ทำตัวเราให้เท่ากับผู้อื่น / Khenchen Kunzaig Polden เขียน, ส.ศ.ษ. แปล


Khenchen Kunzaig Polden เขียน

ส.ศ.ษ. แปล

สองข้อที่ควรปฏิบัติ ในระดับของโพธิจิตขั้นที่ยังขึ้นไม่ถึงสูงสุด คือใช้วิธีภาวนาให้ตัวเราเท่ากับผู้อื่น แล้วใช้วิธีภาวนาให้เปลี่ยนตัวเรากับผู้อื่น ถ้ายังไม่ได้ฝึกข้อแรกเสียก่อน ย่อมจะเข้าถึงข้อหลังไม่ได้ ด้วยเหตุฉะนี้ ท่านสันติเทวะจึงกล่าวว่าเราควรฝึกการภาวนาอย่างเต็มที่ เพื่อให้เราได้เท่ากับผู้อื่น ถ้าไม่ได้ขั้นนี้ เราไม่อาจมีทัศนคติที่สมบูรณ์ในเรื่องอุทิศตนเพื่อผู้อื่นอย่างไม่เห็นแก่ตัว

 

สรรพสัตว์ รวมถึงตัวเราด้วย ย่อมอยู่ในสภาวะเหมือนกัน ตรงที่ต่างก็ต้องการความสุข และไม่ต้องการความทุกข์ ด้วยเหตุฉะนี้เราจึงต้องฝึกปรืออย่างเต็มที่ เพื่อหาวิธีให้ได้ในการตั้งจิตมั่น ในอันที่จะปกป้องผู้อื่นเท่า ๆ กับปกป้องตัวเราเอง ด้วยการสร้างความสุขและทำลายความทุกข์ และนี่เป็นไปได้ แม้เราจะไม่คิดว่ามันจะเป็นไปได้ก็ตาม

 

แม้สรรพสัตว์จะไม่มีพื้นฐานอันสูงสุดที่จะคิดเรื่อง กู และ ของกู แต่ก็มักจะคิดกันเช่นนั้น และเพราะคิดกันเช่นนี้ จึงคิดถึงผู้อื่น โดยกำหนดลงไปว่านั่นต่างหากออกไป ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเหตุผลอันใดเลยที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะนั่นเป็นเรื่องที่เกิดจากความคิดเท่านั้นเอง กล่าวคือ กู กับ ผู้อื่น เป็นเรื่องไม่จริง ทั้งคู่เป็นมายาคติ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเข้าใจซึ้งถึงความไม่มีตัวตนของกู ความติดยึดในเรื่องอื่น ก็ย่อมปลาสนาการไป ทั้งนี้ก็เพราะคู่ความคิดนี้เกิดจากสัมพัทธภาพของกันและกัน ต่อเนื่องกัน เฉกเช่นที่จะเอามีดตัดท้องฟ้าออกเป็นสอง ย่อมไม่ได้ฉันใด ฉะนั้นเมื่อเข้าใจซึ้งถึงความไม่มีตัวตนแล้ว จะแยกแยะในเรื่อง กู กับ อื่น ได้อย่างไร และเมื่อเข้าถึงขั้นนั้นแล้ว ก็จะเกิดทัศนคติที่ต้องการปกป้องผู้อื่น ดังปกป้องตนเองนั่นแล และการปกป้องสมบัติที่เป็นของสรรพสัตว์ ก็เป็นกรณียกิจเช่นเดียวกับปกป้องสมบัติของตนเองเช่นกัน ดังมีคำกล่าวว่า "ใครก็ตามที่ละเสียได้ซึ่งทัศนะอันเหลวไหลในเรื่อง ตัวตน ย่อมจะเข้าได้ถึงซึ่งความหมายอันยิ่งใหญ่ในเรื่อง มหาตมะ กล่าวคือ การไปได้พ้นอย่างสิ้นเชิงทางความคิดทวิภาคในเรื่องตัวตนกับผู้อื่น

 

ฉะนั้น เพื่อเข้าถึงได้ในเรื่องความเท่ากันของ กู กับ อื่น จึงจำเป็นต้องหาสาระให้ได้ในเรื่อง กู กับ อื่น ว่านั่นเป็นแนวคิดที่ปราศจากปรมัตถสัจอย่างสิ้นเชิง ประเด็นหลักในเรื่องอนัตตานั้นยากที่จะเข้าใจได้ แม้คนที่ฉลาดมากก็ยังยากที่จะเข้าใจ ฉะนั้นตามคำสั่งสอนของศาสนาจึงเน้นถึงความสำคัญ ว่าจำต้องอธิบายให้เข้าใจอย่างแจ่มชัดในเรื่องอนัตตา

 

วิธีที่จะคิดกันได้ถึงความเท่ากันนั้น เป็นเช่นนี้ โดยเราอาจแบ่งร่างกายออกเป็นมือตีน หัวและอวัยวะต่าง ๆ ฯลฯ อวัยวะแต่ละส่วนแยกออกจากกัน แต่ถ้าเกิดภยันตรายขึ้น ทุกอวัยวะรวมกันปกป้องร่างกาย ไม่ให้อวัยวะส่วนใดต้องทนทุกข์ทรมาน เรามักรวมอวัยวะทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อปกป้องร่างกายหนึ่งเดียว เราคิดว่า "นี่คือร่างกายของกู" แล้วเราก็ติดยึดในร่างกายของเรา พยายามดูแลร่างกายของเรา สรรพสัตว์ในภูมิทั้งหก (คือดิรัจฉานภูมิ เปรตภูมิ นรกภูมิ มนุษยภูมิ อสุรภูมิและสุรภูมิหรือเทวภูมิ) ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ก็ตาม ล้วนอยู่ในสภาวะเช่นเดียวกับเรา กล่าวคือต้องการความสุข ไม่ต้องการความทุกข์ ด้วยเหตุฉะนี้นี่เอง จึงควรตราไว้ว่าสิ่งซึ่งเราเรียกว่าร่างกายซึ่งเป็นหนึ่งเดียว ย่อมประกอบไปด้วยอวัยวะต่าง ๆ ฉันใด เราก็ควรตราไว้ได้ว่า ความ เป็น ตัวกู และ ของกู ก็โยงใยถึงสรรพสัตว์ดุจดังร่างกายของเราโยงใยถึงอวัยวะต่าง ๆ ฉันนั้น เราจึงควรปกป้องสรรพสัตว์ให้พ้นไปจากความทุกข์ เช่นเดียวกับที่เราปกป้องตัวเราฉะนั้นแล

 

สมมตว่าถ้าเราจะถามใครสักคน ว่าเขามีกี่ร่าง เขาก็จะตอบว่า "คุณคิดอะไรกันนี่ เพราะฉันมีร่างกายเดียว" แล้วถ้าเราจะถามต่อไปว่า "มีร่างกายอื่น ๆ อีกไหม ที่คุณควรปกป้องดูแล" เขาก็จะตอบว่า "ไม่มีเลย ฉันปกป้องดูแลร่างกายหนึ่งเดียวของฉันนี้เท่านั้นเอง" แต่ไม่ว่าเขาจะตอบเช่นไรก็ตาม สิ่งซึ่งเรียกว่า "ร่างกายของเขา" นั้น เป็นเพียงชื่อที่มุ่งถึงธาตุต่าง ๆ ที่รวมตัวกันขึ้นเท่านั้นเอง นอกไปจากนี้แล้ว ไม่มีอะไรหนึ่งเดียวเป็นต่างหากออกไปที่เรียกว่า "ร่างกายของเขา" นั้นเลย ยิ่งไปกว่านี้แล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะยืนยันถึง ร่างกาย ว่านำมาใช้เฉพาะที่นี่ โดยไม่รวมไปถึงที่อื่น ๆ ด้วย คำว่า ร่างกายที่นำเอามาใช้ โดยไม่มีความยุติรรมในทางปรมัตถ์นั้น แท้ที่จริงคือกองต่าง ๆ ที่รวมกันขึ้น และเราก็คิดไปเองว่านี่คือ ร่างกายของกู ด้วยวิธีนี้แล ที่เกิดความคิดเรื่อง กู ของกู และอื่น ๆ ขึ้น ที่อ้างเอาว่า กู คือองคาพยพนี้ โดยไม่คิดว่า กู รวมถึงองคาพยพอื่นด้วยนั้น นับว่าไม่ถูกต้องถ่องแท้ ด้วยเหตุฉะนี้พระศาสนาจึงสอนให้ประยุกต์คำว่า กู ให้รวมถึงผู้ร่วมทุกข์ทั้งหมด โดยหมั่นพินิจนึกตรึกตรองจนเป็นนิสัยให้ได้ว่า เขาทั้งหลายคือตัวกู และเมื่อเกิดความคิดเรื่อง กู ขึ้น ก็ให้หมายรวมถึงพวกเขาทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อเราจะได้คิดในทางปกป้องเขาทั้งหมด เมื่อเราคิดจะปกป้องตัวเราเอง

 

ก็ความคิดที่ว่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะคนอื่นไม่อาจรับรู้ได้ถึงความทุกข์ของเรา และเราก็ไม่รู้สึกถึงความทุกข์ของเขา ความข้อนี้ ควรกลับไปศึกษาโสลกบทที่ ๙๒ และ ๙๓ ของท่านสันติเทวะ ในเรื่อง โพธิสัตวจรรยาวตาร ความว่า

 

แม้ความทุกข์ของฉัน จะไม่มีผลถึงร่างกายของสัตว์อื่น แต่นั่นก็เป็นความทุกข์ของ ตัวกู ฉันย่อมทนมันได้ยาก เพราะฉันไปติดยึดในเอกลักษณ์ของความเป็นตัวกู และแม้ความทุกข์ของผู้อื่นจะไม่ตกต้องมาถึงฉัน แต่เพราะฉันสมาทานโพธิสัตวธรรมบารมี ฉันย่อมถือเอาผู้อื่นเป็นเช่นตัวฉัน ความทุกข์ของผู้อื่นก็คือความทุกข์ของตัวฉัน ซึ่งทนรับได้อย่างลำบากยากเย็น

 

จะให้ความทุกข์ตกลงที่ตัวเรา และเรารับความทุกข์ยากเพียงตัวเราเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่นได้อย่างไร ทั้งนี้ก็เพราะ การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารตั้งแต่ไหนแต่ไรมา จนตราบเท่าปัจจุบัน เมื่อจิตวิญญาณของเราปฏิสนธิขึ้นหลังจากบิดามารดาเสพสังวาสกันจนก่อให้เกิดปฏิสนธิจิตขึ้นนั้น ก็เริ่มเกิดสิ่งซึ่งเรียกว่าร่างกาย แล้วก็เกิดการยึดถือในเรื่อง ตัวกู ขึ้น ฉะนั้นเมื่อความทุกข์เกิดขึ้น เราก็เลยทนรับได้ยาก โดยที่มองจากแง่ของความทุกข์แล้ว ความทุกข์ของกู กับความทุกข์ของผู้อื่น ดูไม่มีอะไรต่างกันเอาเลย แม้ความทุกข์ของผู้อื่น จะไม่ตกต้องมาถึง ตัวกู แต่ถ้าเราขยายเอกลักษณ์ของตัวกูและของกูออกไปให้รวมถึงผู้อื่น ความทุกข์ของผู้อื่นย่อมเป็นเหตุให้เราทนทานได้ยากเช่นกัน

 

ท่านไมตรีโยคิน ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์เจ้าอตีศะ ย่อมรู้สึกถึงความทุกข์ของผู้อื่น ดุจความทุกข์ของพระคุณท่านเอง (เล่ากันว่า เมื่อท่านไมตรีโยคินกำลังสอนธรรมอยู่นั้น ใครคนหนึ่งขว้างก้อนหินไปยังสุนัขที่กำลังเห่าอยู่ จนสัตว์นั้นต้องทนทุกข์ทรมานมาก ท่านไมตรีโยคินร้องขึ้นด้วยเสียงอันดัง เฉกเช่นถูกทรมานขึ้นอย่างทันทีทันใด และตกลงมาจากธรรมาศน์ทันที ลูกศิษย์ลูกหาตกใจกันมาก ทั้งยังหาว่าอาจารย์เล่นละครอีกด้วย แต่ท่านอาจารย์เปิดอังสะออกให้ดู พวกศิษย์จึงเห็นบาดแผลที่สีข้างของท่าน ณ ตรงที่สุนัขถูกก้อนหินพอดีเลยทีเดียว)

 

ประสบการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับท่านที่เข้าถึงโพธิสัตวมรรคแล้ว แม้คนธรรมดาอย่างเรา ๆ ก็ขอให้ดูได้ที่มารดา ซึ่งกล้าตายแทนบุตรน้อยซึ่งกำลังเจ็บหนัก ทั้งนี้ก็เพราะมารดามีเอกลักษณ์เป็นหนึ่งเดียวกับทารกของเธอนั่นเอง ความทุกข์ทรมานของทารกจึงเป็นความทุกข์ทรมานของเธอเอง ส่วนคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ถือตนว่าเป็นหนึ่งเดียวกับทารกตนนั้น ย่อมไม่รับรู้ในเรื่องความทุกข์ยากของทารกอยู่เอง ถ้าเขาเข้าได้ถึงความทุกข์ยากของทารกคนนั้น เขาก็ย่อมรับสภาวะทุกข์อันนั้นได้ยากนั้นแล

 

การที่จะรับรู้ได้ถึงสภาวะเช่นนี้ ไม่จำต้องฝึกปรือนาน ขอให้ดูตัวอย่างที่ม้า ซึ่งพ่อค้าเอามาขาย ถ้าม้าขาดหญ้า ขาดน้ำ หรือเจ็บป่วย หรือมีอุปัทวภัยใด ๆ เจ้าของย่อมพลอยได้รับความทุกข์ไปด้วย คนที่ยังไม่ได้ซื้อม้าจะไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรเลย แต่ถ้าลูกค้าตกลง ซื้อม้าไว้แล้ว ม้าเกิดเจ็บป่วย ฯลฯขึ้น เจ้าของม้าเดิมกลับไม่รู้สึกอะไร หากเจ้าของม้าคนใหม่กลับรู้สึกทนทุกข์ทรมานแทน แต่สำหรับม้านั้น จะเป็นม้าของคนขาย หรือคนซื้อ ก็ไม่สำคัญอันใดเลย

 

ด้วยวิธีเดียวกัน จึงไม่มีเหตุผลเล็กน้อยอะไรเลย ที่จะต้องบ่งว่า กู เป็นเรื่องของฉันเท่านั้น โดยไม่รวมถึงผู้อื่น ทั้งนี้เพราะกู และ ผู้อื่น เป็นเพียงสมมติที่คิดกันขึ้นเองเท่านั้น เพราะ กู ของคนหนึ่ง เป็น อื่น ของอีกคน และ อื่น ของอีกคน เป็น กู ของตัวเรา ดังที่เรียกว่า นี่ และ โน่น ก็เป็นเรื่องที่ต่างทัศนคติกันเช่นกัน ล้วนเกิดจากจิตใจเท่านั้นเอง ไม่มี นี่ และ โน่น ในทางปรมัตถ์เอาเลย เฉกเช่น ไม่มี กู กับ อื่น ในทางปรมัตถ์เช่นกัน

 

พระธรรมคำสั่งสอนจึงแนะให้เข้าใจในประเด็นนี้ให้ถ่องแท้ เพื่อโยง ความเป็นกู ไปรวมถึงสรรพสัตว์อื่น ๆ ทุกถ้วนหน้า ถ้าอาจภาวนาจนจิตใจของเราเพื่อรับเอาสรรพสัตว์มาเป็น กู ได้ ทุกครั้งที่ความคิดเรื่อง กู และ ของกู เกิดขึ้น ย่อมจะรวมเอาสรรพสัตว์เข้ามาอยู่ในห้วงสำนึกด้วยตลอดไป

 

ความข้อนี้แลที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย และพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย รับเอาสรรพสัตว์เข้ามาอยู่ในพระองค์ ดุจดังที่ได้อธิบายมาแล้ว แม้ผู้อื่นจะเดือดร้อนอย่างไร พระผู้เป็นเจ้าก็ย่อมรับเอาความทุกข์นั้น ๆ เข้ามาดุจดังพระวรกายต้องไฟฉะนั้น พระโพธิสัตว์จะไม่รีรอเลยเมื่อเห็นสัตว์ประสบความทุกข์ ดังที่เมื่อพระเทวทัตยิงลูกศรไปถูกหงส์ พระพุทธเจ้าเมื่อก่อนตรัสรู้ได้รับเอาหงส์มาเป็นของพระองค์ ทรงปรนนิบัติสัตว์นั้นอย่างทนุถนอม แม้พระเทวทัตจะอ้างเอาหงส์เป็นของพระองค์ เพราะทรงยิงมันตกลงมา แต่พระมหาสัตว์ทรงปฏิเสธ ตรัสว่าหงส์เป็นของพระองค์ เพราะทรงร่วมทุกข์กับหงส์นั้น ในขณะที่พระเทวทัตเพียงต้องการฆ่าหงส์นั้นเสีย

 

ยังท่านโยคินี (ชาวธิเบต) มาชิดวัยโครน ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านปัทมะ สังคเย (ชาวอินเดีย) นั้น ท่านภาวนาถึงขนาดสละร่างกายให้ผีร้าย จะได้กินร่างกายของท่าน ทั้งนี้ก็เพราะกรุณาคุณของท่าน ที่ถือว่าผีร้ายก็เป็นส่วนหนึ่งของตัวท่านเอง

 

ดังได้กล่าวแล้วว่าถือเอาผู้อื่นเป็นดุจดังตัวเรานั้น ไม่ต้องฝึกปรืออะไรมากนัก ยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่าคุณยอมยกม้าของคุณให้ใครไป พอคนนั้นรับรู้ว่าม้าเป็นของเขา ถ้าม้าป่วยไข้ไปอย่างไร เขาก็จะรู้สึกทนทุกข์ไปด้วยทันที แต่นี่เป็นไปในทางลบ

 

ความจริง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ในโลกทั้งหมด ไม่มีอะไรที่จะสอนง่ายไปกว่าการฝึกจิตใจ เมื่อเข้าถึงทางที่เป็นสัมมาปฏิบัติแล้ว ก็จะเดินไปได้ในทางที่ถูก เพื่อควบคุมจิตใจให้อยู่ในอำนาจของธรรม พร้อมกันนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงเตือนว่าจิตที่ไม่ได้รับการฝึกปรือนั้น ยากที่จะควบคุมไว้ได้ ฉะนั้น เราจึงอย่าปล่อยให้จิตใจของเราฟุ้งไปในทางที่ผิด ควรฝึกจิตไว้ ให้โยงมาในทางที่ฝึกปรือได้ เพราะถ้าจิตไม่ได้รับการฝึกฝนเสียแล้ว จะเอาชนะอุปสัคอะไรไม่ได้เลย ฉะนั้นจึงต้องเริ่มแต่ฝึกจิตก่อน

 

ใคร ๆ ก็รู้ว่าจำต้องเอาชนะความทุกข์ ท่านสันติเทวะจึงแสดงให้เห็นว่า ความทุกข์ที่เหลวไหลต่าง ๆ นั้นต้องขจัดให้หมดไปจากสรรพสัตว์ และท่านอธิบายง่าย ๆ ว่า ไม่ว่าจะเป็นความหิว กระหายหรืออะไรก็ตาม ต้องขจัดให้หมดไปจากตัวท่านและจากสรรพสัตว์ และท่านอธิบายต่อไปด้วยว่า ท่านต้องการให้สรรพสัตว์มีความสุข เพราะความสุขของสรรพสัตว์ก็คือความสุขของท่าน เพราะไม่มีข้อแตกต่างอันใดระหว่างตัวท่านกับผู้อื่น เพราะเราทั้งหมดล้วนต้องการความสุข ฉะนั้นท่านจะหาความสุขให้ตัวท่านเองเพียงเท่านั้นได้อย่างไร ทั้งนี้ก็เพราะไม่มีข้อแตกต่างระหว่างตัวท่านกับผู้อื่นดังได้กล่าวมาแล้ว เพราะทั้งหมดก็ต้องการพ้นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ด้วยเหตุฉะนี้ ท่านสันติเทวะจึงกล่าวว่า จะปกป้องตนเองโดยไม่ปกป้องผู้อื่นได้อย่างไร

 

บางคนอาจกล่าวว่า "ฉันได้รับความทุกข์ จึงต้องหาทางป้องกันความทุกข์ให้ตัวฉัน สำหรับความทุกข์ที่มีกับคนอื่นนั้น ไม่มาถูกต้องตัวฉัน ฉันจึงไม่จำต้องไปทำอะไรให้เขา" โดยเราต้องเข้าใจว่า ความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งโยงใยไปถึงชีวิตในอนาคตก็ดี ความทุกข์สำหรับวันพรุ่งนี้ หรือเดือนหน้าก็ดี รวมถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากช่วงขณะนี้ไปยังช่วงขณะต่อไปก็ดี รวมถึงการขาดอาหาร ขาดเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ ไม่ว่าความทุกข์นั้นจะเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่ ล้วนเกี่ยวข้องกับอนาคตซึ่งยังไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเราในขณะนี้ ท่านสันติเทวะเตือนเราว่า ความทุกข์ในอนาคตที่ยังไม่มาถึงเราในเวลานี้ เราจะไปปกป้องตัวเราไว้ทำไมกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความทุกข์ของเราในอนาคตก็เหมือนความทุกข์ของคนอื่น

 

ก็ในเมื่อความทุกข์ของเราในอนาคตยังไม่มาถึงเราในบัดนี้ หากเราต้องเผชิญกับมันในกาลข้างหน้า จึงควรป้องกันไว้ก่อน

 

พึงตราไว้ว่า ในขั้นหยาบ การติดยึดในองคาพยพ (ขันธ์ห้า) ของชีวิตนี้ และชาติหน้า ว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือในขั้นที่ละเอียดลงไป การถือเอาว่าขันธ์ห้าในขณะนี้ กับขันธ์ห้าในช่วงขณะถัดไป เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นี่ย่อมเป็นความคิดที่ผิด ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

 

ว่าถึงชีวิตนี้กับชาติหน้า สภาวะที่ตายและออกจากชีวิตนี้ไป ไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกันกับที่ไปเกิดใหม่ในชาติหน้า เช่นเดียวกันกับสิ่งที่ไปเกิดใหม่ในชาติหน้า จะในภพภูมิใดก็ตาม ไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกันกับสิ่งซึ่งหมดสิ้นไปกับชาตินี้

 

การดำรงชีวิตอยู่ในมนุษย์โลก เป็นผลมาจากกรรมเก่า เมื่อสิ้นกระแสกรรม ขณะสุดท้ายของการรับรู้ถึงความเป็นมนุษย์ของสัตว์ผู้นั้นก็หมดไป โดยก่อให้เกิดผลสืบเนื่องในทันที (คือมีชีวิตใหม่) โดยกรรมที่ก่อให้เกิดชีวิตใหม่ ไม่ว่าจะในนรกภูมิหรือภพภูมิใดก็สุดแท้ ย่อมมาจากเหตุและปัจจัยที่ต่อเนื่อง

 

เมื่อใครที่เกิดมาใหม่ ในนรกภูมิหรือ ณ ภพภูมิไหนก็ตาม ตอนตาย เขาอาจมีรูปกายเป็นมนุษย์ ตอนเกิดเขาอาจมีรูปกายเป็นสัตว์นรกหรืออื่นใดก็ได้

 

ภวังคจิตเดิมที่สิ้นไปตอนหมดความเป็นมนุษย์นั้น ถ้าพลันไปเกิดเป็นสัตว์นรก ก็จะมีจิตวิญญาณไปเกิดเป็นสัตว์นรก จิตวิญญาณที่เคยเป็นมนุษย์กับจิตวิญญาณของสัตว์นรกนั้นต่างกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นามและรูปของมนุษย์เมื่อสิ้นสุดลงนั้น นามและรูปของอีกชีวิตหนึ่งปฏิสนธิขึ้น ไม่มีอาตมันหรือวิญญาณดวงเดิมไปเกิดใหม่ ดังมีโศลกเอ่ยไว้ในเรื่องนี้ว่า

 

การอ่าน กระจกเงา คบไฟ และตราที่ประทับลงไป
แว่นขยาย เมล็ดพันธุ์ รส และเสียง
ขันธ์ทั้งหมดนั้นมีขึ้น ตอนเกิดและตาย
แต่ไม่มีการสืบต่อจากหนึ่งไปอีกหนึ่ง
ความข้อนี้ ผู้รู้ควรต้องรู้

 

เวลาเราใช้คบไฟดวงหนึ่งไปจุดอีกดวงหนึ่ง คบไฟดวงใหม่มีขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่ได้ต่อมาจากคบไฟดวงแรก แต่คบไฟดวงแรกไม่ได้กลายไปเป็นคบไฟดวงใหม่

 

ถ้าคบไฟดวงแรกดับไป คบไฟดวงใหม่เกิดขึ้น โดยที่ทั้งสองนี้ต่างกัน ดังกรณีของกรรมเก่าก็หมดไปกับร่างกายเดิม ผลของกรรมเก่าย่อมสืบต่อไปยังร่างใหม่ ด้วยการเกิดขึ้นโดยการสืบเนื่องของเหตุและปัจจัยในทางอิทัปปัจจยตา ปรากฎการณ์ที่ว่านี้ วิเคราะห์ออกมาโดยเหตุผลไม่ได้ กล่าวคือ จะว่าสัตว์ที่เกิดใหม่เป็นผลมาจากสัตว์ที่ตายลงไปเลยทีเดียวก็ไม่ได้ จะว่าไม่ได้เป็นผลมาจากสัตว์ที่ตายลงไปก็ไม่ได้ จะอย่างไรก็ตาม พุทธศาสนาสอนว่า ผลแห่งกรรมย่อมไม่สูญเสียหรือหมดไป แต่ผู้ที่เข้าใจได้ในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ก็มีแต่ท่านผู้ตรัสรู้แล้วเท่านั้น พวกเราจึงได้แต่เชื่อตามคำของพระพิชิตมารโมลีที่ว่า

 

สิ่งซึ่งเกิดขึ้นย่อมพึ่งพิงสิ่งอื่น
ไม่มีอะไรที่เป็นตัวของตัวเองอย่างหนึ่งเดียว
แต่สิ่งนั้นก็ไม่ใช่สิ่งต่าง
คือไม่ใช่เป็นหรือไม่เป็น

 

นอกไปจากการกำหนดกดชาลงไปเสียแล้ว ไม่มีเอกลักษณ์ และไม่มีความต่าง จิตวิญญาณที่รับรู้อะไร ๆ เกิดขึ้นได้ เพราะกระแสแห่งภพ จากกรรมดีก็ตาม กรรมชั่วก็ตาม ในแต่ละช่วงขณะ ก็สักแต่เป็นการรู้ รู้ได้ และแจ่มชัด เกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ อย่างไม่ขาดสาย ไปพ้นการรับรู้ว่ามีตัวตนหรือไม่มีตัวตน กล่าวคือผลของกรรมไม่สูญหายไป และไม่มีใครที่ไม่เคยได้รับผลของกรรม ซึ่งได้กระทำมาไว้ก่อน

 

ถ้าพิจารณาในระดับที่ลึกซึ้งลงไปของช่วงขณะหนึ่ง ๆ จะเห็นได้ว่าทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก ล้วนมีแต่ชั่วขณะหนึ่ง ๆ เท่านั้น เคลื่อนย้ายไปเป็นช่วง ๆ ตามกาลเวลา เมื่อช่วงแรกดับ ช่วงต่อไปก็เกิดขึ้น โดยที่แต่ละช่วงก็ต่างกันออกไป นี้ฉันใด วิบากกรรมก็ฉันนั้น คือกระแสกรรมช่วยให้คนดำรงความเป็นมนุษย์อยู่ตามสถานการณ์ต่าง ๆ เมื่อมาถึงจุดดับแห่งการรับรู้ทางจิตวิญญาณ นี่ย่อมเป็นปัจจัย ให้จิตวิญญาณต่างหากจุติขึ้น ตอนเกิดใหม่ แล้วก็เคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ ในชาติหน้า สองจุดสองช่วง (ตอนตายและเกิด) นั้นแยกจากกัน

ส.ศ.ษ. แปลจากข้อเขียนของท่าน Khenchen Kunzaig Polden ซึ่งอธิบายโศลกบทที่ ๙๐-๙๘ ของบรรพที่ ๘ ของท่านสันติเทวะในเรื่อง โพธิสัตวจรรยาวตาร เพื่อเป็นพื้นฐานในการภาวนาสำหรับมหากรุณา ตามทางของมหายาน โดยโยงไปให้เข้าใจในเรื่องกรรมและการเกิดใหม่ (ซึ่งมักเข้าใจผิดกัน) เพื่อเน้นในเรื่องอนัตตาและการหาสาระไม่ได้ในความคงที่ใด ๆ สิ้น