเมืองที่บริสุทธิ์ ก็เป็นเรื่องของศีลธรรม ; แต่นักการเมืองสมัยนี้ก็ไม่ยอมรับ ลักษณะอย่างนี้ ; ไปถือว่าเป็นเรื่องอื่นไม่ใช่เรื่องศีลธรรม.
แต่เรายืนยันว่า เป็นเรื่องที่มีหัวใจเป็นศีลธรรมโดยตรง ; ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วมันจะถูกต้องไม่ได้ คือ มันจะไปตามความต้องการของคนบางหมู่บางคณะเท่านั้นเอง. มันก็เลยเป็นการเมืองที่ทุจริต หรือเป็นการเมืองที่ปลอม เทียม สร้างความยุ่งยากขึ้นในหมู่มนุษย์ แทนที่จะสร้างสันติภาพ ; ฉะนั้น เมื่อจะเอาความถูกต้องกันก็ต้องเล็งถึงการถูกต้องจริง ๆ คือ ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ...
ฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรมนั้นมีความสำคัญมาก คือเป็นสิ่งที่ทำให้อุดมการณ์ของมนุษย์ทุกชนิด ไม่เป็นปัญหา หรือถ้าจะเผอิญเกิดปัญหาขึ้นมา มันก็แก้ได้ด้วยความมีอยู่แห่งศีลธรรมนั้นเอง. นี้เป็น ธรรมสัจจะที่ตายตัว. ได้พูดกันอย่างละเอียดในครั้งที่แล้วมาแล้ว ; ถ้าธรรมสัจจะในส่วนนี้มันผิดไป อุดมคติทั้งหลายมันก็ผิดไป. อุดมการณ์ทางการเมืองโดยตรงนี้ ก็จะเสียไป ; เราจึงต้องย้อนไปหา สิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม ในฐานะเป็นรากฐานของอุดมคติทั้งหลาย."
"ความหมายทางภาษา... คำว่า สี-ละ หรือศีลนี้ ตัวหนังสือแท้ ๆ ก็แปลว่า ปรกติ, อะไรที่คงอยู่ตามปรกติ ก็เรียกว่า สี-ละ หรือ ทำอยู่เป็นปรกติ ไม่ผิดแปลกออกไป ; นี้ก็เรียกว่า สี-ละ ถ้าผิดปรกติก็เรียกว่าไม่ใช่ สี-ละ. ที่เอามาใช้เป็นชื่อของการปฏิบัติที่เรียกว่า "ศีล" นี้ ก็คือ การทำให้ปรกตินั่นเอง. การฆ่ากันไม่ใช่ปรกติ ; ต่อเมื่อไม่ฆ่ากันจึงเรียกว่าปรกติ...ทีนี้ ก็มาถึงความหมายของคำว่า "ธรรม" คำว่า ธรรม นี้มีความหมายหลายอย่าง : ความหมายทั่วไป ก็หมายความว่า "ทรงตัวอยู่". คำว่า ธรรม นี้ แปลว่า ทรงตัวอยู่ ; ฉะนั้น "ศีลธรรม" ก็แปลว่า "การทรงตัวอยู่อย่างปรกติ" มันก็เท่านั้นเอง. ทางภาษาจึงได้เห็นภาพพจน์ขึ้นมาว่า มีความปรกติทางปรากฏการณ์ ที่แสดงให้เห็นทั้งทางรูปธรรม และนามธรรมของทุก ๆ สิ่ง...
ความหมายทางอาการตามธรรมชาติ ก็เอาปรากฏการณ์ของธรรมชาติแท้เป็นหลัก. เมื่อพูดถึง ธรรมชาติ ในที่นี้ก็เล็งถึงธรรมชาติตามธรรมดา ที่แวดล้อมอยู่ทั่ว ๆ ไปนี้ ของสิ่งที่ไม่มีชีวิตด้วย, และของ สิ่งที่มีชีวิตด้วย. ถ้าเป็นไปตามธรรมชาติแล้วจะปรกติ ; เพราะมัน มีกฎของธรรมชาติอยู่อย่างหนึ่ง คือ ถ้าไม่ถึงสภาพปรกติ หรือที่ควรจะอยู่ตามปรกติแล้ว มันจะไม่หยุด มันจะต้องถูกผลักไสไปกลิ้งไป จนกว่าจะไปอยู่ในสภาพที่เรียกว่าปรกติที่สุด ที่มันจะอยู่ได้ แม้สิ่งที่ไม่มีชีวิต... ศีลธรรม คือ สิ่งที่ทรงตัว อยู่โดยปรกติ ที่เป็นตามธรรมชาติ
ความหมายตามบทบัญญัติทางศาสนา... ตัวการบัญญัตินั้นจะบัญญัติกันในรูปวัฒนธรรม ศีลธรรม ระเบียบประเพณี หรืออะไรก็ตาม, มันก็เป็นเรื่องของการบัญญัติ ; ซึ่งมีหลายระดับ หลายยุค หลายสมัย ศีลธรรมจึงเปลี่ยนรูป เปลี่ยนแบบ หรือเปลี่ยนระดับ. แต่อย่าลืมว่า ศีลธรรมมุ่งหมาย ความสงบ ; เหตุที่ทำให้ต้องบัญญัติก็เพราะว่ามันไม่สงบ เกิดการกระทบกระทั่งวุ่นวายกันขึ้นมานี้ทำให้ ต้องบัญญัติ, การบัญญัติก็เพื่อทำให้เกิดความสงบ...ศีลธรรมตามความหมายของการบัญญัติทางศาสนา ...ล้วนแต่มุ่งหมายความสงบทุกระดับของความหมาย."
"...เราจะมองดูระบบการเมืองในโลกปัจจุบันกันสักสามแง่ คือ ดูที่ต้นเหตุของมัน, ดูที่ความเจริญของมัน, แล้วก็ดูที่มันพัวพันกันอย่างสับสน แง่อย่างแรก ที่ว่าต้นเหตุของปัญหาการเมืองทั้งโลกนี้มันมีอยู่ที่ไหน? อาตมาอยากระบุลงไปว่า โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ ไปหลับหูหลับตาหลงใหลในเรื่องความเจริญทางวัตถุมากเกินไป ไม่มีใครรู้สึกตัว ไม่มีใครละอายในการที่จะกอบโกยวัตถุ. เมื่อตกเป็นทาสของกิเลสหรือตกเป็นทาสของวัตถุเสียแล้ว, จิตใจก็ไม่อาจจะรู้สึกละอายได้ ก็ไม่รู้สึกกลัวด้วย... เป็นทาสของเนื้อหนังมันก็ละทิ้งพระเจ้า ; พวกฝรั่ง เขาเคยมีพระเจ้า เขาก็ละทิ้งพระเจ้า เขาจัดให้พระเจ้าตายแล้ว ไม่มีอยู่แล้ว.
ฝ่ายตะวันออกนี้ก็ละทิ้งพระธรรม ซึ่งมีฐานะอย่างเดียวกับพระเจ้า ละทิ้งศาสนา ละทิ้งพระธรรม แม้แต่วัฒนธรรมของบรรพบุรุษฝ่ายตะวันออก อย่างจีน อย่างไทยแท้นี้ มันก็ถูกละทิ้งไป ไปเป็นทาส ของเนื้อหนัง...
ทีนี้ แง่ที่ ๒. มองดูถึงความเจริญ ต้นเหตุอันนั้นได้ทำให้เกิดความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้น เจริญไปแต่ในทางเกลียดศีลธรรม, เจริญไปแต่ในทางเกลียดศาสนา เห็นแต่ความสุขทางเนื้อหนัง, เห็นแต่ส่วนเกินยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในความสนุกสนานทางเนื้อหนัง...
ทีนี้ ในแง่ที่ ๓. ดูอาการที่มันพัวพันกัน ผูกพันกันในระหว่างมนุษย์ หรือระหว่างระบบการเมือง ทั้งหลาย. ความพัวพันนี้มันเป็นความพัวพันหลายอย่างหลายทาง ; เช่นประโยชน์มันเกี่ยวเนื่องกัน หรือมันเป็นปัจจัยให้แก่กันและกัน, ต่างฝ่ายต่างต้องอาศัยกัน ; มันก็เป็นเหตุให้ระบบการเมืองในโลก มันเกี่ยวข้องกัน จนกระทั่งว่า แม้เป็นข้าศึกแก่กันมันก็ยังต้องพัวพันเกี่ยวข้องกัน.
อย่างระบบเสรีประชาธิปไตย กับระบบคอมมูนิสต์โดยตรงนี้ มันด่าก็ด่ากันไป ; อีกทางหนึ่ง ก็ติดต่อกัน สัมพันธ์กัน จะล่อหลอกเอาประโยชน์จากกันและกันนี้. มันพัวพันกันอย่างคดโกงและ ทั้งอย่างซื่อตรง ทั้งอย่างต่อหน้าทั้งอย่างลับหลัง.
แล้วแต่ละพวกก็ต้องการขยายตัว ขยายตัว ขยายตัวเรื่อยไป มันก็เกิดการพัวพันกันยุ่ง : ความรู้ก็แลกเปลี่ยนกัน, การปฏิบัติงานค้นคว้าก็แลกเปลี่ยนกัน, ผลที่ได้มาก็ต้องแลกเปลี่ยนกัน ; เพราะมิฉะนั้น แล้วมันไม่รู้จะเอาไปไหน. นี่มันก็มีทั้งทางสนับสนุนกัน, แล้วก็มีทั้งที่จะทำลายล้างกันพร้อมกันไปในตัวอย่างหน้าไหว้หลังหลอก. นี่ก็ยิ่งเห็นว่าเป็นการพัวพันที่น่าสังเวช ความจำเป็นบังคับให้ต้องทำอย่างนั้น ธรรมะก็ไม่มีในโลก, ธรรมะก็ไม่มีสำหรับที่จะครองโลก.
นี่เป็นอันว่า เราได้มองดูพอเข้าใจว่า โลกในสภาพปัจจุบันนี้มันเป็นอย่างไร, ถ้าจะดูว่า ทำไมยิ่งเจริญ ยิ่งไม่มีสันติภาพ? ก็ขอให้ดูให้เป็น เพราะว่า คำว่า "เจริญ ๆ" นี้ มันหมายแต่เพียงว่า มันมากเข้าเท่านั้น มันมากเข้ามันหรูหราขึ้น ; แต่มันไม่ได้หมายความว่า ถูกต้องยิ่งขึ้น."
"สำหรับคำว่า "สังคมนิยม" คำนี้ ทุกคนก็ได้ยินได้ฟังกันอยู่แล้ว และรู้จักกันในฐานะที่เป็นชื่อของระบบการเมือง หรืออุดมคติทางการเมืองอย่างหนึ่ง และโดยส่วนใหญ่ก็เล็งถึงระบบที่เป็นข้าศึกต่อเสรี
ประชาธิปไตย พอพูดถึงสังคมนิยม ความคิดของคนสมัยนี้ก็แล่นไปถึงคอมมิวนิสต์หรืออะไรทำนองนั้น แต่ที่เราจะพูดกันในวันนี้ไม่ได้เกี่ยวกันกับคำนั้น ในความหมายอย่างนั้น คือเป็นสังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา
ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า บัดนี้เราจะพูดกันถึงสังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา ซึ่งจะเป็นศาสนาไหนก็ได้ หรือที่ยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือ ตามหลักของธรรมชาติ ขอให้ทำความรู้สึกสำหรับจะฟังความหมายของคำ ๆ นี้ตามหลักแห่งพระศาสนาโดยตรง ความรู้สึกของผู้ฟังขณะนี้ควรจะเกลี้ยงเกลาไปจากความคิดเรื้อรังต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อนว่า ขึ้นชื่อว่าสังคมนิยมละก็ ต้องเป็นระบบชนกรรมาชีพที่ยื้อแย่งนายทุน หรืออะไรทำนองนี้ ซึ่งไม่ควรจะเอามาปนกันเลย.
ทีนี้ขอให้ทบทวนถึงเรื่องที่เราพูดกันในครั้งที่แล้วมา คือ เรื่องศีลธรรม ถ้าเข้าใจเรื่องนั้นแล้ว ก็จะเข้าใจเรื่องนี้โดยถูกต้องสมบูรณ์ และโดยง่าย เราต้องนึกถึงคำว่า "ศีลธรรม" ในแง่ที่ว่าศีลธรรมเป็นเหตุให้เกิดความปรกติ และเป็นภาวะแห่งความปรกติ นี่ก็แล้วแต่ว่าจะเล็งกันในฐานะที่เป็นเหตุ หรือเป็นผล ถ้าศีลธรรมถูกมองไปในลักษณะที่ เป็นเหตุ ก็จะเป็นสิ่งหรือเครื่องมือหรืออะไรก็ตามที่จะทำความปรกติ แต่ถ้า เป็นผล ก็คือแสดงออกมาแล้วก็เป็นภาวะแห่งความปรกติ...
เราจะดูกันว่าสังคมนิยมเป็นศีลธรรมระบบหนึ่งอย่างไร? ถ้าพูดอย่างเอาเปรียบกว้าง ๆ ไว้ทีก่อนก็คือว่า การจัดระบบที่ทำให้สังคมเป็นปรกติหรือเป็นปรกติสุขนั่นแหละจึงเรียกว่าสังคมนิยม ถ้ามันเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายก็จะเป็นเรื่องความไร้ศีลธรรมในสังคม แต่ก็ยังคงเป็นปัญหาของสังคมนิยมอยู่นั้นเอง."
"พูดกันอย่างธรรมสัจจะอย่างตั้งต้นไปใหม่... ธรรมสัจจะนี่คือตัวแท้ตัวจริงของธรรม ของธรรมะก็ได้ ของธรรมชาติก็ได้ เป็นสิ่งเดียวกัน ตัวแท้ตัวจริงของธรรมชาตินั้นก็เป็นสังคมนิยม คือว่ามันไม่มีอะไรที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ มันต้องอาศัยกันและกัน ไม่มีแผ่นดินต้นไม้จะอยู่ได้อย่างไร ไม่มีต้นไม้แผ่นดินจะอยู่ได้อย่างไร หรือว่าน้ำจะอยู่ได้อย่างไรถ้าไม่มีต้นไม้ ไม่มีแผ่นดิน
ดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมที่มนุษย์จะอยู่เป็นสุขสบายนี้ มันมีอะไรแต่เพียงสิ่งเดียวไม่ได้ มันต้องเนื่องกันหลาย ๆ อย่าง ดูให้ลึกลงไปอีกว่า ถ้ามันมีแต่ธาตุดินมันจะมีประโยชน์อะไร มันต้องมีธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ เป็นต้น ถ้ามันเนื่องกันสัมพันธ์กันอย่างดี มันถึงจะมีอะไรขึ้นมาได้ และเป็นธรรมชาติดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่นี้ ว่าเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสัตว์บ้าง เป็นต้นไม้บ้าง เป็นแผ่นดินบ้าง เป็นห้วย หนอง คลอง บึง บาง อะไรต่าง ๆ อยู่ในสภาพที่เหมาะสม ความชื้นพอดี มีความอบอุ่นพอดี มีอะไรพอดี มันจึงมีชีวิตอยู่อย่างนี้ได้
หรือว่าในคน ๆ หนึ่งนั้น ก็มีเจตนารมณ์ของสังคมนิยม คือต้องมีอะไร ๆ หลาย ๆ อย่าง ทำงานสัมพันธ์กันอย่างที่จะแยกกันไม่ได้ เรื่องนี้พวกที่ได้เล่าเรียนมาในทางสรีรศาสตร์ หรือการแพทย์การหมอก็รู้เรื่องดี ตาก็เนื่องกับหู หูก็เนื่องกับจมูก จมูกก็ยังเนื่องกับปาก ไม่มีอะไรที่จะแยกอยู่ตามลำพังได้ แต่ว่าถ้าไม่ได้เรียนก็ไม่รู้ เพราะจะสังเกตเอาเองก็จะเห็นได้ยากเต็มที แต่ขอให้เชื่อเถอะว่าไม่มีทางผิด ที่เราจะพูดว่าอวัยวะใหญ่น้อยทั้งหลายต้องร่วมกันทำงาน ทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามธรรมสัจจะของสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายจึงจะอยู่ได้ ฉะนั้น วิญญาณแห่งสังคมนิยมมีอยู่ในตัวคนทุกคน จะต้องอยู่กันด้วยความสัมพันธ์อย่างถูกต้อง
ที่เราเรียกว่าความรักความสามัคคีนั้น นั้นจึงจะเป็นสังคมนิยมที่เป็นที่พึ่งได้ ถ้าเป็นการเกี่ยงงอน เกี่ยงแย่ง ทะเลาะวิวาทกัน แบ่งพรรคแบ่งพวกกัน สำหรับจะประหัตประหารกัน ก็จะเป็นสังคมนิยมบ้าอยู่ในโลกนี้
แม้ในหมู่สังคมนิยมเองมันก็ยังแข่งฆ่ากัน เพราะมันมีหลายแบบ แต่ถ้าเป็นความถูกต้องตามธรรมสัจจะของธรรมชาติแล้วมันจะมีแต่เพียงแบบเดียว ก็เลยไม่รู้ว่าจะฆ่าใคร เพราะไม่มีข้อขัดแย้ง
ที่ว่าสังคมนิยมก็ต้องหมายถึงว่า มันอยู่ด้วยกันได้ เพราะว่านิยมสังคม คือ ความรวมอยู่กันได้ไม่มีข้อขัดแย้ง ถ้ามีข้อขัดแย้งมันก็มีไม่ได้ คือมนุษย์พวกหนึ่งเอาเปรียบ พูดเอาข้างเดียว ให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิดเสมอ ยกตัวเองเป็นฝ่ายถูก นี้ไม่มีวิญญาณแห่งสังคมนิยมเลย
นี่เรียกว่าเราดูโดยทรรศนะกว้าง ๆ ในธรรมสัจจะของธรรมชาติ ว่าสิ่งที่มันมีอยู่ได้นี่มันก็มีวิญญาณแห่งสังคมนิยมทั้งนั้น และที่มันเนื่องกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ก็มีอยู่มาก เราก็ยังไม่รู้สักทีไม่ค่อยมองเห็นสักที เรียกว่ายังขาดความรู้ด้านนี้อยู่มากทีเดียว
ยกตัวอย่างเช่น จะพูดขึ้นมาสักข้อหนึ่งว่า ถ้าไม่มีพวกนกเล็ก ๆ ที่มีอยู่ทั่วไปในวัดนี้ ไม่มีนกประเภทนี้แล้ว คนก็จะตายหมด พูดอย่างนี้ถ้าเป็นนักพฤกษศาสตร์อยู่บ้างก็คงจะฟังออก แต่คนทั่วไปคงฟังไม่ออกว่า ถ้าไม่มีนกเล็ก ๆ นี้แม้แต่สักตัวเดียวแล้วคนก็จะต้องตายหมด นั่งดูเถอะจะเห็นว่า พวกนกเล็ก ๆ นี้มันช่วยปราบศัตรู คือ หนอนที่จะคอยกินยอดไม้ หนอนที่จะกัดกินยอดไม้ นกเล็ก ๆ มันเป็นผู้ปราบวันหนึ่งตั้งพันตัวหมื่นตัวแสนตัว นกตัวหนึ่งจะทำลายหนอนชนิดนี้นับเป็นร้อย ๆ ตัวพัน ๆ ตัวต่อวัน แล้วนกเท่าไร แล้วหนอนกี่ล้านเล่าที่ปราบไปแล้ว ต่อวัน ต่อเดือน ต่อปี ถ้าว่ามันไม่มีนกพวกนี้มันก็มีแต่หนอน ความไม่สมดุลได้เกิดขึ้น ก็มีแต่หนอนก็กัดกินยอดไม้ จนต้นไม้ทนอยู่ไม่ได้เพราะถูกกัดกินยอดอ่อนหรือกินบางส่วนของมันหมด จนต้นไม้จะต้องตายลงทั้งแผ่นดิน ถ้าต้นไม้ตายหมดทั้งแผ่นดินแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ก็คือความร้อนระอุแห้งแล้ง หรือว่าโรคภัยไข้เจ็บอย่างใดอย่างหนึ่งจะประดังกันเข้ามาทีเดียว แล้วมนุษย์ก็อยู่ไม่ได้จะต้องตาย ถ้าไม่มีนกเล็ก ๆ เหล่านี้แล้ว ฝนก็ไม่ตกลงมา นี่พูดสั้น ๆ ว่าถ้าไม่มีนกเล็ก ๆ เหล่านี้แล้วมนุษย์จะตายหมด นี่บางคนก็จะฟังไม่ถูก
ปู่ย่าตายาย บรมโบราณเขาก็รู้เรื่องนี้ เพราะฉะนั้น เขาจึงสอนไปในทางที่ว่าให้กระทำไปในทางที่ชีวิตทั้งหลายมันอยู่ด้วยกันได้ และเมตตาปรานีกันให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่มันมีอยู่ในเวลานี้ได้มันก็เพราะว่ามันทำสังคมกัน สหกรณ์กัน ประพฤติประโยชน์ร่วมกัน นี่เป็นฝีมือของธรรมชาติ หรือว่าถ้ามันไม่มีธรรมชาติข้อนี้ มันก็ตายหมดแล้ว เราก็ไม่ได้มานั่งพูดกันอย่างนี้ ทีนี้ธรรมชาติมันมีของมันอย่างนั้นมันจึงรอดอยู่ได้ แล้วเราก็ได้มานั่งพูดอยู่นี้
สำหรับผู้ที่รู้เรื่องนี้ดีก็จะยึดหลักนี้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น คือช่วยประคับประคองให้ทุกอย่างมันมีอยู่ตามที่ธรรมชาติต้องการหรือที่พระเจ้าต้องการ เพราะฉะนั้นเขาจึง ทำนาเผื่อลิง อย่างที่ประเทศอินเดียนี้ พูดแล้วคนบ้านเราก็จะงงว่าทำนาเผื่อลิง เขาทำข้าวให้มากไว้ ลิงกินเขาก็ไม่ว่าอะไรเพราะเขาได้ทำนาเผื่อลิง เขาคิดว่าลิงนี้จะต้องมีอยู่ในโลก จึงจะมีความสมดุลในโลก นี่มันสังคมนิยมลงไปจนถึงสัตว์เดรัจฉานขนาดนี้ ไม่ต้องพูดถึงคนด้วยกันก็ได้"
จุดตั้งต้นของอุดมคติสังคมนิยม
"...ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้ก็ขอให้อดทนหน่อยในการที่จะย้อนกลับไปพิจารณา คือ ถอยหลังเข้าไปให้มาก ๆ จนไปพบว่าจุดตั้งต้นของอุดมคติที่ว่า "สังคมนิยม" นั้นคืออะไร? อยู่ที่ไหน? เมื่อไร?
คำว่า สังคมนิยม ควรจะเป็นความหมายของคำว่า politics โดยตรง เพราะ politics นี้หมายถึง ปัญหาของคนมาก สังคมก็คือคนมาก แล้ว "นิยม" ก็คือเพ่งเล็งเรื่องที่เกี่ยวกับคนมากนั้น อาตมาอยากจะขอร้องให้มองไกลลิบลงไปจนถึงเรื่องของธรรมชาติว่า ธรรมชาติอันบริสุทธิ์นั้นเป็นเรื่องของสังคมนิยม ไม่ใช่เสรีนิยม ถ้าเป็นเสรีนิยมแล้วจะวินาศหมดตั้งแต่แรกสร้างโลก จะตายหมด แล้วไม่มีอะไรเหลืออยู่จนกระทั่งบัดนี้ แต่เพราะความที่มันเป็นสังคมนิยมอยู่ในตัวมันโดยอัตโนมัติของธรรมชาติ ที่ยังไม่มีชีวิตจิตใจอะไร ไม่มีความคิดนึกอะไร มันจึงอยู่รอดมาได้
ขอให้นึกถึง "ธรรมชาติ" มาตั้งแต่ว่าเมื่อแรกมีโลกนี้ออกมา จะมาจากดวงอาทิตย์หรือมาจากอะไร ก็ตามใจ มันมาเย็นลงเป็นก้อนหินอะไรก้อนหนึ่ง แล้วมันค่อยสลายตัวไปเป็นฝุ่นเป็นละอองไป แล้วรวมตัวกันเป็นธาตุนั้นธาตุนี้ มันเป็นเรื่องของสิ่งที่มีมาก ไม่ใช่เรื่องของสิ่งเดียว กระทั่งมามีการหมักหมมเกิดสิ่งที่เรียกว่า "ชีวิต" ขึ้นมาในน้ำ เป็นสัตว์เซลล์เดียว เป็นสัตว์หลายเซลล์ขึ้นมาตามลำดับ
สิ่งที่จะต้องมองดูให้เห็นก็คือ มันมีความลับอันหนึ่งที่ธรรมชาติจัดสรรให้มา คือ ข้อที่ว่ามันจะต้องมีอะไรที่พอเหมาะพอดี ที่สิ่งมาก ๆ เหล่านั้นมันจะอาศัยใช้ร่วมกันอยู่ได้ นี่คือ "เจตนารมณ์ของสังคมนิยม" ที่ธรรมชาติจัดให้มา สำหรับให้ถือเอาส่วนสัดกันพอดี เกินพอดีไม่ได้ คือกอบโกยไม่ได้นั่นแหละ ดังที่จัดท้องสำหรับใส่อาหารให้มาเพียงเท่านี้ สำหรับร่างกายเพียงเท่านี้ ไม่มีการกอบโกยอย่างเสรีมาใส่ไว้ในยุ้งฉาง เสรีภาพในการกอบโกยถูกควบคุมไว้โดยธรรมชาติอย่างเฉียบขาด
สัตว์เซลล์เดียวหรือสัตว์สองเซลล์เกิดแล้ว แบ่งออกไปเป็นกี่เซลล์ จนกระทั่งออกมาเป็นพืชพันธุ์ไม้กระทั่งออกมาเป็นสัตว์เล็ก ๆ กระทั่งออกมาเป็นสัตว์เดรัจฉานทั่วไป กระทั่งมาเป็นสัตว์ครึ่งคนครึ่งสัตว์ เช่น ลิงหรืออะไรก็ตาม กระทั่งมาเป็นคนในอันดับแรกสุด เป็นคนป่าที่ยังไม่มีวัฒนธรรมอะไรเลย เหล่านี้มีลักษณะเป็นสังคมนิยมโดยอัตโนมัติของธรรมชาติ คือ ธรรมชาติไม่อำนวยให้ใครกอบโกยได้ เพราะทำไม่ได้ เพราะไม่มียุ้งไม่มีฉาง
เราดูนก จะเห็นมันกินอาหารเฉพาะที่กระเพาะมีไว้ให้เท่านั้นแหละ มันเก็บกินกว่านั้นไม่ได้ มันไม่มียุ้งฉาง ดูลงไปถึงแมลง มันก็ทำได้เพียงเท่านั้น ดูไปถึงต้นไม้ ต้นไม้ก็กินอาหารกินน้ำได้ เท่าที่ลำต้นมันมีอยู่ มันจะทำให้เกินนั้นไม่ได้ ฉะนั้นระบบที่ใครไม่สามารถล่วงล้ำเข้าไปในสิทธิของผู้อื่น ไม่กอบโกยอะไรของใครได้นี้ เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปโดยอัตโนมัติจึงทำให้เป็นสังคมอยู่ได้ และเป็นสังคมมาเรื่อย ๆ จนมีต้นไม้มากมาย จนมีสัตว์เดรัจฉานมากมาย จนกระทั่งมีคนขึ้นในโลกมากมาย เสรีภาพแห่งการกอบโกย ถูกควบคุมไว้โดยธรรมชาติอย่างแน่นแฟ้น ในรูปแบบของสังคมนิยม โดยน้ำมือของธรรมชาติเช่นนี้
คนป่าในระยะแรก ครึ่งคนครึ่งสัตว์หรือว่าเป็นคน ๆ พอที่จะเรียกว่าเป็นคนป่า นี้ก็เป็นไปตามธรรมชาติเป็นไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งธรรมชาติคุมไว้ ไม่ให้เอาส่วนเกินควบได้ ก็เลยไม่มีปัญหาทางสังคม เพราะเป็นสังคมนิยมโดยอัตโนมัติของธรรมชาติ เป็นความถูกต้องจึงรอดชีวิตมาได้หลายแสนปีหรือ กี่ปีก็ตามใจ มาเป็นพวกเราสมัยนี้ เพราะว่าได้อยู่มาในลักษณะที่ถูกต้องของธรรมชาติที่มันจุนเจือกัน
ทีนี้ปัญหาเริ่มต้นที่ตรงไหน? ก็เริ่มตั้งต้นตรงที่มีมนุษย์อุตริบางคนเริ่มรู้จักกอบโกย ก็เป็นมนุษย์คนแรกในโลกที่รู้จักสร้างยุ้งฉางสำหรับกอบโกย แล้วมีสติปัญญาสำหรับผลิต ก็แย่งผลิตแย่งเก็บ แย่งอะไรต่าง ๆ มาไว้ที่ตัวมากเกินไป เกินความจำเป็น ปัญหาก็ตั้งต้นที่ตรงนี้
ปัญหาสังคมมันตั้งต้นตรงที่เริ่มมีการกอบโกย เริ่มมียุ้งฉาง เริ่มมีความคิดนึกที่จะสะสมกำลังทรัพย์ กำลังอำนาจ กำลังอะไรต่าง ๆ เพื่อจะเอาเปรียบคนอื่น ฉะนั้น ปัญหาทางสังคมนิยมก็เกิดขึ้นทันที เพราะว่า มนุษย์แยกเดินทางไปเสียจากทางที่ "พระเจ้า" กำหนดให้แล้ว ส่วนที่ธรรมชาติหรือ "พระเจ้า" กำหนดให้ นั้นเป็นไปในรูปของสังคมนิยมที่ถูกต้อง ซึ่งทำให้อยู่กันมาได้ (ดู ภาคพระไตรปิฎกแปลไทย น.๕๘)
เดี๋ยวนี้คนเริ่มใช้เสรีนิยม ต้องการจะเอาให้มาก แม้เรื่องในพระบาลีก็มีอยู่ว่า คน ๆ หนึ่งอุตริคิดว่า "การที่จะไปเก็บข้าวสาลีในป่ามากินอย่างนี้ประจำวันนั้นไม่ถูกและไม่ดี เราจะไปเอามาไว้ทีละมาก ๆ เลย" แล้วคนนั้นก็เลยไปเอามากักตุนมาก ๆ มากยิ่งขึ้นทุกทีจนคนอื่นขาดแคลน มันก็มีปัญหาที่แต่ละคนจะต้องต่อสู้กันต่อไปอีก จนมีระบบเศรษฐกิจระบบอะไรขึ้นมาในโลกเพื่อสังคมหนึ่ง ๆ ซึ่งมันเป็นเรื่อง ปั่นป่วนรวนเรทางศีลธรรมของธรรมชาติ
ทีนี้ขอให้นึกถึงคำว่า "ศีลธรรมตามธรรมชาติ" อีกทีหนึ่งเถิดว่า ที่เป็นปรกติอยู่ได้ตามธรรมชาตินั่นแหละ คือรากฐานแห่งคำว่าศีลธรรม นับตั้งแต่ก้อนหินมันปรกติอยู่ได้ เม็ดกรวดเม็ดทรายกระทั่งต้นไม้ก็ปรกติอยู่ได้ มดแมลงเป็นปรกติอยู่ได้ นี่เป็นเรื่องศีลธรรมโดยธรรมชาติโดยไม่มีเจตนาของผู้ใด แล้วนั่นแหละคือรากฐานอันแท้จริงของศีลธรรม ซึ่งเป็นรากฐานของสังคมนิยมที่สูงขึ้นไปตามลำดับ"
"คำว่าสังคมนิยมได้พูดมาแล้วข้างต้นว่า มันเป็นสิ่งที่ธรรมะจัดขึ้น หรือเป็นธรรมสัจจะของธรรมชาติมันจัดขึ้น ไม่ใช่ใครจัด ส่วนมนุษย์เรานี่ไม่ต้องพูดละ ไม่มีความสามารถอะไรที่จะไปจัด จัดคนหรือว่าจัดโลก หรือว่าจัดธรรมชาติ ฉะนั้นธรรมชาติอันลึกซึ้ง อันใหญ่หลวง มันจัดให้เป็นมาอย่างนี้ ให้รอดกันมาได้ในลักษณะอย่างนี้ ด้วยวิญญาณแห่งสังคมนิยม คือ เป็นธรรมสัจจะแห่งสังคมนิยม ถ้าไม่มาในรูปนี้มันตายหมดแล้ว ไม่เหลืออยู่ถึงบัดนี้ โดยเหตุที่มันมาในรูปนี้ โดยการจัดของธรรมชาติ มันจึงเหลืออยู่ ฉะนั้นควรจะขอบคุณสิ่งที่เรียกว่า สังคมนิยมที่เป็นเจตนารมณ์ของธรรมชาติ จะเรียกว่าสัจธรรมของธรรมชาติก็ได้ ที่จะจัดให้สิ่งต่าง ๆ เป็นมาในแบบนี้ในรูปนี้ มีความหมายเป็นสังคมนิยมโดยสมบูรณ์
ที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ในร่างกายคนนี้ก็ต้องมีระบบสังคมนิยมมันจึงรอดมาได้ ในหมู่บ้านก็มีระบบสังคมนิยมมันจึงรอดอยู่ได้ กระทั่งทั่วทั้งโลก มันจะน่าหัวมากทีเดียว ถ้าเราจะพูดว่า ในระบบจักรวาลมันก็เป็นสังคมนิยม ถ้าไม่เป็นเมื่อไหร่มันจะต้องวินาศ เราก็เรียนวิทยาศาสตร์เรื่องโลกเรื่องจักรวาล เรื่องจักรวาลทั้งหมดในโลก ในสากลจักรวาล มันก็เป็นระบบสังคมนิยม ดวงดาวไม่รู้ว่ามีมากมายเท่าไหร่ในท้องฟ้านั้น มันอยู่กันด้วยระบบสังคมนิยม มันถูกต้องอยู่ตามระบบสังคมนิยม จักรวาลนั้นมันจึงอยู่รอดได้ จักรวาลของเราเล็ก ๆ นี้มีพระอาทิตย์เป็นแม่ มีดาวเคราะห์นั้นนี่รวมทั้งโลกนี้ด้วยเป็นบริวาร มันก็อยู่กันอย่างระบบสังคมนิยม แต่มันไม่บ้า ถึงกับชนกัน เดี๋ยวนี้มนุษย์นี้ มันจะบ้าถึงขนาดที่มันจะกัดกันจะชนกัน เพราะมันไปถือสังคมนิยม แบบอธรรมไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ไม่รู้จักธรรมสัจจะของธรรมชาติ."
"...สังคมนิยมอย่างที่เรามีอยู่ในโลกนี้ มันเป็นเพียงสัจจาภินิเวส, ความคิดเห็นที่เชื่อว่าเป็นความจริง เฉพาะถิ่น เฉพาะกาล เฉพาะปัญหา ไม่ใช่ของธรรมชาติ ไม่อาจจะใช้ได้ตลอดกาล. เราจะยกตัวอย่างสักรายหนึ่งก็ได้ ที่เป็นเจ้าตำรับสังคมนิยม อย่างคนที่เรียกว่า คาร์ล มากซ์ ที่ตั้งลัทธิมากซิสม์ ก็เป็นต้นตอของสังคมนิยม, กระทั่งสังคมนิยมเข้มข้นที่สุด เป็นคอมมิวนิสซัม นี้ก็เป็นสังคมนิยม เพราะทำด้วยเจตนาที่จะทำสังคมให้มีสันติภาพหรือสันติสุข ; แต่เราจะต้องดูให้ดีว่า ปัญหามันเกิดขึ้นอย่างไร? แล้วเขามองเห็นปัญหาเหล่านั้นลึกซึ้ง ถึงกฎเกณฑ์ของธรรมชาติหรือไม่?
ข้อแรกที่จะต้องดูก็คือว่า สถานการณ์ในยุคสมัยที่ คาร์ล มากซ์ เกิดขึ้นนี้ มันเป็นอย่างไร? สถานการณ์อันเลวร้ายสมัยนั้น มันเกิดมาจากสังคมที่มันทิ้งพระเจ้า, สังคมมันทิ้งพระเจ้า ทิ้งธรรมะ ทิ้งศาสนามาแล้วตามลำดับ แล้วมันก็รุนแรงขึ้น ในยุคที่คน ๆ นี้เกิด คือ ในยุคที่เกิดช่องว่างระหว่าง คนมั่งมีกับคนยากจนเป็นไปสุดเหวี่ยง หรือคนมีอำนาจกับคนไม่มีอำนาจห่างกันสุดเหวี่ยง คนฉลาด กับคนโง่เกิดห่างกันสุดเหวี่ยงเป็นปัญหาสังคม.
เวลานั้นมันเลวร้ายอย่างกับว่าไฟไหม้บ้าน ก็น่าเห็นใจ ที่ว่าจะดับกันทันทีเฉพาะกาลหรือ เฉพาะหน้าอย่างไร ; เพราะว่าคนส่วนใหญ่นั้น มันเริ่มเป็นทาสของวัตถุนิยมมาแล้ว, มันไม่มีจิตสงพอ ที่จะย้อนหลังไปหาพระเจ้า หรือไปหาพระธรรม. ไม่ทันเวลาที่จะรอการแก้ไข ด้วยวิธีสังคมนิยมตามแบบ ของพระเจ้า. มันก็จำเป็นอยู่เอง ที่จะต้องแก้ไขอย่างขอไปที นี้คือชนิดที่ว่าจะใช้อำนาจ พละกำลัง อะไรแก้ปัญหาไปที...
ถ้าเราจะดูกันให้ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก ในยุค คาร์ล มากซ์ นี้ พวก idealism มันคงบ้ามากเกินไป คือ พวกอุดมคติมันเฟ้อจนใช้อะไรไม่ได้ ; ฉะนั้น เขาจึงไม่คิดจะแก้ปัญหาด้วยอุดมคติ หรือเรื่องทาง จิตตนิยม ; มันก็เป็นข้อเท็จจริงอยู่. แม้ว่าในยุคนั้นจะมีพุทธศาสนาแผ่ไปในโลก มันก็ไม่ไปถึงที่นั่น....
ทีนี้ยังมีความเหลวแหลกของเจ้าหน้าที่ทางศาสนาเสียเอง เข้ามาแทรก, ศาสนาคริสเตียนนั้น เป็นแน่นอน ศาสนาหนึ่ง ; ทุกศาสนา ก็มีเจ้าหน้าที่ทางศาสนา ที่กบฏต่อศาสนาโดยไม่รู้สึกตัว มันเป็นยุคที่ กำลังเหลวแหลกทางศาสนาในยุโรป ไม่มีช่องทางที่ว่า ระบบของพระธรรมหรือของพระเจ้านี้ จะมาแสดงให้เห็นว่า มนุษย์จะรอดได้โดยระบบนี้. ทุกคนมันหูอื้อตาลายไปหมด ก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นธรรมะ หรือกฎของธรรมชาติ ก็ต้องใช้วิธีเฉพาะกาลเฉพาะหน้า.
นอกจากความเหลวไหลของเจ้าหน้าที่ทางศาสนาในส่วนตัวแล้ว มันยังทำให้ถูกมองไปในระบบ ที่เรียกว่าเป็นศักดินาไปเลย. อุดมคติและเจ้าหน้าที่ของศาสนามันถูกมองไปในระบบศักดินา เห็นแก่ตัว มีอำนาจมีโอกาสที่จะเห็นแก่ตัว ; มันสูญความหมายของคำว่า "ศาสนา", พระเจ้าไม่มีวี่แวว...
เพราะฉะนั้น เมื่อพระก็กลายเป็น royalist หรือเป็น royal priest เป็นพระของเจ้านายไปเลย, เป็นพระที่เป็นเจ้านายเสียเองไปเลย ; แล้วเขาจะเข้าใจอย่างไร? เขาก็ต้องเข้าใจว่า มันใช้ไม่ได้ ศาสนา มันใช้ไม่ได้.
ทีนี้ทางฝ่ายชนกรรมาชีพมากมายนั้น มันก็แสนหิว แสนจะเดือดร้อนใครจะช่วยปัดเป่า ; มันก็ต้องมีลัทธิขอไปที ที่จะต้องใช้อำนาจใช้กำลัง ที่จะแก้ไขปัญหาข้อนี้. เพราะฉะนั้นจึงถือว่า เป็นความคิดที่ มันเกิดมาจากเหตุผลเฉพาะหน้า มันจึงไม่สมบูรณ์ ไม่เป็นสังคมนิยมสมบูรณ์ตามแบบของพระเจ้า หรือของธรรมชาติไปได้เลย. นี่มันไม่ใช่ระบบของพระเจ้า มันไม่ใช่ระบบของธรรมชาติอันแท้จริง.
สรุปความว่า ชนชั้นปกครองในขณะนั้น ก็ไม่ประกอบไปด้วยธรรม, แล้วการศึกษาก็ไม่ประกอบ ไปด้วยธรรม, แม้แต่ศาสนาก็ไม่เป็นที่พึ่ง เพราะว่าละทิ้งคุณค่าอันแท้จริงของศาสนาเสียหมดแล้ว ; ฉะนั้น เราจึงยอมรับว่า มันก็จำเป็นที่จะต้องเป็นอย่างนั้น มันทำได้ดีเพียงเท่านั้น ที่มนุษย์ในโลกนี้ จะมีระบบ สังคมนิยมขึ้นมาแก้ปัญหาชนิดรุนแรงด้านเดียว. มันไม่ใช่ระบบสังคมนิยมของพระเจ้า ; แต่เป็นระบบสังคมนิยม ตามความนึกคิดของคนบางคน ในลักษณะที่เป็นสัจจาภินิเวส ไม่สูงสุดถึงธรรมสัจจะของธรรมชาติเลย."
"...โลกจะต้องมีระบบการปกครองที่ไม่เห็นแก่ตัวคน และให้ประกอบไปด้วยธรรมะ. ระบอบการปกครองในโลกที่ไม่เห็นแก่ตัวคนตัวบุคคลคือมือใครยาวสาวได้สาวเอานี้ จะเปิดโอกาสให้ระบบการปกครองนั้นประกอบอยู่ด้วยพระธรรม หรือพระเจ้า แล้วแต่จะเรียก ไม่มีชื่อเรียกอย่างอื่น ก็เรียกไว้ทีก่อนว่า ระบบธัมมิกสังคมนิยม.
สังคมนิยม ก็แปลว่า เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ ไม่เห็นแก่ตัวเอง, ไม่เห็นแก่ตัวกูคนเดียว เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ จึงจะเรียกว่าสังคมนิยม แล้วการเห็นแก่สังคมนั้นต้องถูกต้องด้วย ; เพราะว่าผิดก็ได้เหมือนกัน. การเห็นแก่สังคมผิด ๆ ก็คุมพวกไปปล้นคนอื่น หาประโยชน์มาให้แก่พวกตัวนี้ มันก็ผิด ก็เลยต้องใช้คำว่า "ธัมมิก" ประกอบอยู่ด้วยธรรมนี้ เข้ามานำหน้าไว้ว่า ธัมมิกสังคมนิยม-ระบอบที่ถือเอาประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก และประกอบไปด้วยธรรมะ."
"ถ้าเราจะย้อนดูมาตามลำดับ จะย้อนสิ่งที่เรียกว่า ระบบการเมืองมาตามลำดับ แล้วก็ควรจะย้อนดูไปถึงยุคดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่ก่อนมีระบบการเมือง...ถ้าดูเป็นจะเห็นว่ามีซ่อนอยู่อย่างลึกซึ้งตามแบบของธรรมชาติ ; แต่ถ้าดูอย่างสายตานักการเมืองสมัยปัจจุบันแล้ว มันไม่มีระบบการเมือง ในหมู่มนุษย์สมัยหินที่ยังไม่นุ่งผ้า หรือว่านุ่งใบไม้อะไรก็ตาม เพราะว่าระบบการเมืองนี้ เขาหมายถึง ระบบที่บัญญัติกันขึ้นในยุคที่เจริญแล้วอย่างนี้.
แต่อาตมาบอกว่า ชีวิตทั้งหลายมีระบบการเมือง แม้แต่ต้นไม้ แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน แล้วก็มาถึงคน : คือ ระบบการเมืองของพระเจ้า, ระบบการเมืองของธรรมชาติ, ที่บังคับให้มนุษย์จะต้องอยู่กันอย่างถูกต้อง ในการอยู่เป็นสังคม มิเช่นนั้นจะต้องตาย จะต้องสูญหายไปหมด, เช่น ไดโนเสาร์.
สัตว์เหล่านั้นไม่รู้ และไม่มีเจตนาที่จะมีระบบการปกครอง. มันเป็นไปเองตามธรรมชาติ แล้วมันรอดอยู่ได้เพราะเผอิญบางพวกหรือบางสาย มันเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธัมมิกสังคมนิยมของธรรมชาติ คือ ถูกต้องตามธรรมสัจจะของธรรมชาติ ที่มันจะต้องประพฤติแก่กันและกันอย่างนั้น มันจึงรอดอยู่ได้...
ดูอีกทีหนึ่ง เราดูที่วัฒนธรรม. สิ่งใดที่เรียกได้ว่าวัฒนธรรมของมนุษย์ สิ่งนั้นมันก่อรูปขึ้นมาในระบบสังคมนิยม คือ ความปรองดอง ความประนีประนอม ความประพฤติต่อกันและกันในลักษณะที่ว่า ให้มันอยู่ด้วยกันได้. สัตว์เดรัจฉานมันอยู่อย่างนี้ แล้วมนุษย์แรกมีขึ้นมาในโลก มันก็ต้องอยู่อย่างนี้โดยไม่รู้สึกตัว ; กระทั่งว่ามันมีความคิดนึกขึ้นมาได้บ้าง เป็นรูปวัฒนธรรม มันก็ต้องมีหลักอันนี้ คือการไม่กระทบกระทั่งกัน. ฉะนั้น เรื่องระบบตาบูอะไรต่าง ๆ ของคนป่าสมัยหิน สมัยก่อนโน้นมันก็มีเจตนาที่จะอยู่กันอย่างสงบ; ไม่ใช่เพียงว่าจะรอดตายอย่างเดียว, รอดแล้วต้องการอยู่อย่างดีที่สุดที่ควรจะอยู่ได้. ฉะนั้น โดยเนื้อแท้มันจึงเป็นสังคมนิยม เป็นประชาธิปไตยของพระเจ้า อย่างไม่รู้สึกตัว."
"ทีนี้ให้ดูสูงขึ้นมาอย่างที่พูดว่า เจตนารมณ์ของสังคมนิยมมีอยู่ในพระพุทธศาสนา ถ้าจะพูดอย่างไม่เอาเปรียบกันก็จะต้องพูดให้กว้างออกไปถึงกับว่า ในศาสนาก็คือทุกศาสนาเลย เพราะว่าก่อนพุทธศาสนา โลกก็ต้องมีศาสนาอะไรอยู่แล้ว จึงพูดว่าในพุทธศาสนาและในทุกศาสนา ก็มีรากฐานที่ตั้งขึ้นมาบนอุดมคติอันนี้ เพื่อเมตตากรุณาต่อสิ่งทั้งปวง แล้วสูงขึ้นมาถึงกับยอมรับรู้ในความเสมอภาคกัน หรือว่าในเสรีภาพของกันทุกอย่างที่ว่ามันจะประสานกันไว้ได้ หรือมันสัมพันธ์กันไว้ได้ จนกระทั่งว่าเกิดคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา"
๑. โครงสร้างสังคมนิยมในระบบ "สังฆะ"
"พระพุทธองค์ทรงบัญญัติระบบวินัย จะทำให้เราเห็นได้ทีเดียวว่า เป็นระบบที่ผูกพันกันไว้ เป็นพวกเป็นหมู่ไม่แยกออกจากกันไป รู้ได้ตรงคำว่า "สงฆ์" นั่นเอง คำว่า สังฆะ พระสงฆ์ ตัวหนังสือ แปลว่า หมู่ หรือ พวก มันไม่ได้แปลว่า เดี่ยว คนเดียว เมื่ออยู่เป็นหมู่เป็นพวก มันก็ต้องมีอะไรที่จะเป็น เครื่องยึดเหนี่ยว หรือมีหลักธรรมสัจจะอันใดอันหนึ่ง ที่จะทำให้คณะสงฆ์ตั้งอยู่ได้เป็นหน่วยเดียว จากส่วนประกอบของหน่วยหลายร้อยหลายพันหลายหมื่นหน่วย ดึงเข้าเป็นสังคมที่ถูกต้อง ที่อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก
ถ้าจะดูให้ดีก็จะยิ่งเห็นมากขึ้นไปอีกว่า นี่มันเป็นการสอดคล้องกับธรรมชาติมากที่สุด และยังจะ ป้องกันเหตุการณ์เลวร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า"
๒. การไม่เอาส่วนเกินในปัจจัยสี่ที่บัญญัติไว้ในวินัยของภิกษุ
"อย่างระเบียบวินัยในพระพุทธศาสนานี้ ก็ให้สันโดษ พอดี รู้จักพอดีในการเป็นอยู่ ยิ่งเป็นพระสงฆ์คือภิกษุละก็ได้รับวางกฎเกณฑ์ไว้เป็นพิเศษ ไม่ให้กอบโกยส่วนเกิน ใช้คำอย่างนี้คำเดียวพอ
พระสงฆ์นี่จะเอาอะไรเกินไม่ได้ ถ้าเกินกว่าที่จำเป็นแล้วจะผิดวินัยทั้งนั้น นี่เป็นหลักทั่วไปที่ควรจะทราบไว้เป็นชั้นหนึ่งก่อนว่า ถ้าพระสงฆ์ไปเอาอะไรที่เป็นของเกินจำเป็นแล้ว จะผิดวินัยทั้งนั้น แล้วบางอย่างจะผิดธรรมะด้วย แล้วบางอย่างก็จะผิดวินัยอันร้ายแรงด้วย ดูตัวอย่างเช่นว่า เราจะต้องมีจีวร ๓ ผืน มีมากกว่านั้นก็ต้องเกิดเป็นปัญหายุ่งยากลำบาก ถึงกับต้องเป็นอาบัติ แม้แต่บาตรก็มีได้ แต่เพียงใบเดียว กุฏิก็ให้มีได้เพียงขนาด ๑๒ คืบ x ๗ คืบ เท่ากับห้องน้ำที่ตรงโน้นนั้นแหละ กุฏิที่จะมีได้เอง ทีนี้จะต้องมีเรื่องสันโดษอีกมาก สิ่งที่ไม่ควรมีมีไม่ได้ มันไม่เพียงแต่ผิดวินัย มันทำลาย ความก้าวหน้าทางธรรม
ถ้าพระสงฆ์หรือภิกษุสงฆ์ ที่ต้องการก้าวหน้าตามทางธรรมแล้ว ไปมีอะไรที่เกินจำเป็น เป็นส่วนเกินแล้ว มันก้าวหน้าไปไม่ได้ มันจะกลายเป็นผู้ที่รุงรังไปด้วยทรัพย์สมบัติอะไรต่าง ๆ นี่การที่ไม่เอาส่วนเกินนี้มันมีผลดีอย่างนี้"
๓. อุดมคติ "ไม่เอาส่วนเกิน" คือ รากฐานของสังคมนิยม
จะมองไปอีกชั้นหนึ่งว่า ถ้าแต่ละคนไม่เอาส่วนเกินแล้วมันก็จะเหลืออยู่มาก ส่วนเกินนั้นมันก็ ตกทอดไปเป็นของคนอื่น คนอื่นก็ไม่ขาดแคลน ถ้ากอบโกยส่วนเกินกันไว้มาก มันก็ต้องขาดแคลน พวกคนที่ยากจนก็ต้องมีมากโดยเร็ว ทีนี้ถ้าว่าไม่เอาส่วนเกิน ก็ไม่เกิดคนยากจน คนที่เอาส่วนเกินนั้น มันเอามาก ๆ เข้าด้วยความละโมบ ด้วยแผนการสกปรก ลึกลับ ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่เท่าไรก็ทำให้เกิด การขาดแคลนกันใหญ่หลวง พวกอื่นก็เป็นคนยากจน ฉะนั้น อุดมคติอันนี้ที่ว่า ไม่เอาส่วนเกินของ ภิกษุสงฆ์นี้ คือรากฐานอันแท้จริงของสิ่งที่เรียกว่าสังคมนิยม
๔. มนุษย์ต้องอยู่กันเป็นสังคม ช่วยเหลือกันและกัน เสียสละเพื่อผู้อื่น
นอกจากนั้นก็ยังมีระเบียบวินัยอะไรต่าง ๆ ที่วางไว้ชัดเจนว่าต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อุดมคติ ของโพธิสัตว์นั้นมีมาก่อนพุทธศาสนาก็ว่าได้ ต้องช่วยเหลือผู้อื่น เสียสละเพื่อผู้อื่น แม้ชีวิตของตัวก็สละได้ นี่ก็เพราะว่าเห็นแก่สังคม ในพุทธศาสนาก็ยอมรับอุดมคติอันนี้ ยอมนับเนื่องเข้าไว้ในพระพุทธศาสนา นั่นก็เพราะมีเจตนาของสังคมนิยมมากในทุกด้าน ในทุกแง่ทุกมุม เท่ากับธรรมสัจจะของธรรมชาติ คือไม่มีอะไรที่จะอยู่แต่ลำพังส่วนเดียว ตัวเดียวโดดเดี่ยว คนเดียวได้ แม้ว่าต้นไม้ต้นหนึ่งถ้ามันอยู่ เดี่ยว ๆ มันก็จะหักโค่นล้มได้โดยง่าย แม้สัตว์มันก็ต้องอยู่กันเป็นฝูงเป็นพวก มนุษย์ก็เหมือนกัน
คำว่าอยู่กันเป็นสังคมนี้ เป็นความต้องการของธรรมชาติ ถ้าจะมองไปถึงขนาดที่เรียกว่า ต้องการสืบพันธุ์ จึงจะมีลูกหลานเหลืออยู่นี่มันก็เป็นเรื่องสังคมด้วยเหมือนกัน ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่มีอะไร ที่จะเหลืออยู่เป็นหมู่เป็นพวก เป็นหมู่สัตว์ในโลกนี้ขึ้นมา จงนึกถึงการประพฤติกระทำให้ถูกต้อง ในการที่จะสืบพันธุ์มีลูกหลาน มีอะไรถูกต้องอย่าให้มันเป็นอันตรายผิดพลาด ในโลกนี้จึงมีสัตว์ที่มีชีวิต ทวีขึ้น ๆ ในลักษณะที่น่าประหลาด"
๕. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นไปอย่างเกื้อกูล ไม่เอาเปรียบทางชนชั้น
"ทีนี้มาดูสาวก สาวิกา อุบาสก อุบาสิกา เขาจะมุ่งกันแต่กินอยู่พอดีเท่านั้นแหละ เมื่อเหลือ มันก็หล่นไปเป็นของสังคม ขอให้ดูเศรษฐีผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ถ้าเป็นเศรษฐีทางพุทธศาสนา ละก็ประหลาดเหลือประมาณ เพราะคำว่า เศรษฐี นั้นหมายถึงผู้ที่มีโรงทาน ถ้าไม่มีโรงทานก็ไม่ใช่เศรษฐี ถ้าเป็นมหาเศรษฐีก็ยิ่งมีโรงทานมาก นายทุนสมัยนี้มีโรงทานอย่างนี้หรือเปล่า? ถ้าไม่มีก็ไม่ใช่ความหมาย เดียวกันกับเศรษฐีพุทธบริษัทในครั้งพุทธกาล อันเป็นสังคมนิยมร้อยเปอร์เซ็นต์
พวกนายทุน เช่น พวกเศรษฐีพุทธบริษัทครั้งพุทธกาลนั้น ชนกรรมาชีพไม่ควรแตะต้อง ควรจะบูชามากกว่า แต่ถ้าความหมายของนายทุนมีว่า กอบโกยรวบรวมอิทธิพลอำนาจเงินอำนาจอะไร ต่าง ๆ ไว้สำหรับร่ำรวยยิ่ง ๆ ขึ้นไป มันก็เดินคนละทางแล้ว นายทุนผู้เลี้ยงโลกกับนายทุนผู้กอบโกย
ดูต่อไป แม้แต่คำว่า ทาส บ่าว ขี้ข้า สมัยโน้น ถ้าเป็นแบบพุทธบริษัทก็เป็นสังคมนิยม ทาสชนิด นั้นไม่อยากไปจากเศรษฐี แต่ถ้าเป็นทาสสมัยนี้ เขาเกลียดนายทุนอยากจะไปจากนายทุน ถ้าเป็นเศรษฐี มีทาสสมัยพุทธกาล เศรษฐีพุทธบริษัทนั้นเขาเลี้ยงทาสอย่างเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ช่วยกันผลิต วันพระก็ไปรักษาศีลด้วยกัน ถ้าเป็นวันผลิตก็ผลิต ผลผลิตได้มามีไว้สำหรับโรงทาน เศรษฐีจะสะสม ทรัพย์ ฝังไว้ ซ่อนไว้ เป็นทองเป็นอะไรก็ตามแต่ นั่นเพื่อเป็นทุนสำรองของโรงทานหรือเพื่อลูกเพื่อหลาน ข้างหน้าจะได้ใช้ทรัพย์นั้นเพื่อหล่อเลี้ยงโรงทาน..."
"ปัญหาที่ว่าเท่าไรพอดีอย่างนี้ก็ไม่มีอะไรบัญญัติไว้ มันก็ต้องแล้วแต่ว่าเหตุผลหรือว่ายุค หรือว่าสมัย ที่ว่าเราจะมีอะไรเท่าไรจึงจะเรียกว่าพอดี เดี๋ยวนี้เราไม่มีกฎเกณฑ์อันนี้ เท่าไร ๆ ก็ไม่พอ จนถึงกับมีพุทธภาษิตว่า "ให้ภูเขากลายเป็นทองคำขึ้นมาทั้งลูกสักสองลูก ก็ไม่พอแก่ความต้องการของ คน ๆ เดียว" ภูเขาทองคำแท้ ๆ ตั้งสองลูกก็ไม่พอแก่ความต้องการของคน ๆ เดียว นี่ไปวัดคำนวณ ดูเองว่ามันจะสักเท่าไร เดี๋ยวนี้ก็พอจะเข้าใจได้ว่าจิตใจมันขยายไปในทางต้องการส่วนเกินนั้นคือ การริบเอาประโยชน์ของสังคมมาเป็นของตน
...เดี๋ยวนี้เราต้องการที่จะให้เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ไม่กอบโกยส่วนเกิน แล้วอะไรจะเกิดขึ้น มันก็คือ ความเมตตากรุณา ทุกคนแบ่งไว้เจียดไว้สำหรับที่จะเลี้ยงอัตภาพ ที่เหลือเป็นส่วนเกิน ก็ให้แก่สังคม
แล้วยิ่งกว่านั้น คำว่า ส่วนเกิน นี้ยืดหยุ่นได้มาก เป็นคำที่มีความหมายยืดหยุ่นได้มาก ที่เขาว่า ไม่เป็นส่วนเกินนั้นก็ยังเป็นส่วนเกินได้ เช่น เราจะเจียดประโยชน์ของเราที่กินที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ออกไปสัก ๕% นี้ก็ยังอยู่ได้และไม่ตาย เพราะฉะนั้นเราต้องหัดให้มนุษย์ในโลกรู้จักเจียดออกให้เป็นส่วนเกิน จากสิ่งที่เขาไม่เห็นว่าเป็นส่วนเกิน นั่นแหละคือศีลธรรมของพระเจ้าที่จะช่วยมนุษย์ได้...
สังคมนิยมควรจะมีหลักสั้น ๆ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติว่า ทุกคนอย่ากอบโกยส่วนเกิน พยายามเจียดส่วนเกินออกไปเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นให้ได้ แต่ไม่ได้ห้ามว่าอย่าผลิตส่วนเกิน ทุกคนมีสิทธิ และสมควรอย่างยิ่งที่จะผลิตส่วนเกินขึ้นมา แต่ว่าส่วนเกินนั้นควรจะเพื่อประโยชน์แก่สังคม และ ก็ระวังให้ดี ๆ ว่า ที่ว่าไม่เกิน ๆ นั้นแหละก็ยังเกินยังเจียดได้."
"ทีนี้มาดูคำว่า ทศพิธราชธรรม... นี่คือสังคมนิยมที่มีประโยชน์ที่สุด พระเจ้าแผ่นดินประกอบด้วย ทศพิธราชธรรม ถ้าท่านทั้งหลายเคยเป็นนักเรียนมาอย่างถูกต้อง ในหลักสูตรชั้นมัธยมปลายหรือว่า ชั้นมหาวิทยาลัย ในแบบเรียนจะมีเรื่องทศพิธราชธรรมให้เรียนบ้างกระมัง คงจะไม่ใคร่สนใจว่า ทศพิธราชธรรมคืออะไร เรื่องนี้มีบัญญัติไว้ชัดเป็นตัวอักษรอยู่ในพระคัมภีร์โดยเฉพาะทางพุทธศาสนา นี้เรียกว่า ธรรม ๑๐ ประการ สำหรับความเป็นพระราชา...
๑. ทานํ คือ ให้ทาน มีแต่การที่จะให้ ไม่รับ
๒. สีลํ นี้คือ ความหมายของ ศีลธรรม จะเป็นผู้มีศีลธรรมมีความเป็นปรกติ ไม่ถูกกิเลสบีบบังคับนี่คือมีศีล
๓. ปริจฺจาคํ มาบริจาคอีกที คือ บริจาคเรื่องภายในที่เลวออกไปเสีย เช่น ความเห็นแก่ตัว เป็นต้น
๔. อาชฺชวํ คือ ความตรง ความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา
๕. มทฺทวํ ความอ่อนโยน นิ่มนวล แม้แก่ราษฎร
๖. ตปํ คือ ตบะ นี้ตรงกับคำว่า บังคับตัวเองอยู่ self-control นั่นแหละ ตรงกับคำว่า ตบะ พระราชาจะต้องมีตบะ บังคับตัวอย่างยิ่งเสมอ
๗. อโกธํ นี้โกรธไม่ได้ โกรธไม่เป็น
๘. อวิหึสํ ทำให้คนอื่นเดือดร้อนไม่ได้ แม้โดยมีเจตนา เช่น เผลอ เป็นต้น
๙. ขนฺตึ คือ ขันติ อดทน อดกลั้น ยอมรับไว้เป็นภาระส่วนตัวที่อดกลั้น
๑๐. อวิโรธนํ คำสุดท้าย คือ ไม่มีอะไรพิรุธ ไม่มีความพิรุธอุตริในแง่ใดก็ตาม
ทศพิธราชธรรมคืออย่างนี้ พระราชาองค์ไหนที่ประกอบด้วยทศพิธราชธรรมอย่างนี้จะมีปัญหาอะไรอีก ที่จะไม่เรียกว่ามีวิญญาณแห่งสังคมนิยมเหลือประมาณ แล้วทำไมจะต้องเลิกระบบ พระราชาระบบนี้ ถ้าพระราชาระบบนี้เผด็จการ** ก็จะเป็นอย่างที่พระเจ้าอโศกเผด็จการ เผด็จการไม่ยอมให้ทำผิดทำชั่ว เผด็จการให้ทำดีก็ไปได้เร็วเท่านั้นเอง...
พระราชาที่ดีนั้นไม่ใช่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างที่เอาไปตำหนิกันอยู่ แล้วพอไปเข้าใจคำนี้ผิด ก็เลยถือว่าระบบพระราชาผิดทั้งนั้น นี้เป็นเรื่องเข้าใจผิด ถ้าเข้าใจถูกจะมองเห็นว่า พระราชาที่ประกอบไปด้วยทศพิธราชธรรม เป็นสังคมนิยมอย่างพระเจ้าสมมติราชองค์แรกในโลกก็ตาม กระทั่ง พระเจ้าอโศกมหาราช กระทั่งพ่อเมืองยุคกรุงสุโขทัย แม้กระทั่งยุคกรุงศรีอยุธยาก็ย่อมจะต้องมีอยู่ แต่คนมองไม่เห็น
ระบบพระราชาที่ประกอบด้วยทศพิธราชธรรม เป็นสังคมนิยมบริสุทธิ์นี้ ไม่ใช่ระบบที่ต้องเลิกและ ไม่ใช่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เขาเกลียดชัง ระบบนี้บางทีจะแก้ปัญหาของโลกได้ดีกว่าระบบใด"
"...ธรรมิกสังคมนิยมที่ถูกต้องจะกลับมา ก็เพราะว่า เราเข้าใจสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ตรงตาม ข้อเท็จจริงของธรรมชาติ หรือของกฎของธรรมชาตินั้นเอง.
- ตั้งต้นด้วยข้อเท็จจริงพื้นฐานที่สุดที่ว่า ชีวิตนี้มันคือนามรูปหรือกายใจ, เราได้ยินอย่างนี้ กันมากทั้งนั้น แต่เข้าใจความหมายผิด ไปแยกกายออกจากใจ แยกใจออกจากกาย หรือไปแยกนาม ออกจากรูป ไปแยกรูปออกจากนาม... ถ้าเรามองเห็นอย่างนี้ ว่ากายกับใจเป็นสิ่งที่เป็นสิ่งเดียวกัน อย่างนี้แล้ว ไม่มีทางที่จะเป็นวัตถุนิยมได้เลย หรือว่าไม่บ้าหลังถึงกับว่า เอาแต่จิตตนิยม มโนนิยม อย่างเดียวได้ มันจะถูกอยู่ตามธรรมชาติ. ถ้าเราจะพูดว่า สังคมนิยม นิยมการสังคม ก็อย่าเพ่อไปคิดถึง สังคมอื่นเลย คิดถึงสังคมของกายกับใจก็แล้วกัน. กายกับใจนั่นแหละเป็นตัวสังคมที่ดี มันต้อง เข้ากันได้อย่างถูกต้อง จนเรียกว่า ธรรมิกสังคมนิยม คือกายกับใจมันเข้ากันได้อย่างถูกต้อง ตามทางธรรมหรือตามธรรมชาติ.
ทีนี้ เมื่อเรามีธรรมิกสังคมนิยมที่กายกับใจในภายในอย่างถูกต้องแล้ว ; มันก็ง่ายนิดเดียว ที่จะมีสังคมนิยมภายนอก คือ ระหว่างบุคคล ระหว่างประเทศ ระหว่างอะไรกัน กระทั่งทั้งโลกนี้ จะมีธรรมิกสังคมนิยมอย่างถูกต้องได้...
- จะแก้ปัญหาได้ ต้องไม่เป็นทาสของวัตถุ กันทั้งนายทุนและชนกรรมาชีพ ; เดี๋ยวนี้ พูดผ่าซากลงไปได้เลย แล้วก็มองเห็นด้วย มองเห็นได้จริงด้วยว่า นายทุนก็เป็นทาสวัตถุ, ชนกรรมาชีพ ก็เป็นทาสฝ่ายวัตถุ, แล้วมันจะถูกต้องกันได้อย่างไร มันก็มีแต่แย่งชิงกัน. ฉะนั้น พอเลิกเป็นทาส ทางวัตถุกันเสียเท่านั้น ก็หมดความเป็นนายทุน หรือความเป็นชนกรรมาชีพ. ทั้งนายทุนและชนกรรมาชีพ กลายเป็นผู้ที่ต้องการที่จะร่ำรวยด้วยบุญ เสียอย่างเดียวเท่านั้น หมดปัญหา...
- เจตนารมณ์ของการเมือง ต้องเป็นศีลธรรม... อย่าลืมว่า การเมืองนี้ เราให้ความหมายว่า มันเป็นเรื่องถูกต้องของการปฏิบัติของมนุษย์ ในการเป็นอยู่ร่วมกันอย่างมาก ๆ อย่างผาสุก เพราะว่า ทำถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ; เจตนารมณ์ของการเมืองเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นตามความประสงค์ ของทุกคนที่อยู่ร่วมกัน....
แม้แต่ธรรมชาติ ถ้าว่าเราจะมองดูธรรมชาติ ในฐานะที่ให้มันมีเจตนาก็จะต้องรู้สึกว่า, จะต้อง มองเห็นว่า มันก็มีเจตนาเพื่อสันติภาพ ; สีลภาวะ หรือ ภาวะแห่งความปรกตินั้น เป็นวัตถุประสงค์ ของธรรมชาติ. ถ้าผิดปรกติวุ่นวายแล้วไม่ใช่วัตถุประสงค์ของธรรมชาติ ; และไม่ตรงกับความหมาย ของคำว่า "ศีละ"
ฉะนั้น การเมืองนี้ ถ้ามันบริสุทธิ์ มันก็เพื่อความสงบ หรือสันติภาพของมนุษย์นั่นเอง... ถ้าการเมือง ไม่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ หรือพระธรรมแล้ว มันก็เป็นระบบโจรที่ปล้นธรรมชาติ โจรที่ทำลายธรรมชาติ โจรที่ทำลายทรัพย์สมบัติของพระเจ้านั่นเอง...
- อุดมคติต้องเป็นไปตามธรรมสัจจะของธรรมชาติ ในที่สุดนี้ ให้มองเห็นสิ่งที่เรียกว่า อุดมคติเสียใหม่อย่างถูกต้อง ว่าอุดมคตินั้น เราชอบกันนักหนา เราบูชากันนักหนา. แต่แล้วมันก็ผิดได้ ถ้าอุดมคตินั้นมันเป็นเพียงสัจจาภินิเวส เป็นความจริงเฉพาะคน ที่ยึดถือดื้อรั้นไปคนเดียว ; เช่น อุดมคติทางการเมืองพวกหนึ่งสายหนึ่งนี้ มันเป็นสัจจาภินิเวสทั้งนั้น ไม่ใช่ของจริงของพระเจ้า อย่างนี้เป็น อุดมคติที่ใช้ไม่ได้...
ฉะนั้น อุดมคติทางการเมือง มันจึงเป็นปัญหาอยู่ มันถูกหรือผิด นี้มันมีปัญหาอยู่ ; แต่เราจะทำให้
หมดปัญหาได้ไม่ยาก โดยทำให้มันประกอบไปด้วยธรรมซึ่งมีรากฐานอยู่ที่ความไม่เห็นแก่ตัว. ทุกอย่าง
มอบให้พระเจ้า มอบให้ธรรมะ มอบให้ความถูกต้อง หรือความยุติธรรม. อย่าเอาตัวกูเป็นใหญ่ เป็นตัวกูนิยม."
การแก้ไขปัญหาสันติภาพสองระดับ
"- เขามีการศึกษาดี ถูกต้อง ไม่เป็นการศึกษาแบบสุนัขหางด้วน.
- เขามีสุขภาพอนามัยดีทั้งทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ.
- เขามีครอบครัว มีการเป็นอยู่อย่างครอบครัวที่ถูกต้องทั้ง ๖ ทิศ.
- เขามีเศรษฐกิจดี กินอยู่พอดี เหลือทำประโยชน์เพื่อนมนุษย์.
- เขามีธรรมะเป็นหน้าที่ เขาทำงานสนุก เขาไม่มีปัญหาเรื่องปัจจัยอะไร.
- เขารักเพื่อนมนุษย์ คือรักผู้อื่น.
- เขามีศีลธรรม ทำความปรกติ.
- เขามีสัมมาทิฏฐิ ความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความรู้ ถูกต้อง.
- แล้วเขาเป็นมนุษย์เย็น.
บุคคลแต่ละคนที่ประกอบไปด้วยคุณธรรมเหล่านี้ เป็นส่วนประกอบที่ดีที่สมบูรณ์ สำหรับจะสร้างโลกนี้ให้มีสันติภาพ. นี้ส่วนบุคคล, ส่วนบุคคลแต่ละคนที่อยู่ในโลกที่จะสร้างสันติภาพ."
"ทีนี้ก็จะพูดถึงระบบการเป็นอยู่ การควบคุม การปกครอง ของบุคคลเหล่านั้น ที่มักจะเรียกรวม ๆ กันว่าระบบการเมือง ระบบเศรษกิจ, เรียกง่าย ๆ ก็ว่าที่จะเป็นผู้ปกครองก็แล้วกัน เป็นคณะผู้ปกครอง จะเรียกว่ารัฐบาลหรืออะไรก็จะยังไม่หมด เพราะว่ามันยังรวมหลายฝ่ายที่รวมกันทำหน้าที่ปกครอง ทุก ๆ ระบบที่เป็นระบบการปกครอง ระบบการควบคุมมนุษย์จะต้องถูกต้องด้วย ; มนุษย์แต่ละคนจะต้องถูกต้องแล้ว, ระบบการควบคุมการเป็นอยู่ของมนุษย์จะต้องถูกต้องด้วย นี้เป็นเรื่องที่ ๒ คือว่าสังคมนั้นจะต้องมีความถูกต้อง.
ในสังคมมนุษย์นั้นมีระบบเศรษฐกิจที่ถูกต้องเป็นข้อแรก เพราะมันมีอิทธิพลมาก. เขามีระบบที่อาตมาเรียกชื่อเอาเองว่า ธัมมิกสังคมนิยม คนมั่งมีกับคนยากจนบวกกันเข้าแล้วทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม, เป็นระบบเศรษกิจที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ แต่กลับส่งเสริมทรัพยากรของธรรมชาติ จะออกผลออกประโยชน์มาได้อย่างไร เขาก็ไม่ทำลาย, นอกจากจะเก็บเอาผลประโยชน์นั้นแล้ว ยังส่งเสริมให้ผลประโยชน์ยิ่งขึ้นไป. ต้องเป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ, ต้องเป็นระบบที่ทำสิ่งที่มีค่าน้อยให้มีค่ามาก หรือถึงกับว่าระบบที่ทำให้สิ่งที่ไม่มีค่ากลายเป็นของมีค่า. นี่เป็นเศรษฐกิจทางวิญญาณไปแล้ว, เศรษฐกิจทางวิญญาณทางธรรมะ ทำร่างกายหรือชีวิตที่ไม่มีค่านี้ ให้กลายเป็นของมีค่า, ร่างกายอันเน่าเหม็นก็ไม่มีค่า ตายแล้วให้ใครก็ไม่มีใครเอานี้ แต่กลับทำให้ มีประโยชน์ถึงสูงสุด บรรลุมรรคผลนิพพานได้ นี่เป็นยอดเศรษกิจ. เราจะต้องถือว่า พระพุทธเจ้านั้น ท่านทรงเป็นยอดนักเศรษฐกิจ, เป็นนักเศรษฐกิจชั้นยอด คือทำสิ่งที่ไม่มีค่าให้เป็นของมีค่าสูงสุด ขึ้นมาได้. แต่เอาละเดี๋ยวนี้ไม่ต้องถึงนั้นดอก, คนธรรมดาสามัญทั่วไปนี้ มีระบบเศรษฐกิจชนิดที่ไม่ทำลาย ที่มาแห่งประโยชน์ ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลาย แต่กลับทะนุบำรุงส่งเสริม.
คนยากคนจนคนพิการคนอะไรก็ตาม เป็นฝ่ายหนึ่ง, แล้วคนมั่งมีอำนาจวาสนา นั้นอีกฝ่ายหนึ่ง, บวกกันเข้าแล้วร่วมทำประโยชน์แก่สังคม เพราะมีหลัก เกิด แก่ เจ็บ ตาย ร่วมกัน
...ถ้าเราจะมีระบบเศรษฐกิจที่ดี ไม่ให้สูญเสียไปเลยทั้งฝ่ายคนมั่งมีและคนยากจนแล้ว มันก็ต้องบวกกันเข้า เกิดประโยชน์และก็ปันกันเต็มที่, แล้วให้มีส่วนเหลือเพื่อทำประโยชน์แก่สังคม. อาตมาเรียกเอาเองว่า ธัมมิกสังคมนิยม คือมันต้องเป็นระบบสังคมนิยม ต้องเอาสังคมเป็นใหญ่, เอาบุคคลเป็นใหญ่ไม่ได้ แล้วมันต้องประกอบไปด้วยความถูกต้องที่ทำให้มันอยู่กันได้ จึงต้องเรียกว่า ธัมมิกะ.
คำว่าการเมือง การเมือง เขาจะพูดกันอย่างไรก็ไม่รู้ตามปรัชญาการเมืองของเขาอาตมาไม่รู้ดอก แล้วไม่อยากจะรู้ด้วย, จะรู้เพียงแต่ว่า การเมือง คือ ระบบที่ทำให้อยู่กันเป็นผาสุก โดยไม่ต้องใช้ศาสตรา โดยไม่ต้องใช้อาญา, ไม่ต้องใช้ศาสตรา ไม่ต้องใช้อำนาจอะไร, เราอยู่กันได้ ตกลงกันได้ เข้าใจกันได้ อยู่กันอย่างความเป็นสุขสงบสุข เป็นผาสุก โดยไม่ต้องใช้ศาสตรา, นั้นแหละคือระบบการเมืองที่เราต้องการในที่นี้ ; แต่มันก็ต้องประกอบด้วยส่วนประกอบหลาย ๆ อย่าง เช่นว่ามันจะต้องเป็นอย่างที่มีอยู่นี้จะต้องมีรัฐบาล มีการบริหาร มีตุลาการ มีนิติบัญญัติ มีสภา มีตุลาการ เอาละ, เรายอมรับสิ่งเหล่านี้ว่าต้องมีในระบบการเมือง แต่ขอให้มันถูกต้อง.
ให้มีรัฐสภา หรือสภาประชาชน ที่ออกกฎหมายโดยถูกต้องสมควรแก่สถานการณ์จริงๆ ; แต่ถ้าเอาคนโง่มาเป็นสมาชิก มันก็ทะเลาะกันไม่มีที่สิ้นสุดแหละ, มันต้องมีคนที่มีธรรมะ มีศีลธรรม หรือเป็นมนุษย์อย่างที่กล่าวมาข้างต้นถูกต้องนั้น มาเป็นสมาชิกของรัฐสภาหรือสภาประชาชน...
แล้วจะต้องมีการควบคุมรัฐบาลอย่างถูกต้อง ควบคุมรัฐบาล สภาต้องควบคุมรัฐบาล ควบคุมรัฐบาลด้วยจิตใจที่เป็นธรรม, ไม่ใช่เพื่อจะล้มรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา. เดี๋ยวนี้เรามีพรรคการเมืองที่พร้อมจะล้มรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา จนไม่มีเวลาทำงานทำหน้าที่, พรรคการเมืองนี้ที่จริงส่วนใหญ่แล้ว มันเป็นของที่ไม่น่าเสน่หา เพราะว่าพรรคการเมืองมันเห็นแก่พรรคยิ่งกว่าเห็นแก่ชาติ, พรรคการเมืองไหน ๆ ก็ตาม มักเห็นแก่พรรคมากกว่าเห็นแก่ชาติ มักเห็นแก่พรรคมากกว่าเห็นแก่ชาติทั้งนั้นแหละ. อาตมาคิดว่าทั้งโลกเลย จะเอาพรรคอยู่รอดและเอาพรรคเจริญก่อนชาติเจริญ, เพราะมันมีพรรคอย่างนี้แหละมันเลยยุ่ง ; ถ้ามันไม่มีพรรคมันมีพรรคเดียว ทุกคนมุ่งหน้าต่อประเทศชาติแล้ว มันคงจะไม่ยุ่ง...
แล้วจะต้องมีรัฐสภาหรือผู้แทนราษฎร ที่สื่อความประสงค์ของประชาชนอย่างถูกต้อง อย่างครบถ้วน ; ถ้ามันเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภา มันก็ต้องเป็นผู้แทนราษฎรชนิดที่สื่อความประสงค์ของราษฎร ให้แก่สภาหรือแก่รัฐบาลอย่างถูกต้องและครบถ้วน...
ในที่สุดเราจะพูดว่า เขาจะต้องถือหลักศีลธรรมเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ทุกแขนง ; รัฐบาลก็ดี รัฐสภาก็ดี ตุลาการก็ดี อะไรก็ดี ที่รวมกันเป็นระบบการปกครองนี้ จะต้องมีศีลธรรมเป็นหลัก ให้เรามีความเป็นชาติที่มีศีลธรรม, ให้เรามีความเป็นชาติหรือชาติที่มีศีลธรรม ซึ่งจะต้องรวมถึงว่า มีวัฒนธรรม มีศาสนา มีขนบธรรมเนียมประเพณี อะไรที่ถูกต้อง. แต่เราใช้คำว่าศีลธรรมคำเดียวก็พอ ถ้ามีศีลธรรมได้จริง มันไม่เสียในทางวัฒนธรรมหรือศาสนาใด ๆ. นี่ระบบการปกครองทุกแขนง ไม่ว่าจะไปในทิศทางไหน จะต้องมีความเป็นธรรม คือมีศีลธรรมในการปฏิบัติหน้าที่การงาน.
อาตมาเคยพูดไปตามไม่มีอำนาจอะไร แต่ก็พูดว่า เราควรจะมีกระทรวงศีลธรรม, มีกระทรวงศีลธรรมขึ้นมา สำหรับควบคุมกระทรวงทุกกระทรวงให้มีศีลธรรม, มีกระทรวงศีลธรรม เพื่อควบคุมกระทรวง ทุกกระทรวงหรือทุกบุคคลให้มีศีลธรรม. เดี๋ยวนี้ดูสิในโลกนี้ ประเทศไหนบ้างที่มีกระทรวงศีลธรรม จะมีก็แต่ชื่อดูไม่ค่อยมี, จะมีกระทรวงวัฒนธรรมและศาสนาดูเหมือนจะได้ยินอยู่บ้าง, แต่ว่ากระทรวงศีลธรรมไม่เคยได้ยิน. แต่เราต้องการให้ในโลกนี้ ทุกประเทศมีกระทรวงศีลธรรมซึ่งมีศีลธรรมจริง แล้วมันควบคุมทุกกระทรวงให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีศีลธรรม, แล้วประเทศชาติก็วิเศษ เป็นโลกพระศรีอารยเมตไตรย โดยแน่นอน...
แยกออกมาเฉพาะระบบการปกครอง ที่เป็นธัมมิกประชาธิปไตย คือเป็นประชาธิปไตยที่ประกอบไปด้วยธรรม, ประชาธิปไตย ถ้าว่าประชาชนหรือคนแต่ละคนมันไม่มีศีลธรรมแล้วมันก็วินาศแหละ วินาศในเวลาอันสั้น, ถ้าประชาชนทุกคนไม่มีศีลธรรมแล้วเอามาเป็นใหญ่สำหรับปกครองบ้านเมือง พักเดียวมันก็ทำวินาศหมด. เราต้องมีประชาธิปไตยที่ประกอบไปด้วยธรรม เรียกว่าธัมมิกประชาธิปไตย นี้เกี่ยวกับการปกครอง. ธัมมิกสังคมนิยม นั้นมันเกี่ยวกับเศรษฐกิจ, ถ้าธัมมิกประชาธิปไตย นี้มันเกี่ยวกับการปกครอง เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาความถูกต้องเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาธิปไตยของคนเห็นแก่ตัว, เอาคนที่เห็นแก่ตัว เต็มอัดทุก ๆ คน มาเป็นระบบปกครองเป็นประชาธิปไตย มันก็ฆ่ากันตายหมดแหละ ด้วยความต่างคนต่างเห็นแก่ตัว ต่างคนต่างเห็นแก่ตัว. ฉะนั้นประชาธิปไตยต้องจำกัดความให้ดี ๆ ว่าต้องของประชาชนที่มีศีลธรรม เลยต้องใช้คำว่า ธัมมิกประชาธิปไตย, มีธรรมเป็นหลัก มีความถูกต้องเป็นหลัก อย่าเห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ธรรมะ, เห็นแก่ธรรมะ แล้วก็อย่าเห็นแก่ตัว. นี่เรียกว่า มีธรรมะเป็นหลัก มีระบบการปกครองชนิดนี้ แล้วก็จะมีการปกครองสังคม หรือโลกให้มีสันติภาพได้โดยง่าย.
ระบบศีลธรรมและศาสนา วัฒนธรรม ศิลปะ ประเพณี อะไรเหล่านี้มันรวมอยู่ในสิ่งเหล่านี้ด้วย มันรวมอยู่คำว่าวัฒนธรรมนั่นแหละ, แล้ววัฒนธรรมมันก็รวมอยู่ในคำว่าศีลธรรม วัฒนธรรม เครื่องทำความเจริญ มันก็ต้องถูกต้องนะ.
คำว่าวัฒนธรรม, วัฒนธรรมนี้เป็นคำกำกวมแล้วก็น่าอันตราย, เพราะคำว่า วัฒน, วัฒนะที่เป็น ภาษาบาลีที่ยืมมาใช้ คำนี้มักกำกวม คำว่าวัฒนะนี้ไม่ได้เล็งไปถึงว่าดีหรือชั่ว, มันเล็งแต่ว่า มากขึ้น เท่านั้นเเหละ มากขึ้นๆ. เต็มมากขึ้น เรียกว่าวัฒนะ. อย่างว่าผมมันรกบนหัวอย่างนี้ โดยหลักบาลี มันก็วัฒนะเหมือนกัน, ผมมันวัฒนะ วัฒนาเหมือนกัน คำว่าวัฒนะในภาษาบาลีแปลว่า มันมากขึ้น เท่านั้น, ดีก็ได้ ชั่วก็ได้ ฉะนั้นเราต้องมาคัดเลือกให้มันเป็นไปแต่ในทางวัฒนะที่ดี, วัฒนะที่ดี...
นี่เรา จะต้องมีวัฒนธรรมชนิดที่ถูกต้อง คือเป็นไปเพื่อสันติภาพ, อย่าปล่อยไปตามความหมาย ของคำว่าพัฒนา พัฒนาที่รกมากขึ้นเท่านั้น, มันจะต้องเป็นระบบศีลธรรมที่ถูกต้อง แล้วก็ศาสนา ที่ถูกต้อง.
ระบบศีลธรรมถูกต้องเพราะคำว่าศีลธรรมมันเป็นไปตามหลักศาสนา แต่ใช้ในวงแคบในขั้นต้น ขั้นอย่างโลกๆ, ถ้าศาสนามันใช้หมดกระทั่งสูงสุด จึงถือว่าศีลธรรมก็เป็นผลิตผลที่ออกมาจาก หลักเกณฑ์ของศาสนา, เราจะมีศีลธรรม คือหลักทางศาสนาขั้นต่ำ ๆ และมีศาสนาคือหลักเกณฑ์ทั่วไป ทั้งหมดของศาสนาที่ถูกต้อง.
คำว่าถูกต้องนี้ มันถูกต้องในทฤษฎีก็มี, ถูกต้องในการให้สำเร็จประโยชน์เป็นผลก็มี, ถูกต้องในทาง เหตุผล สบหลักเหตุผล สบหลักวิทยาศาสตร์ อย่างนี้ก็เรียกว่าถูกต้องเหมือนกัน. แต่เรามุ่งหมาย ความถูกต้องที่มากกว่านั้น คือถูกต้องชนิดที่ทำให้เกิดสันติภาพ, เพราะว่าถูกต้องตามเหตุผล ตามตรรกะ ตาม logic อะไรนั้นมันไปทางไหนก็ได้ เราเอาให้มันถูกต้องมาในทางที่ว่า ให้เกิดผลที่ควรปรารถนา ที่เหมาะสมแก่ความเป็นมนุษย์, นี่เราจะต้องมีศาสนาที่ถูกต้อง.
เดี๋ยวนี้เรามีศาสนามาก, มีศาสนาหลายศาสนา เราต้องทำให้เป็นที่แน่ใจว่า มันถูกต้องสำหรับที่จะ ให้เกิดสันติภาพแก่มนุษย์ และยิ่งกว่านั้นอีกก็คือว่ามนุษย์สามารถจะรับได้ หรือสามารถปฏิบัติไหว ; ถ้ามันถูกต้องหรือดี แต่มนุษย์ไม่สามารถสนองรับมาปฏิบัติได้ มันก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้นคำว่า ถูกต้องนี้ ต้องถูกฝาถูกตัว, ต้องสามารถรับมาปฏิบัติได้ด้วย, แล้วเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ด้วยไม่ใช่เหลือวิสัย และก็ถูกตามที่ควรและถูกต้อง คือว่ามันถูกต้องเพื่อสันติภาพของทุกคน, ไม่ใช่เพียงเพื่อของบางคน หรือที่วงการที่มันมีอำนาจ แล้วมันจะถูกต้องอย่างนี้มันถูกต้องไปไม่ได้.
ระบบการปกครองโลกที่มีการศึกษาถูกต้อง, ก็เหมือนกับที่กล่าวมาแล้วในส่วนของบุคคล ที่ว่ามี การศึกษาถูกต้องนี้ เดี๋ยวนี้ยิ่งมาเป็นระบบการปกครองของทั้งหมดของส่วนรวมเป็นระบบใหญ่แล้ว ก็ยิ่งต้องมีการศึกษาที่ถูกต้อง. ให้เป็นไปตามหลักการศึกษาที่ถูกต้อง ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ คือให้เป็นมนุษย์กันให้ได้ มิฉะนั้นมันจะไม่มีความเป็นมนุษย์ มันถูกต้องสำหรับอะไรก็ไม่รู้ มันถูกต้อง สำหรับกิเลสหรืออะไรไปเสีย อย่างที่ว่าการศึกษาสุนัขหางด้วน รู้แต่หนังสือกับรู้แต่อาชีพ มันไม่มี ความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง, ถ้ามีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องมันพอ.
เราจะเลือกเอาฝ่ายไหนล่ะคิดดู : จะเลือกเอาคนที่มีความรู้ กับคนที่มีความถูกต้องหรือ ศีลธรรม ; ถ้ามันต้องเลือกเอาระหว่าง ๒ ฝ่าย คือว่ามีความรู้มีความสามารถ กับคนที่ดีมีศีลธรรม, จะเลือกเอาส่วนไหน? หรือจะพูดง่าย ๆ ว่า คนไม่รู้หนังสือแต่มันดี กับคนรู้หนังสือเปรื่องปราด แต่มันเป็นอันธพาล หรือว่าไม่อันธพาลก็เถอะ เอาเป็นกลาง ๆ ด้วยกันนี้ คนไหนมันปลอดภัยกว่า, เราเลือกฝ่ายไหนปลอดภัยกว่า? เลือกคนมีความรู้ หรือเลือกคนมีศีลธรรม, เลือกเอาคนมีความรู้ มีความฉลาดนะ ถ้ามันเกิดเป็นอันธพาลขึ้นมาแล้วก็วินาศหมด เพราะมันไม่มีอะไรรับประกัน มันเพียงแต่มีแต่ความรู้ความสามารถ. แต่ถ้าคนมีศีลธรรม คือคนดี มันเป็นอันธพาลไม่ได้, เพราะฉะนั้นมันปลอดภัย, ฉะนั้นเลือกเอาคนดี ก่อนที่จะเลือกเอาคนที่มีความรู้ จะดีกว่า, แต่เดี๋ยวนี้ เขาไม่นิยมกันอย่างนั้นใช่ไหม? ถ้าเขานิยมกันอย่างนี้ ก็ไม่ต้องไปเรียนเมืองนอกเมืองนาให้ปริญญา ยาวเป็นหางดอก เพราะมันหาความดี ความถูกต้อง ความอะไรได้ในวงจำกัดของคนไทยเรา ที่มี พุทธศาสนาเป็นหลักนี่. นี่เรียกว่า จะต้องมีการศึกษาที่ถูกต้องสมแก่ความเป็นมนุษย์.
ยึดความหมายของคำว่ามนุษย์ไว้ให้ดี ๆ นะ, มันผิดกันมากกับคำว่าคน. คำว่า คน นี้มัน มาจาก คำว่า ชน, ชน (ชะ–นะ) แปลว่า เกิดมา, ส่วนคำว่ามนุษย์นี่ มาจาก มน-อุษย แปลว่า ใจสูง ; เป็นคน เป็นเพียงเกิดมาก็เป็นคน, แต่ถ้าเป็นมนุษย์ มันต้องมีการกระทำจนใจสูงขึ้นด้วย. เราต้องมีความเป็น มนุษย์ที่ถูกต้อง คือมีจิตใจสูง ไม่เป็นแต่เพียงคน ; การศึกษานี้ต้องทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ และเต็มแห่งความเป็นมนุษย์...
การศึกษาจะต้องเพื่อความเป็นมนุษย์ที่เต็ม. เมื่อพูดว่าเต็มแล้วไม่ต้องพูดถึงความถูกต้องดอก ถ้าไม่ถูกต้องมันเต็มไม่ได้ดอก ถ้ามันเต็มแล้วก็หมายความว่ามันต้องมีความถูกต้อง มันก็มีความเป็นมนุษย์ที่เต็ม...
เอ้า, ทีนี้ข้อสุดท้าย ข้อที่เจ็ด ระบบการปกครองของโลกที่จะต้องมี อีกสักข้อหนึ่งข้อสุดท้ายว่า จะต้องมีระบบนิเวศวิทยาที่ดี. คำว่า นิเวศวิทยา ในความหมายของอาตมา ไม่ไช่หมายแต่เพียงว่า ชำระ pollution ดอก มันเด็กเกินไป มันเล็กเกินไป คำว่านิเวศวิทยาต้องหมายกว้าง จนถึงว่า วิทยาการสำหรับ การเป็นอยู่. ความหมายของคำว่านิเวศนั้น มันก็มีความถูกต้องไปหมดแหละ ไม่ใช่เพียงแต่ระบบ กำจัดมลภาวะอย่างเดียว แล้วก็จะว่ามีนิเวศวิทยาถูกต้องก็หาไม่ มันก็ต้องมีระบบการเป็นอยู่ทุกเเขนง ทุกทิศทาง ทุกระดับ ที่ถูกต้อง ซึ่งไม่เกิดปัญหาขึ้นมา.
ก็อยากจะยกตัวอย่าง เช่นว่า เราอยู่กันอย่างเป็นหมู่บ้าน ดีกว่าที่จะเป็นนคร อยู่กันอย่าง เมืองธรรมดาเล็ก ๆ ดีกว่าที่จะเป็นอยู่อย่างมหานคร กรุงเทพฯ เป็นมหานครหรือยังไม่รู้ แต่มันบ้า เกือบจะตายแล้วใช่ไหม? มันควบคุมไม่ได้นี่ เพราะมันเหลือกำลังที่จะควบคุม ถ้าว่ามันอยู่ ในลักษณะที่ควบคุมกันได้ เช่น เป็นหมู่บ้าน ๆ มีมาก ๆ ก็ดี มันควบคุมกันได้ มันจะไม่เกิดปัญหา อย่างที่กำลังเกิด กำลังเกิดถึงขนาดวินาศหรือฆ่ากันตาย มลภาวะก็กำจัดไม่ได้ เพราะมันเหลือกำลังนี่ ถ้าอยู่กันอย่างมหานครอยู่กันอย่างหมู่บ้านใหญ่ หรือว่าอยู่อย่างเมืองเล็ก ๆ อย่าอยู่กันอย่างมหานคร ซึ่งมีพลเมืองหลายสิบล้าน สิบล้านยี่สิบล้าน แล้วจะเป็นนิเวศวิทยาที่พอดี พอดีแก่การที่จะควบคุม รักษาดูแล มีความสงบสุขได้โดยง่าย นี้ก็จะขอเรียกว่ามีนิเวศวิทยาที่ถูกต้อง คืออยู่ในขนาดที่พอดี ในลักษณะที่พอดี บางทีจะต้องใช้คำว่ายิ่งเล็กยิ่งดีด้วยซ้ำไป.
เมื่อเร็วนี้มีนักคิดอะไรคนหนึ่ง เขาพูดขึ้นมาว่า ยิ่งเล็กยิ่งดี, ยิ่งเล็กยิ่งดี เพราะว่าควบคุมง่าย ถ้ามันใหญ่จนควบคุมไม่ไหว มันก็จะเป็นอันตราย หรือเป็นบ้าไปเลย มันอยู่ในขนาดที่ควบคุมกันได้ ดูแลกันได้ รักษากันได้นั่นแหละมันพอดี, ยิ่งเล็กยิ่งควบคุมกันง่าย ยิ่งควบคุมกันได้มันก็ยิ่งสวยงาม ยิ่งเล็กมันก็ยิ่งสวยยิ่งงาม เพราะมันควบคุมกันได้ รักษากันได้ดี ถ้าบ้านของเราใหญ่เกินไป เราก็รักษาให้สะอาดเรียบร้อยไม่ได้ ถ้าบ้านของเราพอดีหรือเล็ก ๆ นี่ เราทำให้สวยงามวิเศษไป ทุกกระเบียดนิ้วได้
นี่ต้องมีลักษณะที่ควบคุมกันได้หรือพอดี อย่างนี้อาตมาจะเรียกว่านิเวศวิทยาที่ถูกต้อง มันไม่ใช่แต่ควบคุมมลภาวะ มันตัองควบคุมไปทุกอย่างที่มันถูกต้อง สงบเรียบร้อย ราบรื่น มีความสงบสุข สันติสุข หรืออาชญากรรมอะไรต่าง ๆ เหล่านี้มันก็ไม่ต้องมี เราจะมีนิเวศวิทยาที่ถูกต้อง แก่เหตุผล เหมาะสมแก่ความมีสันติภาพ...
เป็นอันว่า บุคคลแต่ละคน ๆ ต้องมีความถูกต้องอย่างที่กล่าวมาแล้ว, ระบบการปกครองของ บุคคลทั้งหมดนั้น ก็ต้องมีความถูกต้องอย่างที่กล่าวมาแล้ว. เมื่อมีความถูกต้องทั้งของส่วนบุคคล และ ของระบบที่จะใช้ปกครองบุคคลเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นความถูกต้อง มันก็หมดปัญหา ก็มีสันติภาพ."
* ธัมมิกสังคมนิยม หรือธรรมิกสังคมนิยม ทั้งสองคำใช้ในความหมายเดียวกัน สังเกตว่าในการบรรยายช่วงปี ๒๕๑๖ ใช้ "ธัมมิกสังคมนิยม" ส่วนในช่วงปี ๒๕๑๘ ใช้ "ธรรมิกสังคมนิยม" ในการเรียบเรียงครั้งนี้ พยายามรักษาตามต้นฉบับที่ปรากฏในหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ของพุทธทาสให้มากที่สุด
** "...เผด็จการ ขอให้แยกเป็น ๒ ความหมาย ถ้าเป็นหลักปฏิบัติหรืออุดมคติ ในฐานะอุดมคติทางการเมืองนี้มันก็ใช้ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเพียงวิธีปฏิบัติกลงานเท่านี้จะใช้ได้..." (พุทธทาสภิกขุ, ธัมมิกสังคมนิยม, โดนัล เค. สแวเรอร์ บรรณาธิการ น. ๕๙–๖๐)
"...เมื่ออะไรมันถูกต้องแล้วก็รีบเผด็จการ ไม่อย่างนั้นมันจะคลานงุ่มง่ามอยู่นั่น แล้วมันก็จะวินาศในที่สุดก็ได้ เพราะผ่าตัดไม่ทัน การผ่าตัดนี้มีระยะนิดเดียว ถ้าไม่ทันเวลาก็ต้องตายแน่ เผด็จการที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมนี้จะช่วยได้..."(เล่มเดียวกัน น.๘๙)
๑ พุทธทาสภิกขุ "ศาสนิกชนต้อนรับการเมืองฯในทศวรรษนี้ฯได้อย่างไร" เทปธรรมบรรยายพิเศษ ๑๒ พ.ค. ๒๕๓๓ สวนโมกข์
๒ พุทธทาสภิกขุ "สังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา" ธัมมิกสังคมนิยม โดนัลด์ เค. สแวเรอร์ บรรณาธิการ กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๒๙. น.๔๗-๔๙
๓ พุทธทาสภิกขุ "ธรรมสัจจะของธรรมชาติกับอุดมคติทางการเมือง" ธรรมสัจจสงเคราะห์(ธรรมโฆษณ์) ธรรมทานมูลนิธิ, ๒๕๒๑. น.๓๑๖
๔ อ้างแล้ว (๒) "สังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา" น.๕๔-๕๕
๕ อ้างแล้ว (๓) "ธรรมสัจจะของธรรมชาติกับอุดมคติทางการเมือง" น.๓๑๖-๓๑๙
๖ พุทธทาสภิกขุ "ความหมายของคำว่าศีลธรรม" อริยศีลธรรม(ธรรมโฆษณ์), ธรรมทานมูลนิธิ, ๒๕๒๐. น.๔๑-๔๘
๗ พุทธทาสภิกขุ "ถ้าจะให้ธรรมะครองโลกต้องมีระบบการเมืองแบบธัมมิกสังคมนิยม" เมื่อธรรมครองโลก (ธรรมโฆษณ์) ธรรมทานมูลนิธิ,๒๕๒๓. น.๔๓๖-๔๔๐
๘ อ้างแล้ว (๒) "สังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา" น.๔๔-๔๖
๙ อ้างแล้ว (๒) "สังคมนิยมชนิดที่ช่วยโลกได้" น.๙๙-๑๐๓
๑๐ อ้างแล้ว (๒) "สังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา" น.๖๓-๖๗
๑๑ อ้างแล้ว (๒) "สังคมนิยมชนิดที่ช่วยโลกได้" น.๑๑๖-๑๑๘
๑๒ อ้างแล้ว (๓) "ธรรมสัจจะของธรรมชาติกับอุดมคติทางการเมือง" น.๓๕๓-๓๕๖
๑๓ อ้างแล้ว (๗) "ถ้าจะให้ธรรมะครองโลกต้องมีระบบการเมืองแบบธัมมิกสังคมนิยม" น.๔๔๙
๑๔ อ้างแล้ว (๓) "ธรรมสัจจะของธรรมชาติกับอุดมคติทางการเมือง" น.๓๕๗-๓๕๙
๑๕ อ้างแล้ว (๒) "สังคมนิยมชนิดที่ช่วยโลกได้" น.๑๐๓-๑๐๗
๑๖ อ้างแล้ว (๒) "สังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา" น.๗๘-๗๙
๑๗ อ้างแล้ว (๒) "ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม" น.๒๓-๒๕
๑๘ อ้างแล้ว (๒) "สังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา" น.๘๑-๘๔
๑๙ อ้างแล้ว (๓) "ธรรมสัจจะของธรรมชาติกับอุดมคติทางการเมือง" น.๓๖๓ -๓๗๑
๒๐ พุทธทาสภิกขุ "จนกว่าโลกจะมีสันติภาพ" สันติภาพของโลก (ธรรมโฆษณ์), ธรรมทานมูลนิธิ, ๒๕๓๑. น.๔๐๔
๒๑ อ้างแล้ว (๒๐) "จนกว่าโลกจะมีสันติภาพ" น.๔๐๑-๔๑๙
หนังสือที่ควรอ่านเพิ่มเติม : ธรรมะกับการเมือง, สันติภาพของโลก, เมื่อธรรมครองโลก, อิทัปปัจจยตา, ธรรมสัจจสงเคราะห์