สุลักษณ์ ศิวรักษ์
ก่อนที่เราจะมานับถือวิธีวิทยาอย่างฝรั่งนั้น พระพุทธเจ้ารวมทั้งพระธรรมเจ้าและพระสังฆเจ้า เป็นสรณะสูงสุดที่เราเคารพนับถือ เพราะถ้าเราเชื่อมั่นในพระพุทธานุภาพแล้ว เราอาจเดินตามครรลองของพระธรรม เพื่อเอาชนะโลภโกรธหลงได้ หรือกลายสภาพจากความโลภมาเป็นทาน การให้ แปรสภาพจากความโกรธมาเป็นเมตตากรุณา และแปรสภาพจากความหลงมาเป็นปัญญา การรู้แจ้ง รู้จริง และรู้สึก อย่างเป็นองค์รวมที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ยิ่งถ้าเราต้องการเดินเข้าให้ถึงแก่นพระธรรมด้วยแล้ว เราย่อมสละละบ้านรือนและความสุขทางกาม ขอเข้าเป็นสมาชิกของคณะสงฆ์ เพื่อมีชีวิตอย่างเรียบง่ายที่สุด อย่างปราศจากอาชีพการงาน มีเวลาอย่างเต็มที่ในการสำรวจตรวจดูตัวเอง ให้วิถีชีวิตของตนเป็นไปอย่างบรรสานสอดคล้องกันทั้งทางกายและทางใจ พร้อม ๆ กันนั้น แต่ละสมาชิกของสงฆ์ก็อยู่ร่วมกันอย่างบรรสานสอดคล้องกันทั้งหมด สมกับเป็นภราดรภาพ อันมีเสมอภาคเป็นแกน เพื่อเดินทางไปสู่เสรีภาพจากกิเลสอาสวะ โดยที่คณะสงฆ์ก็อยู่อย่างบรรสานสอดคล้องกับชาวบ้านรอบ ๆ วัด และคฤหัสน์นั้นนอกจากจะอุดหนุนพระภิกษุสงฆ์แล้ว ยังเรียนรู้จากวิถีชีวิตของท่าน เพื่อชาวบ้านจะได้รู้จักปล่อยวาง อย่างพอใจในชีวิตความเป็นอยู่อันเรียบง่าย มีทานการให้เป็นส่วนสำคัญของชีวิต และมีศีลสังวรเพื่อให้แต่ละคนเป็นคนปกติ คือลดความรุนแรงลงเรื่อย ๆ ทั้งทางด้านชีวิต ทรัพย์สิน คู่ครอง ฯลฯ โดยมีเวลาภาวนาให้จิตใจสงบอย่างงดงาม ทั้งพระและชาวบ้านย่อมเกื้อกูลกันและกัน ทางอามิสทานและธรรมทาน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขของสังคมวงกว้าง ซึ่งรวมถึงสรรพสัตว์และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติทั้งหมด
คนไทยสมัยก่อนไม่ได้สนใจพุทธประวัติ ว่ากรุงกบิลพัสดุ์อยู่ที่ไหน สวนลุมพินีห่างจากกรุงกบิลพัสดุ์เท่าไร พุทธคยากับกรุงราชคฤห์ห่างกันเพียงใด ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่ทรงแสดงปฐมเทศนา และกรุงกุสินาราที่เสด็จดับขันธปรินิพพานอยู่ที่ไหน เพราะสังเวชนียสถานนั้น ๆ เป็นเพียงสถานที่ที่ช่วยให้เจริญพุทธานุสติ ดังเราอาจสร้างสถานที่นั้น ๆ ขึ้นได้ในเมืองไทย ดังพระพุทธบาทและพระพุทธฉายก็อยู่ที่สระบุรีนี้เอง พระแท่นดงรังในจังหวัดกาญจนบุรี ก็คือที่ที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ดังทางจังหวัดอุทัยธานีก็มีวัดสังกัด ณ เชิงเขาเตี้ย ๆ ทางลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง โดยสมมติให้ว่านั่นคือที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์สวรรค์ หลังจากที่เสด็จไปจำพรรษาและทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดา ดังยังมีพระภิกษุสงฆ์เดินตามเสด็จพระพุทธรูปลงมาจากภูเขานั้นในวันหลังจากออกพรรษาทุกปี ให้ชาวบ้านได้ตักบาตรเทโว แม้จนถึงรัชกาลที่ ๖ แล้ว ยังมีการสร้างสวนลุมพินีขึ้น ณ กรุงเทพมหานครนี้เอง
ถ้าใครได้อ่านพุทธประวัติจาก ปฐมสมโพธิกถา ที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงพระนิพนธ์ไว้แต่ในรัชกาลที่ ๓ จะได้รับความไพเราะในทางกวีวัจน์ อย่างไปพ้นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อย่างฝรั่ง หากช่วยให้เกิดศรัทธาปสาทะในพระพุทธานุภาพ เพื่อเราจะได้เจริญทศบารมีตามอย่างพระพุทธองค์ เริ่มแต่ทานและศีลเป็นต้นไป
ต่อถ้าใครอ่าน พุทธประวัติ ที่สมเด็จพระสังฆราช (สา) และที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเรียบเรียง ก็จะเห็นได้ว่านั่นคือชีวประวัติบุคคลในอดีต ที่มีข้อเท็จจริงตามวิธีวิทยาของฝรั่ง อย่างปราศจากอิทธิปาฏิหาริย์ใด ๆ สิ้น เพราะฝรั่งรังเกียจอภินิหารต่าง ๆ เราอยากศรีวิไลอย่างฝรั่ง ก็ต้องเป็นไปเช่นนั้นบ้าง
เราต้องไม่ลืมว่าเมื่อฝรั่งแรกรู้จักพุทธศาสนานั้น มักไม่เชื่อกันว่า พระพุทธเจ้ามีพระองค์จริงตามทางประวัติศาสตร์อย่างที่เขารู้จักกัน ในขณะที่บรรพชนของเรา ไม่ถือว่านี่เป็นประเด็น โดยที่เราเชื่อกันว่าในภัทรกัลป์นี้มีพระพุทธเจ้าซึ่งตรัสรู้มาแล้ว ๔ พระองค์ เริ่มแต่พระกกุสันโธ พระโกนาคมโน และพระกัสสโป ซึ่งเป็นพระอดีตพุทธเจ้า พระองค์ปัจจุบันที่ร่วมสมัยกับเราคือพระสมณโคดม แล้วก็จะมีพระศรีอารยเมตไตรย์มาตรัสรู้เป็นพระอนาคตพุทธเจ้า ก่อนจะสิ้นกัลป์นี้
ก่อนกัลป์นี้ก็มีพระอดีตพุทธเจ้าอีกมากมาย ที่พอจะนับได้ก็ ๒๗ พระองค์ ดังปรากฏพระนามและพระองค์ เป็นภาพเขียนอยู่รอบพระวิหารวัดสุทัศน์ โดยถ้านับถอยหลังไป ก็มีพระพุทธเจ้าเท่าเม็ดกรวดเม็ดทราย ดังพระมหานิกายที่ห่มคลุมอย่างสมัยกรุงศรีอยุธยา ยังสวดมนต์บทสัมพุทเธนอยู่
คำเริ่มต้นบทสวดแปลความได้ว่า "ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ๕ แสน ๑ หมื่น ๒ พัน ๒๗ พระองค์ด้วยเศียรเกล้า" แล้วขยายจำนวนไปเป็น "พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ล้าน ๒ หมื่น ๔ พัน ๕๕ พระองค์" แล้วเป็น "๒ ล้าน ๔ หมื่น ๘ พัน ๑๐๙ พระองค์"
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเห็นว่าเหลวไหล หรือทรงถือว่านี่เป็นอิทธิพลของมหายาน ที่เคารพนับถือพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก จึงทรงพระนิพนธ์บทสวดใหม่แทนบทสัมพุทธ ให้พระธรรมยุติสวด แล้วต่อมาพระมหานิกายแปลงที่ห่มแหวกอย่างธรรมยุติก็สวดตาม คือบทที่ขึ้นต้นว่า โยจกฺขุมา ที่ใช้สวดสังวัธยายสรรเสริญพระพุทธคุณของพระสมณโคดมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้เท่านั้น
ทั้งนี้ก็เพราะชนชั้นนำของไทยตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ถือว่าพระพุทธศาสนาของเรานั้นทันสมัย ไม่มีอภินิหารใด ๆ หรือเรื่องราวในอดีตใด ๆ ที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ตามวิธีวิทยาของฝรั่ง โดยเราถือว่าอภินิหารต่าง ๆ นั้นเป็นของที่แต่งเติมกันภายหลัง เพราะเนื้อแท้ของพระธรรมนั้น "ไม่จำกัดกาลเวลา เรียกร้องให้ผู้อื่นมาดูได้ (มาพิสูจน์ได้) อันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้ได้"
เราไปเข้าใจว่า ฝรั่งเป็นวิญญูชน ฉะนั้นอะไรที่ฝรั่งพิสูจน์ไม่ได้ เราก็ไม่ถือว่าสำคัญแม้ในทางพระพุทธศาสนา โดยที่เวลานั้น (โดยที่ในยุโรปนั้น แม้ก่อนรัชกาลที่ ๔ ขึ้นไปแล้ว) ฝรั่งชั้นนำเริ่มต่อต้านคริสตศาสนา หาว่าล้าหลังและขัดกับหลักวิทยาศาสตร์ ยิ่งตั้งแต่ชาร์ล ดาวินเรียบเรียงเรื่อง The Origin of Spicies ในปี ค.ศ. ๑๘๕๙ และ Descent of Man ในปี ค.ศ. ๑๘๗๑ ด้วยแล้ว ชนชั้นนำในตะวันตกก็เลยเชื่อกันสนิทว่า คนมาจากวานร ไม่มีบิดามารดาเดิมที่ชื่อว่า อดัมและอีวา ที่พระเจ้าสร้างขึ้นมาตามที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิ้ล
ฝ่ายชาวไทย ผู้ที่อธิบายพุทธศาสนาตามทางอย่างฝรั่งและเขียนเป็นหนังสือที่ตีพิมพ์อย่างแพร่หลายแต่ในรัชกาลที่ ๔ คือเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ซึ่งเป็นศิษย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แต่สมัยยังทรงผนวช และได้มาเป็นเสนาบดีกรมท่า (กระทรวงการต่างประเทศ) ในรัชสมัยของพระองค์ หนังสือเล่มสำคัญของท่านผู้นี้คือ กิจจานุกิจ ที่ปฏิเสธความเชื่ออย่างโบราณของไทยแทบทั้งหมด โดยที่คนไทยสมัยก่อนถือว่า ไตรภูมิพระร่วง หรือ เตภูมิกถา คือโลกทัศน์ของเรา กล่าวคือโลกทัศน์ของเราอิงอยู่กับทฤษฎีของพราหมณ์ ที่ว่าโลกแบนและมีปลาอานนท์หนุนอยู่ มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางของโลก ฯลฯ กิจจานุกิจ ปฏิเสธเรื่องเหล่านี้ โดยอธิบายพุทธศาสนาอย่างใหม่หมด สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตั้งข้อสังเกตว่า กิจจานุกิจ ไม่ยักปฏิเสธเรื่องที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาบนดาวดึงส์สวรรค์
ความข้อนี้ท่านอาจารย์พุทธทาสก็เคยปรารภกับข้าพเจ้า ว่าทางภารตประเทศถือว่านี่เป็นเรื่องจริงมาแต่ก่อนสมัยพระเจ้าอโศกเอาเลยด้วยซ้ำ ดังมีศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกปักไว้ ณ ที่ที่เชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์สู่โลกพิภพนี้
กิจจานุกิจ เป็นหนังสือสำคัญที่ฝรั่งในเมืองไทยทึ่งมาก ถึงกับนายอาลาบัสเตอร์ (ต้นตระกูลเศวตศิลา) แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ที่กรุงลอนดอนในชื่อว่า The Wheel of the Law แต่ปี ค.ศ. ๑๘๗๑ โดยชี้ให้ฝรั่งด้วยกันเห็นว่า วงล้อแห่งธรรม หรือ ธรรมจักร นั้น อธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสมเหตุสมผล ไปได้ด้วยดีกับวิทยาศาสตร์ตะวันตก ไม่มีอะไรในทางอิทธิปาฏิหาริย์อย่างศาสนาคริสต์เอาเลย
ศาสนาคริสต์เอง แม้จะถูกโจมตีอย่างหนักในยุโรปและสหรัฐ แต่พวกหมอสอนศาสนาในลังกาและอื่น ๆ ก็ถือว่าเป็นคำสอนที่มีคุณค่าในทางจริยธรรม ผิดกับพุทธศาสนาที่สอนกันในประเทศนั้น ๆ ที่มอมเมาให้คนเชื่อในเรื่องนรกสวรรค์ โลกนี้โลกหน้า ทั้งยังมีเทวดาและอินทร์พรหมเข้ามาข้องเกี่ยวด้วยอีกมาก แถมพวกหมอสอนศาสนายังตั้งโรงเรียนในเมืองขึ้นของอังกฤษ สอนให้ชาวพื้นเมืองรู้ภาษาอังกฤษ และให้รู้จักคำสอนของศาสนาคริสต์ เมื่อจบออกมาแล้ว ก็อาจทำงานราชการกับจักรวรรดิอังกฤษในประเทศนั้น ๆ ได้ โดยที่การศึกษาตามวัดวาอารามนั้นล้าสมัย ปรับตัวไม่ทันกับความทันสมัยในคริสตศตวรรษที่ ๑๙
การที่พวกหมอศาสนาพูดและเขียนโจมตีพุทธศาสนาในลังกาหนักเข้า ก็เลยเกิดการท้าทายให้มีวิวาทะกันเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๗๓ ณ เมืองพนะทุเร นอกกรุงโคลัมโบ ผู้คนมาร่วมฟังถึงห้าพันคน ซึ่งไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อนเลย ฝ่ายคริสต์เริ่มโจมตีฝ่ายพุทธ หาว่าเรื่องตายแล้วเกิดเหลวไหล เรื่องการทำให้คนสยบยอมกับโชคชะตา คือให้แล้วแต่บุญแต่กรรม ฯลฯ โดยที่ทางฝ่ายพุทธแก้ได้ตกหมด ทั้งยังอธิบายเรื่องการเกิดใหม่อย่างสมเหตุสมผลตามหลักวิทยาศาสตร์อีกด้วย โดยฝ่ายพุทธชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าของฝ่ายคริสต์นั้น ถ้าทรงฤทธาศักดานุภาพจริง ก็แสดงว่าใจร้ายและโหดเหี้ยม โดยอ้างจากคัมภีร์ไบเบิ้ลนั้นเอง
นี่นับเป็นครั้งแรกที่พุทธศาสนาเป็นเหตุให้ฝรั่ง แม้จนชนชั้นปกครองชาวอังกฤษในลังกาเริ่มหันมาสนใจพุทธศาสนา และข่าวการวิวาทะครั้งนี้แพร่ไปจนถึงสหรัฐ ซึ่งมีขบวนการต่อต้านทั้งคริสต์และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ หากพวกนี้ถือว่าคำตอบอยู่ที่ตะวันออก ซึ่งมีรหัสยนัยที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์ของตะวันตก
คนสำคัญของขบวนการนี้คือมาดามบลาวัตสกี้ (๑๘๓๑ - ๙๑) ซึ่งเป็นชาวยูเกรน (ก่อนรวมเข้าในสหภาพโซเวียต) แล้วอพยพไปอยู่นครนิวยอร์ค แล้วไปพบเฮนรี่ สตีล ออลคอต ซึ่งเคยสู้รบในสงครามระหว่างเหนือกับใต้ในสหรัฐจนได้ยศนายพันในกองทัพ ทั้งคู่นี้เห็นพ้องต้องกันว่าศาสนาคริสต์หมดดีเสียแล้ว และวิทยาศาสตร์ของตะวันตกก็ไม่ใช่คำตอบ หากควรค้นหาเทวธรรมและศาสนธรรมจากเอเชีย จึงร่วมกันตั้ง Theosophical Society (สมาคมของคนที่ต้องการแสวงหาธรรมะหรือปรัชญาจากเทพ) ขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๗๓ ปีเดียวกับที่เกิดวิวาทะครั้งสำคัญในลังกาทวีป ทั้งคู่นี้จึงอุดหนุนพระภิกษุชาวสิงหล และต่อต้านหมอสอนศาสนาฝรั่งในลังกา โดยที่ทั้งคู่ประกาศตนเป็นพุทธศาสนิก หากออลคอตรับไตรสรณาคมและปัญจศีลจากพระภิกษุที่ลังกาเลยทีเดียว
เมื่อปีกลาย (ค.ศ. ๒๐๐๒) ศาสตราจารย์ดอนัลด์ โลเพช แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนใน สหรัฐ รวมรวมหนังสือใหม่ออกมาเล่มหนึ่ง อ้างว่าข้อเขียนที่ตีพิมพ์อยู่ในเล่มนั้น เป็นบทอ่านที่สำคัญทั้งจากตะวันออกและตะวันตก ตั้งชื่อหนังสืออย่างโก้เก๋ว่า A Modern Buddhist Bible เขาเรียงชื่อและข้อเขียนของคนที่ถือพุทธสมัยใหม่ ทั้งฝรั่งและชาวเอเชีย ตามลำดับปีเกิดของคนนั้น ๆ เริ่มแต่มาดามบลาวาสกี้ เซอร์เอดวิน อาร์โนลด์ (ที่เขียนเรื่อง The Light of Asia เป็นบทกวี ซึ่งมีชื่อมากและแปลเป็นไทยแล้วหลายสำนวน โดยที่ผู้เขียนได้รับตราเบญจมาภรณ์ช้างเผือกจากในหลวงรัชกาลที่ ๕ ด้วย) แล้วก็ออลคอต ชาวไทยมีท่านอาจารย์พุทธทาสกับข้าพเจ้ารวมอยู่ด้วย
ประเด็นสำคัญก็คือ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ถือว่า ชาวพุทธสมัยใหม่เริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๗๓ ตอนที่มีวิวาทะอย่างสำคัญในลังกา ทั้ง ๆ ที่เจ้าฟ้าพระมงกุฎหรือวชิรญาณภิกขุ (ที่ต่อมาเสวยราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔) ทรงมีวิวาทะอย่างเงียบ ๆ กับสังฆราชบาทหลวงชาวฝรั่งเศส และศาสนาจารย์ชาวอเมริกันมาก่อนหน้านั้น และถ้าจะถือเอาเอกสาร ซึ่งแสดงความทันสมัยของชาวพุทธที่ปรากฏกับฝรั่ง ก็ต้องถือเอา The Wheel of the Law ที่ตีพิมพ์แต่ ค.ศ. ๑๘๗๑ เป็นเกณฑ์
โดยที่ศักราชดังกล่าวเป็นเพียงตัวชี้ให้เห็นว่าชาวพุทธในเอเชียไม่ยอมให้ฝรั่งกดขี่ว่าพุทธศาสนาล้าหลังคริสตศาสนา หรือขัดกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ของฝรั่งอีกต่อไป
พร้อม ๆ กันนั้น ฝรั่งก็เริ่มสนใจพุทธศาสนามาก่อนศักราชทั้งสองนั้นแล้ว โดยเริ่มจากการที่อังกฤษไปยึดครองได้ทั้งชมภูทวีปและลังกาทวีปมาไว้ในอาณานิคม
แม้ชนชั้นนำในอังกฤษจะเห็นว่า ภารตประเทศหรือชมภูทวีป ไม่มีภาษาหรืออารยธรรมเทียบเท่าของยุโรป ดังทอมัส แมกคอเล่ย์ทำบันทึกเสนอลอร์ดเบนตินต์ ผู้สำเร็จราชการของอินเดียที่กัลกัตตาในปี ค.ศ. ๑๘๓๕ ว่าภารตประเทศไม่มีวรรณคดีที่มีค่า แม้ภาษาสันสกฤตก็คือปรัมปราคติอันเหลวไหล เต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ต่าง ๆ คนอินเดียในจักรวรรดิของอังกฤษ ควรเรียนแต่ภาษาอังกฤษเท่านั้น จะได้ปรับตัวให้ทันกับความทันสมัย นี้แลถือได้ว่าเป็นต้นตอที่มาของการศึกษาสมัยใหม่ที่อังกฤษมอบให้คนพื้นเมือง แม้คนอังกฤษที่สนใจภาษาบาลีสันสกฤต อย่างเทอนัลที่ลังกาจะปฏิเสธทัศนคติของแมกคอเลย์ แต่เขาก็เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยเกินไป หากเขาได้แปลคัมภีร์ มหาวงศ์ พงศาวดารลังกา จากภาษาบาลีเป็นอังกฤษ โดยได้ตีพิมพ์แต่ ค.ศ. ๑๘๓๖นั้นแล้ว ดังเขายืนยันว่านี่เป็นประวัติศาสตร์พุทธศาสนาและประวัติศาสตร์ลังกาสมัยแรก ซึ่งแล้วเสร็จก่อนตำราในทำนองเดียวกันนี้ที่อังกฤษ (คือ Historia Ecclesiastica Genis Anglorum ของพระคุณเจ้าบีดี รวมทั้ง Anglo Saxon Chronicles ต่าง ๆ) หลายศตวรรษ
เทอนัลถือว่าคัมภีร์นี้เล่มเดียวก็เอาชนะทัศนะของชนชั้นปกครองในอังกฤษได้แล้ว โดยที่คนพวกนี้ดูถูกว่าเอเชียใต้ไม่มีประวัติความเป็นมาแต่บุรพกาล และไม่มีภาษาที่บันทึกกวีวัจนะหรือพงศาวดารอย่างชาวยุโรปเอาเลย ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ก็ตรงที่ คัมภีร์มหาวงศ์ ช่วยให้คนที่สนใจกลับไปแสวงหาองค์พระศาสดาผู้เป็นต้นตอที่มาของมหาวงศ์ และภาษาบาลีเป็นภาษาที่จารึกพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ และคำอธิบายต่าง ๆ ในทางพุทธศาสนาสืบต่อกันมาเป็นลำดับ ๆ ใช่แต่เท่านั้น มหาวงศ์ ยังช่วยให้นักโบราณคดีในชมภูทวีปใช้เป็นเอกสารประกอบการขุดค้นของพวกเขาตามเจดียสถานต่าง ๆ ให้ได้รู้แน่ว่าที่แห่งนั้นเคยมีความสำคัญอย่างไร อย่างน้อยก็แต่สมัยพระเจ้าอโศกเป็นต้นมา
เทอนัลรับราชการอยู่ที่ลังกา ในขณะที่ เซอร์วิลเลียม โจนส์ รับราชการอยู่ที่อินเดีย แต่ปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๘ เสียด้วยซ้ำ ตามตำแหน่งนั้นเป็นผู้พิพากษา แต่สนใจภาษาสันสกฤต แม้จะอุทิศชีวิตไปทางคัมภีร์พราหมณ์ หากเมื่อถอดรหัสศิลาจารึกโบราณของบางอักษรได้ ช่วยให้เขาเข้าใจในเรื่องพุทธศาสนา โดยเขาผู้นี้ได้ตั้งสมาคมศึกษาและค้นคว้าวิทยาการทางด้านทวีปเอเชียขึ้นด้วย จนถึงกับตั้งวิทยาลัยให้คนอินเดียเองได้ศึกษาภาษาสันสกฤตอีกด้วย
รุ่นถัดจากโจนส์มา จึงถึงรุ่นยอช เทอนัล ดังที่ได้เอ่ยชื่อเขามาก่อนแล้ว และอีกสองคนที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับเทอนัล ได้แก่ ไบรอัน ฮอจสันและเจมส์ ปรินเซป
งานของคนทั้งสองนี้รวมกัน นับเป็นประทีปที่ส่องแสงให้อย่างสว่าง ยิ่งกว่าที่โจนส์เริ่มมาแล้วเสียอีก กล่าวคือในขณะที่เทอนัลค้นคว้าหาความรู้จากภาษาบาลีที่ลังกา ฮอจสันค้นคว้าทางด้านภาษาสันสกฤตและธิเบตที่เนปาล ซึ่งช่วยให้ผู้ที่สนใจในสมัยนั้น รู้เรื่องของมหายานและตันตรยาน ในขณะที่ทางลังกาเน้นไปทางหีนยานหรือเถรวาท
สำหรับปรินเซปนั้น ชอบขุดค้นทางโบราณคดี และถอดถ้อยคำจากอักขระที่จารึกไว้ตามโบราณสถานต่าง ๆ ที่สำคัญคือแท่งศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก ซึ่งเวลานั้นยังไม่มีใครรู้ว่าท่านผู้นี้เป็นใคร เพราะในจารึกที่ปรินเซปเริ่มถอดรหัสออกจากอักษรพราหมี รู้ได้แต่ว่าจารึกนั้นทำขึ้นตามพระราชโองการของพระเจ้าเทวานัมปิยะ หาไม่ก็พระเจ้าปิยะทัสสี ต่อเมื่อมาตรวจกับคัมภีร์มหาวงศ์ จึงทราบว่านี่ไม่ใช่พระเจ้ากรุงลังกา หากเป็นพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้เป็นราชพันธมิตรกับพระเจ้าแผ่นดินลังกา (ซึ่งทรงพระนามว่าเทวานัมปิยะดิศ) จนถึงกับส่งพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ทรงผนวชไปประกาศพระศาสนาที่ลังกาทวีป
การที่ปรินเซปอ่านจารึกพระเจ้าอโศกออก ช่วยให้ฝรั่งมั่นใจในพระพุทธองค์ในฐานะที่เป็นบุคคลจริง ๆ ในประวัติศาสตร์ของอินเดียสมัยโบราณ ถึงกับตามค้นหาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับพระพุทธองค์ ณ ที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา นิพพานและอื่น ๆ
ยังต่อมา บันทึกการเดินทางของหลวงจีนฟาเหียนและหลวงจีนเหี้ยนจัง (พระถังซำจั๋ง) ที่มีแปลออกเป็นภาษาฝรั่งก็ช่วยให้นักค้นคว้า หาสถานที่ต่าง ๆ ที่เนื่องด้วยพุทธประวัติอย่างชัดเจนขึ้นอีกด้วย
แปลกก็ตรงที่ ชาวชาติเอเชียเมื่อกว่าร้อยปีก่อนโน้น มีแต่พระเจ้าอังวะพระองค์เดียวที่ส่งสมณทูตไปพุทธคยา เพื่อแสวงหาที่ตรัสรู้ โดยอาศัยศักราชของพระเจ้าอโศกยืนยันได้ว่า พุทธปรินิพพานเป็นไปก่อน ค.ศ. ๕๔๓ ปี ดังพวกเราชาวเถรวาทก็เชื่อตามนี้แทบทั้งนั้น โดยฝรั่งยันปีราชาภิเษกของพระเจ้าอโศก ว่าเกิดขึ้นเมื่อพุทธปรินิพพานล่วงแล้วไปเท่าไรปี โดยเอามาเทียบกับรายงานของราชทูตกรีกที่ส่งเอกสารไปยังประเทศตน แล้วคำนวณว่าพุทธปรินิพพานเกิดขึ้นหลังจากศักราชที่เรานับ ๆ กันกว่าร้อยปี แต่เรื่องนี้ ก็ยังตกลงกันไม่ได้โดยเด็ดขาด แม้จนบัดนี้แล้วก็ตาม
พระเจ้าแผ่นดินไทยที่เสด็จถึงชมภูทวีปเป็นพระองค์แรก คือพระจุลจอมเกล้าฯ ซึ่งเสด็จถึงป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน ที่ทรงแสดงปฐมเทศนา หากไม่ได้เสด็จถึงพุทธคยา แม้เวลานั้นจะค้นกันได้แล้วว่านี่คือที่ตรัสรู้ หากรถไฟไปไม่ถึง ถ้าจะเสด็จต้องทรงม้าหรือทรงเกวียน จึงไม่ทรงมีเวลาพอ
สำหรับการแสวงหาพระพุทธเจ้าของฝรั่งนั้น แม้จะมีจารึกของพระเจ้าอโศก แต่ฝรั่งก็มุ่งทางประวัติศาสตร์ของโลกปัจจุบัน เพราะที่กรุงกบิลพัสดุ์ มาศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก บ่งว่าที่ตรงนั้นพระกกุสันโธพุทธเจ้าประสูติ แต่ฝรั่งก็ไม่สนใจที่จะแสวงหาความจริงต่อไป ดังที่หลวงจีนฟาเหียนและพระถังซำจั๋งก็จารึกไว้ว่า ณ ที่นั้นพระพุทธเจ้าเคยแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องนั้น ๆ ฝรั่งสนใจ ตามไปหาสถานที่จนพบ แต่ที่ท่านจารึกไว้ว่าเกิดอิทธิปาฏิหาริย์อย่างไรบ้างในคราวนั้น ๆ ฝรั่งไม่สนใจเอาเลย โดยที่พวกเราในเวลานี้ ก็ดูจะคล้อยตามฝรั่งไปมากในแนวนี้
ที่สำคัญล่าสุดในการค้นพบพระพุทธองค์ตามประวัติศาสตร์อย่างฝรั่งก็คือนายทอมัส เปปเป้ ที่ค้นพบสวนลุมพินีที่พระพุทธเจ้าประสูติ ในปี ค.ศ. ๑๘๙๗ ทั้งยังได้พบผอบซึ่งมีอัฐิธาตุอย่างกระดูกมนุษย์ในผอบนั้น พร้อมทั้งจารึกสมัยก่อนอโศก ว่าเป็นพระบรมธาตุของพระศาสดา และอัฐิธาตุของพระญาติในราชศากยสกุลด้วยอีกหลายพระองค์ ซึ่งคงจะถูกพระเจ้าวิทูทภะประหาร คราวเสด็จไปล้างโคตรข้างพระมารดาด้วยความแค้น
ประเด็นที่พึงพิจารณาก็คือเราเคยเชื่อกันว่า พระบรมสารีริกธาตุนั้นเป็นดังเมล็ดงา เมล็ดถั่ว เพราะแม้จนบัดนี้พุทธศาสนิกก็ยังเชื่อว่า พระภิกษุที่ได้เข้าถึงบรมธรรมในขั้นตรัสรู้ อัฐิธาตุของท่านย่อมกลายสภาพไปเป็นเช่นนั้น ดังเรามีพระธาตุเช่นนี้กันมากมายทั้งที่ในเมืองไทย เมืองพม่า และลังกาทวีป
ก็เมื่อนายเปปเป้ได้รับคำยืนยันจากนักปราชญ์ที่สำคัญ ๆ ในวงการพุทธศาสนา อย่างศาสตราจารย์ริดส์ เดวิดส์ ผู้ก่อตั้งสมาคมบาลีปกรณ์แต่ใน ค.ศ. ๑๘๘๑ ว่านั่นคือพระธาตุของพระพุทธเจ้า แล้วไทยเราจะมีท่าทีอย่างไร
ในเวลานั้น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เสด็จออกทรงผนวชอยู่ที่ลังกาทวีป มีพระสมณฉายาว่าชินวรวงศ์ ทรงจาริกไปยังสวนลุมพินีที่เนปาล แล้วตรัสชวนให้รัฐบาลอังกฤษถวายพระธาตุที่เป็นกระดูกอย่างคน ๆ นี้ แด่พระจุลจอมเกล้า โดยประทานเหตุผลว่า ทรงเป็นองค์เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภกเหลืออยู่เพียงพระองค์เดียวในโลก แต่ทรงเกรงว่าอังกฤษจะไม่ทำตามคำตรัสชวนของพระองค์ จึงทรงหยิบเอาพระธาตุนั้นใส่ย่ามมา เผื่ออังกฤษไม่ถวายในหลวงรัชกาลที่ ๕ พระองค์ท่านก็จะถวายเอง เพื่อคืนดีกับพระเจ้าอยู่หัว เพราะต่างก็กริ้วโกรธซึ่งกันและกัน จึงทรงลาออกจากราชการแล้วไปทรงผนวช แม้ก่อนทรงผนวช ก็ถึงกับเคยทรงขอรับราชการกับอังกฤษที่พม่า และกับฝรั่งเศสที่กัมพูชา เพราะทรงแค้นรัชกาลที่ ๕ กับกรมสมเด็จพระสวัสดิวัตนวิศิษฐ์เป็นประเด็นสำคัญ
เผอิญลอร์ดเกอซันเพิ่งได้เป็นอุปราชอินเดีย และเห็นควรใช้การพระศาสนาเป็นอุบายทางการทูต จึงตกลงส่งพระธาตุที่ว่านี้มาถวายในหลวงรัชกาลที่ ๕ ซึ่งถึงแม้จะพอพระทัย ก็หนักพระทัยที่พระธาตุเป็นดังกระดูกสามัญมนุษย์ ทั้ง ๆ ที่ตรัสถามผู้รู้ในเมืองไทยให้ตรวจภาษาจากจารึกแล้ว ก็ยืนยันว่านั่นเป็นพระอัฐิธาตุของพระพุทธองค์จริง ๆ แต่เพื่อความแน่นอน โปรดให้ส่งเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งเคยบวชเรียนเป็นเปรียญมาก่อน ออกไปรับพระบรมสารีริกธาตุ
เจ้าพระยายมราชไปได้ฟังความที่ชินวรวงศ์ตรัสเล่า ก็เลยทูลฟ้องเข้ามา ว่าพระองค์นี้ลักขโมยของเขา ต้องอาบัติอทินนาทานปาราชิก ที่ตั้งพระทัยไว้ว่าจะดีกัน เพื่อเสด็จคืนสู่สยามก็เลยเป็นหมันไป ต่อในหลวงรัชกาลที่ ๕ สวรรคตแล้ว ชินวรวงศ์จึงเสด็จเข้ามาถวายพระเพลิงพระบรมศพ แล้วไปเฝ้าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งก็ทรงยืนยันว่าชินวรวงศ์หมดความเป็นภิกษุภาวะไปแล้ว จึงต้องทรงละจากสมณเพศ แล้วดำรงพระชนม์อยู่ต่อมาในเมืองไทยอย่างไร้ความหวังใด ๆ สิ้น
พระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับมาในรัชกาลที่ ๕ นั้น โปรดให้ประดิษฐานไว้บนบรมบรรพต (ภูเขาทอง) ที่วัดสระเกศ เพราะเป็นที่ที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ ยังคณะชาวพุทธในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งลังกา พม่า จีน มงโกเลีย รัสเซีย และญี่ปุ่น ก็แต่งสมณทูตมาทูลขอส่วนแบ่งพระบรมธาตุนี้ด้วย และก็โปรดประทานแบ่งปันไป คล้าย ๆ กับเมื่อคราวถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว พระราชาต่าง ๆ ก็พากันมาขอส่วนพระบรมธาตุไปนั้นแล
มองดูในแง่ของพระบรมกฤษฎาภินิหาร ก็นับว่าน่าชื่นชม แต่มองในแง่ของชินวรวงศ์ ก็นับว่าน่าสงสาร และการที่ฝรั่งค้นหาพระพุทธองค์จากวิธีวิทยาของเขา ก็ทำให้เราเดินตามแนวทางของฝรั่งแต่นั้นมา หรือแต่ก่อนนั้นมา จนบัดนี้แล้ว เราก็ยังหากล้าประกาศอิสรภาพ ไปจากแนวทางของฝรั่งไม่.