แก่นพุทธศาสน์ (ฉบับสมบูรณ์)
คำบรรยายชุดแก่นพุทธศาสน์
ปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ ครั้งที่ ๑
เรื่อง ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา
หัวใจของพุทธศาสนาคือ
"สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น"

ณ ราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
๑๗ ธันวาคม ๒๕๐๔
ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา

ท่านสาธุชน ผู้สนใจธรรมทั้งหลาย

    โอกาสของการบรรยายครั้งเดียวเป็นพิเศษเช่นนี้ อาตมามีความเห็นว่า ควรจะได้กล่าวถึงเรื่องซึ่งเป็นใจความสำคัญ เป็นหัวข้อสรุปความของหลักธรรม จะเหมาะกว่าอย่างอื่น; ฉะนั้น จึงได้ตั้งใจที่จะกล่าวถึง ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา โดยหวังอยู่ว่าถ้าจับใจความหรือแนวที่เป็นใจความสำคัญทั้งหมดของพุทธศาสนาได้แล้ว จะเป็นการง่าย และสะดวกอย่างยิ่ง ในการที่จะศึกษาก้าวออกไปอย่างกว้างขวาง
    ถ้าจับใจความหรือแนวไม่ได้จะสับสน และจะรู้สึกว่ามันมากมาย และจะเพิ่มขึ้นๆจนมากมายเหลือที่จะจำ จะเข้าใจ หรือจะปฏิบัติ. อันนี้เป็นมูลเหตุของความล้มเหลว เพราะทำให้เกิดความท้อถอย และมีความสนใจที่พร่าหรือลางเลือนออกไปทุกที ในที่สุดก็คล้ายๆกับว่า เหมือนกับแบกเอาความรู้ตั้งมากมายเข้าไว้ แล้วไม่สามารถที่จะศึกษาหรือเข้าใจหรือประพฤติปฏิบัติ ให้เป็นชิ้นเป็นอันได้.
    เพื่อไม่สับสนขอให้สนใจที่จะทบทวน หรือฟังในลักษณะที่จะจับใจความสำคัญทั้งหมดของพระพุทธศาสนา เพื่อจะได้ความรู้ชนิดที่เป็นหลักมูลฐาน สำหรับเข้าใจธรรมะอย่างถูกต้อง. อาตมาขอเน้นตรงที่ว่า "เป็นหลักมูลฐาน" เพราะความรู้ชนิดที่ไม่ใช่หลักมูลฐานก็มี, และเข้าใจอย่างไม่ถูกต้องก็มี, คือมันเขวออกไปทีละน้อยๆจนเป็นพุทธศาสนาใหม่ : ถึงกับเป็นพุทธศาสนาเนื้องอกที่งอกออกไปเรื่อยๆ.
    ที่ว่า หลักพุทธศาสนามูลฐาน นั้นหมายความว่า: เป็นหลักที่มีความมุ่งเฉพาะไปยังความดับทุกข์ นี้อย่างหนึ่ง; แล้วเป็นสิ่งที่มีเหตุผลอยู่ในตัวเอง ที่ทุกคนอาจเห็นได้ โดยไม่ต้องเชื่อตามบุคคลอื่น นี้อย่างหนึ่ง.
    นี่คือส่วนประกอบที่สำคัญของสิ่งที่เป็นมูลฐาน.

    ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่อดับทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านทรงปฏิเสธไม่ยอมเกี่ยวข้องด้วย ไม่ยอมพยากรณ์. อย่างปัญหาที่ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่, อะไรไปเกิด, เกิดอย่างไร, ได้รับผลอย่างไร; อย่างนี้ มันไม่ใช่เป็นปัญหาที่มุ่งตรงไปยังเรื่องความดับทุกข์; และยิ่งกว่านั้นมันยังไม่เป็นพุทธศาสนา ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา ไม่อยู่ในขอบวงของพุทธศาสนา เพราะไม่ได้มุ่งหมายที่จะดับทุกข์ นี้อย่างหนึ่งแล้ว; แล้วยังมีอยู่ว่า ผู้ถามนั้นก็ได้แต่จะเชื่อตามผู้พูดดายไป เพราะว่าผู้ตอบก็ไม่อาจจะเอาอะไรมาแฉให้เห็นได้ ได้แต่พูดไปตามความรู้และความรู้สึก ผู้ฟังก็ไม่อาจจะเห็นสิ่งนั้นได้ ก็ต้องเชื่อตามผู้พูดดายไป. มันก็เลยเตลิดออกไปนอกเรื่องทีละนิดๆจนเป็นเรื่องอื่นไป ไม่เกี่ยวกับความดับทุกข์; และอยู่ในลักษณะที่ผู้ฟังต้องเชื่อตามผู้พูด อย่างหลับหูหลับตาไปเรื่อย, แล้วเดินออกไปนอกวงของการดับทุกข์ยิ่งขึ้นทุกที.
    ทีนี้ ถ้าหากว่าไม่ตั้งปัญหาอย่างนั้น จะตั้งปัญหาเรื่องว่า มีความทุกข์หรือไม่ และจะดับทุกข์ได้อย่างไร? นี่พระพุทธเจ้าท่านยอมตอบ, ตอบทุกคำ ผู้ฟังจะเห็นจริงได้ทุกคำ โดยไม่ต้องเชื่อดายไป, ไม่ต้องเชื่อตามผู้พูดดายไป ก็เลยยิ่งเห็นจริงขึ้นทุกทีๆจนเข้าใจในเรื่องนั้นได้.
    ถ้าเข้าใจถึงขนาดดับทุกข์ได้นั้น นั่นหมายถึงความเข้าใจที่เป็นไปถึงที่สุด จนถึงกับรู้ว่าแม้เดี๋ยวนี้มันก็ไม่มีคนที่กำลังมีชีวิตอยู่ คือมีความรู้ถึงขนาดที่มองเห็นโดยประจักษ์ว่า: ไม่ได้มีตัวตนหรือของตน มันเป็นแต่ความรู้สึกว่าตัวกู-ของกู ที่รู้สึกขึ้นมาตามความโง่ความเขลา ที่ไปหลงตามสิ่งที่มาแวดล้อมปรุงแต่งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อะไรเหล่านี้. พอมองเห็นชัดขนาดที่จะดับทุกข์ได้อย่างนี้แล้ว สิ่งที่เรียกว่า"ตัวเรา"นั้นก็หายไป, ความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู เหล่านี้ไม่มีเหลืออยู่; เพราะฉะนั้น จึงไม่มีใครเกิดอยู่ที่นี่ มันจึงไม่มีใครตาย แล้วไปเกิดใหม่. ปัญหาที่ถามว่า"ตายแล้วเกิดหรือไม่" เป็นปัญหาที่เขลาที่สุด และไม่เกี่ยวกันกับพุทธศาสนาเลย เพราะเหตุดังกล่าวมานี้.
    พุทธศาสนามุ่งหมายที่จะบอกให้รู้ว่า ไม่มีคน ที่เป็นตัวเราหรือของเรานั้น ไม่มี; มีแต่ความเข้าใจผิดของจิตที่ไม่รู้ สิ่งที่มีอยู่ก็เพียงแต่ร่างกายกับจิตใจ ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นธรรมชาติ หรือเป็นธาตุตามธรรมชาติ; มันมีอาการเป็นกลไก mechanism ปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงอะไรได้อยู่ในตัวมันเอง. ถ้าผิดวิธีก็เกิดความโง่ความหลงขึ้นมา จนให้รู้สึกว่า มีตัวเรามีของเรา; ถ้าถูกวิธีมันก็ไม่เกิดความรู้สึกอย่างนั้น แต่จะเป็นสติปัญญาอยู่ตามเดิม. รู้แจ้งเห็นจริงอยู่ตามเดิมว่า ว่างจากตัวเราหรือของเรา.
    เมื่อไม่มีคนอย่างนี้ ก็เป็นอันว่า ในวงของพุทธศาสนานั้นไม่มีปัญหาที่ว่า ตายแล้วเกิดหรือไม่, อะไรทำนองนั้น; แต่มีปัญหาว่า เป็นทุกข์หรือไม่ จะดับอย่างไร, และก็รู้จักมูลเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วก็ดับทุกข์เสียได้; และมูลเหตุให้เกิดทุกข์ ก็คือ ความหลง ความเข้าใจผิดว่ามีตัวเรา มีของเรา นั่นเอง.
    เรื่องตัวเรา เรื่องของเรา เรื่องตัวกู เรื่องของกูนี้ คือปัญหาเพียงอันเดียว ข้อเดียว, และเป็นใจความสำคัญของพุทธศาสนาเพียงข้อเดียว เรื่องเดียว ที่จะต้องสะสางให้หมดไป แล้วจะเป็นอันว่า รู้ เข้าใจ และปฏิบัติพุทธศาสนาทั้งหมดโดยไม่มีเหลือ; เพราะฉะนั้น ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี.
    ที่ว่าหลักมูลฐานนั้น มีส่วนที่เป็นหลักอยู่ไม่มากมาย จนถึงกับพระพุทธเจ้าท่านเรียกของท่านว่า มัน"กำมือเดียว"มันมี เรื่องเพียงกำมือเดียว, ไม่มากมาย เต็มไปทั้งบ้านทั้งเมือง หรือทั้งป่า ซึ่งในสูตรที่มีอยู่ในสังยุตตนิกาย เล่าเรื่องนี้ไว้ชัดว่า :
    เมื่อกำลังเดินกันอยู่ในป่า; พระพุทธเจ้าท่านกำใบไม้ที่เรี่ยราดอยู่ขึ้นมากำมือหนึ่ง แล้วถามภิกษุทั้งหลายในที่นั้นว่า "ใบไม้ที่กำขึ้นมานี้กับใบไม้หมดทั้งป่า มันมากน้อยกว่ากันกี่มากน้อย?" ทุกคนก็เห็นได้ว่ามันมากกว่ากันมาก จนเปรียบกันไม่ไหว; ถึงแม้พวกเราที่นี่ เดี๋ยวนี้ ก็ลองทำมโนภาพถึงของจริงในเรื่องนี้ดูให้เห็นชัดว่ามันมากยิ่งกว่ากันเสียทีก่อน. พระพุทธเจ้าจึงบอกว่านี่มันอย่างนี้ คือว่าเรื่องที่ตรัสรู้และรู้นั้นมันมากเท่าใบไม้ทั้งป่า, แต่เรื่องจำเป็นที่ควรรู้, ควรนำมาสอน, และมาปฏิบัตินั้น เท่ากับใบไม้กำมือเดียว.
    ข้อความเรื่องนี้มีคนเอาไปเขียนเป็นนวนิยายอย่างเรื่องกามนิต, คนที่เคยอ่านเรื่องกามนิตก็คงจะสังเกตเห็น เป็นเรื่องที่มีอยู่จริงในพระบาลี; ซึ่งเป็นเหตุให้ถือได้ว่า หลักมูลฐานที่จะประพฤติปฏิบัติเพื่อดับทุกข์โดยสิ้นเชิงนั้น เทียบส่วนแล้ว มันกำมือเดียว ในเมื่อไปเปรียบเทียบกับของทั้งบ้าน ทั้งเมือง ทั้งป่า ทั้งดง.
    คำว่า "กำมือเดียว" นี้ เราก็ต้องรู้สึกได้ว่า มันเป็นของไม่มากมาย หรือไม่เหลือวิสัย ไม่เกินวิสัยของคนเราจะเข้าถึงได้ และเราอาจเข้าใจอย่างถูกต้องได้. นี่คือใจความสำคัญในวาระแรกที่เราต้องทำความเข้าใจกัน, ในเมื่อทุกคนจะต้องเข้าใจหลักมูลฐานสำหรับเข้าใจพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง.
    ทีนี้ก็มาถึงคำว่า พุทธศาสนา ขอให้เข้าใจคำนี้ให้ตรง หรืออย่างถูกต้องอีก เช่นเดียวกันด้วย
    สิ่งที่เรียกว่า พุทธศาสนานั้น เมื่อตกมาถึงสมัยนี้แล้วมันพร่ามาก คือมันกว้างขวางไม่ค่อยจะมีขอบเขต. ถ้าเป็นอย่างสมัยพุทธกาลก็ใช้คำอื่น คือคำว่า ธรรมะ หมายถึง ธรรมเฉพาะที่ดับทุกข์; เขาไม่ได้เรียกกันว่าพุทธศาสนาอย่างที่เราเรียกกัน เดี๋ยวนี้เขาเรียกกันว่า "ธรรมะ".
    ถ้าเป็น ธรรมะของพระพุทธเจ้า เขาเรียกกันว่า ธรรมะของพระสมณโคดม; ถ้าธรรมะของลัทธิอื่น เช่น นิคันถนาฏบุตร เรียกว่า ธรรมะของนิคันถนาฏบุตร.
    ใครชอบใจธรรมะของใคร ย่อมพยายามศึกษาจนเข้าใจ แล้วก็ปฏิบัติตามแนวนั้น; ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกกันว่า ธรรมล้วนๆ, แล้วก็เป็นธรรมะล้วนจริงๆ ไม่มีเปลือก กะพี้ หรือส่วนที่มาเกี่ยวข้องทีหลังมากมายเหมือนเดี๋ยวนี้. เดี๋ยวนี้เรามาเรียกสิ่งนั้นว่าพุทธศาสนาแล้วเราเผลอไป หรือจะด้วยเหตุใดก็ตาม คำว่าพุทธศาสนา ของเรานี้ มันพร่ากว้างออกไป จนถึงกับรวมเอาสิ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เข้ามาด้วย.
    ท่านต้องสังเกตดูให้ดีว่า มีพุทธศาสนาอยู่ส่วนหนึ่ง, แล้วมันมีสิ่งที่เกี่ยวข้อง หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับพุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่ง; ส่วนนี้มีมากมายเหลือเกิน แล้วเราเอามารวบเป็นอันเดียวกันเรียกว่าพุทธศาสนา อย่างที่เข้าใจกันเดี๋ยวนี้.
    ลำพังตัวพุทธศาสนาแท้ๆก็มากอยู่แล้ว มากเท่ากับใบไม้ทั้งป่า ส่วนที่ต้องศึกษาปฏิบัติมีเพียงกำมือเดียว นี้ก็เรียกว่ามากอยู่แล้ว. ทีนี้ไปเอาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเข้ามาอีก เช่น เรื่องประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา, เรื่องจิตวิทยา ที่ขยายออกไป เช่นในแง่ของอภิธรรม; บางส่วนก็กลายเป็นเรื่องจิตวิทยา, บางส่วนก็เป็นรูปของปรัชญา, ขยายออกไปๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางฝ่ายนั้นก็ยังมีอีกมากมายหลายแขนง; เรื่องที่เกี่ยวกับพุทธศาสนามันจึงมากมาย และถูกกวาดเอามารวมเข้าไว้ในคำว่าพุทธศาสนา มันเลยทำให้มาก.
    ถ้าคนไม่รู้ ก็ไม่รู้จักจับเอาใจความสำคัญ มันก็เลยเหมือนกับว่าเห็นของมาก แล้วก็ไม่รู้จะเลือกเอาอันไหนดี; เหมือนกับเราเข้าไปในร้านขายของที่มีสารพัดอย่างจนงงไปหมด: ทำนองนี้ ก็เลยปล่อยไปตามความรู้สึกสามัญสำนึกนั่นบ้างนี่บ้าง ตามเรื่องตามราว. ส่วนมากก็ไปถูกเอาเรื่องที่ตรงกับกิเลส มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของสติปัญญา, เลยกลายเป็นเรื่องทำพิธีรีตองต่างๆ ทำบุญพอสักแต่ว่าให้แล้วๆไป, หรือเพื่อประกันความหวาดกลัวอะไรบางอย่าง; มันเลยไม่ถูกพุทธศาสนาตัวจริง.
    เพื่อให้รู้ถูกต้อง ขอให้เรารู้จักแยกสิ่งที่เป็นตัวพุทธศาสนาออกไปเสียจากสิ่งซึ่งเป็นเพียงเรื่องที่เกี่ยวข้องกันกับพุทธศาสนา แต่เข้ามารวมในชื่อของพุทธศาสนาด้วยเหมือนกัน.
    แม้ในส่วนที่เป็นพุทธศาสนานั้น ก็ยังต้องรู้จักแยกออกไปว่าอะไรเป็นหลักมูลฐาน หรือเป็นใจความสำคัญ. ฉะนั้น อาตมาจึงตั้งใจว่า จะกล่าวถึงเรื่องที่เป็นหลักมูลฐานอันสำคัญที่เป็นใจความสำคัญ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังรู้สึกงงว่าจะพูดในรูปไหนดี.
    ทีนี้ในการที่เข้ามาในโรงพยาบาลนี้ มันเป็นความรู้สึกที่ดลใจหรือเกิดขึ้นเอง คือทำให้นึกขึ้นมาได้เอง ถึงลักษณะที่ อรรถกถาทั้งหลาย ได้เรียกพระพุทธเจ้าโดยชื่อชื่อหนึ่งว่า เป็นแพทย์ทางฝ่ายวิญญาณ.
    บัดนี้ท่านได้ยินคำว่า "แพทย์ในทางฝ่ายวิญญาณ" แล้ว; อาตมาก็จะกล่าวไปตามตัวหนังสือ ท่านอาจไม่เข้าใจในทันทีก็ได้ จึงต้องการคำอธิบายบ้าง.
    ตามความหมายของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสธรรมไว้บางหมู่ และตามอรรถกถาที่ต้องการจะอธิบายธรรมะหมู่นั้น เกิดมีหลักที่ถือกันว่า มีโรคภัยไข้เจ็บอยู่ ๒ ประเภท คือโรคทางกาย กับ โรคทางจิต. บาลีใช้คำว่า "โรคทางจิต"ในครั้งกระนั้น; แต่เดี๋ยวนี้ คำว่าโรคทางจิตนี้มันมีความหมายไม่ตรงกับโรคทางจิตในสมัยอรรถกถา หรือสมัยพุทธกาล. โรคทางจิตในสมัยพุทธกาล หมายถึงโรคทางความคิดเห็น หรือทางกิเลส ตัณหา แต่ก็เรียกว่า โรคทางจิตใจ.
    เดี๋ยวนี้เราเอาคำว่า "โรคทางจิต" ไปใช้กับโรคทางจิตตามธรรมดาที่เนื่องกันอยู่กับร่างกาย ซึ่งไปปนกันอยู่กับโรคทางกาย จึงเป็นเหตุให้ไม่เข้าใจโรคทางฝ่ายวิญญาณ; เพราะฉะนั้นจึงขอบัญญัติคำกันขึ้นมาใหม่เป็น ๓ คำว่า : โรคทางกาย หรือ physical disease โรคทางจิต หรือ mental disease, สองอย่างนี้เอาไว้ในฝ่ายโรคทางกายหมด แล้วก็มีคำว่า spiritual disease, นี้แหละคือโรคในทางวิญญาณ ซึ่งตรงกับทางจิตในสมัยพุทธกาล.
    คำว่า spiritual และ mental นี้ต่างกันไกลลิบ. mental หมายถึง จิตที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่กับกาย สัมพันธ์กันกับกาย ถ้าหากเราเป็นโรคทาง mental นี้ก็ไปโรงพยาบาลประสาท หรือโรงพยาบาลบ้านสมเด็จฯ มันก็เป็นเรื่องโรคทาง mental มิได้เป็นโรคทาง spiritual นั้น.
    คำว่า "วิญญาณ"ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า วิญญาณภูตผี ปีศาจ ถูกผีสิง อะไรทำนองนั้น ไม่ใช่; แต่หมายถึงวิญญาณ หรือจิต หรือมโนส่วนลึก ที่มันเป็นโรคได้ด้วยอำนาจของกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คืออวิชชา หรือมิจฉาทิฏฐิ ถ้าเป็นจิตที่ประกอบอยู่ด้วยอวิชชาหรือมิจฉาทิฏฐิ แล้วก็เป็นโรคทางวิญญาณ คือเห็นผิด. เห็นผิดเป็นเหตุให้พูดผิด คิดผิด ทำผิด แล้วก็เป็นโรคตรงที่ทำผิด คิดผิด พูดผิด.
    ท่านจะเห็นได้ทันทีว่า spiritual disease โรคทางวิญญาณนี้เป็นกันทุกคน ไม่ยกเว้นใคร; ส่วน physical disease, mental disease นั้น เป็นกันบางคน และเป็นบางเวลา และเรื่องมันก็ไม่มากมายเสียหายใหญ่โตอะไรนัก คือมันไม่ทำให้ใครเป็นทุกข์อยู่ทุกลมหายใจเข้าออกได้เหมือนกับโรคทางวิญญาณ.
    โรคทาง physics หรือทาง mental นี้ ไม่เกี่ยวกันกับพุทธศาสนา ซึ่งเป็นยาแก้โรคทางวิญญาณ;หรือไม่เกี่ยวกันกับพระพุทธเจ้าที่เป็นแพทย์ในทางวิญญาณโดยตรง มันจึงเหลือแต่โรคที่อรรถกถาเรียกว่า "โรคทางจิต" ; หรือในบัดนี้ เราต้องบัญญัติลงไปว่า spiritual disease และเรียกว่า "โรคทางวิญญาณ"ดีกว่า.
    เรื่องนี้ทำให้อาตมานึกถึงข้อที่อรรถกถาเรียกพระพุทธเจ้าว่า"เป็นแพทย์ทางวิญญาณ" ก็รู้สึกต่อไปว่า ถือเอาแนวนี้พูดกันรู้เรื่องง่ายกว่า. โดยเหตุที่คนทุกคนเป็นโรคทางวิญญาณ จึงทุกคนต้องรักษาเยียวยาในทางวิญญาณ นั่นแหละคือธรรมะ, นั่นแหละคือพุทธศาสนากำมือเดียว, ที่จะต้องเข้าให้ถึง คือเอามาใช้ มากิน มาเยียวยารักษาโรคให้จนได้.
    ที่ต้องสนใจต่อไปอีก ก็คือว่า มนุษย์เราสมัยนี้ ไม่สนใจในเรื่องโรคทางวิญญาณ เพราะฉะนั้น จึงเป็นโรคทางวิญญาณกันหนักขึ้น ทั้งทางส่วนตัว และส่วนรวม; เพราะเมื่อทุกคนเป็นโรคทางวิญญาณแล้ว โลกนี้ทั้งโลกก็เป็นโรคทางวิญญาณไปหมด เป็นโลกที่มีโรคทางจิตทางวิญญาณ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่าวิกฤติกาลถาวรก็เข้ามาแทนที่ของสันติภาพถาวร, จะปลุกปล้ำกันอย่างไรๆมันก็ไม่เป็นสันติภาพแม้ชั่วขณะขึ้นมาได้ อย่าพูดถึงสันติภาพถาวรให้ป่วยการ. เพราะว่าทั้งสองฝ่ายเป็นโรคทางวิญญาณ คือทั้งฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายถูก และเรียกฝ่ายอื่นว่าเป็นฝ่ายผิดนั้น; ทั้งสองฝ่ายนั้นเป็นโรคทางวิญญาณ จึงมีแต่เรื่องที่จะสร้างความทุกข์ขึ้น ทั้งแก่ตัวเองและแก่ผู้อื่น เป็นเหมือนเครื่องจักรผลิตความทุกข์ขึ้นมาในโลก แล้วโรคทางวิญญาณนี้จะสงบได้อย่างไร.
    การแก้ไขมีอยู่ว่า ต้องทำให้ทุกคนในโลกนี้หยุดเป็นโรคทางวิญญาณ แล้วจะมีอะไรมาแก้? การแก้มันก็ต้องมีหยูกยาที่มีไว้เฉพาะโรคนี้ คือ ธรรมะกำมือเดียวในพระพุทธศาสนาที่จะต้องเข้าถึงให้ได้. นั่นแหละคือคำตอบที่ว่า ทำไมพุทธศาสนาจึงไม่เป็นที่พึ่งแก่คนในโลกนี้ ให้เต็มตามความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาได้; ทั้งๆที่เราถือกันว่าเดี๋ยวนี้พระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน หรือมีส่วนที่เข้าใจถูกต้องกันยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน.
    จริงอยู่ในข้อที่ว่ามีการศึกษาพุทธศาสนามาก และเข้าใจกันมากขึ้น; แต่ถ้าไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังเป็นโรคทางวิญญาณแล้วจะเอาพุทธศาสนาไปกินไปใช้ได้อย่างไร. ถ้าเราไม่รู้สึกว่าป่วย เราก็ไม่มาหาหมอ เราก็ไม่กินยา นี่ใครๆก็เห็นกันอยู่.
    ทีนี้คนเราในโลกโดยมาก ส่วนมากก็เป็นอย่างนี้ คือเป็นเรื่องเห่อยา ไปฟังธรรมะ ไปศึกษาธรรมะในฐานะที่เป็นยา แต่ก็ไม่รู้สึกตัวว่าตนเป็นโรค; ไปเอามาไว้เพียงสำหรับเก็บไว้ให้รกรุงรัง, หรือไว้พูดไว้เถียงกันเล่น จนกลายเป็นทะเลาะวิวาทไปก็มี, นี่แหละ ธรรมะยังไม่เป็นที่พึ่งให้แก่โลกได้เต็มที่ ก็เพราะเหตุนี้.
    ถ้าเราจะตั้งกลุ่มพุทธบริษัทขึ้นอย่างที่นี่ เดี๋ยวนี้ ก็ควรจะรู้ความมุ่งหมายที่แท้จริง ให้กิจการนี้ดำเนินไปตรงจุด : คือ โดยประการที่ธรรมะนี้จะช่วยรักษาเยียวยาโรคทางวิญญาณได้โดยตรง และโดยเร็ว. อย่าให้พร่าจนไม่รู้ว่าไปทางทิศไหน. ขอให้เป็นไปในรูปที่ว่าเป็นยาอมฤตศักดิ์สิทธิ์เพียงกำมือเดียว แล้วใช้ให้มันถูก ใช้ให้มันตรง มันก็จะแก้โรคได้หมด; แล้วการที่ตั้งกลุ่มหรือสมาคมขึ้นมาอย่างนี้ จะเป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง หรือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง; เพราะฉะนั้น ขอให้เราทำให้สำเร็จประโยชน์อย่างยิ่ง, อย่าให้เป็นที่น่าหัวเราะเยาะแต่ประการใด แม้แต่นิดเดียว.
    ทีนี้ข้อที่ว่า เป็นโรคทางวิญญาณนั้นคืออย่างไร? แล้วจะรักษากันด้วยธรรมะกำมือเดียวอย่างไร? เราจะวินิจฉัยกันต่อไป.
    คำว่า "โรคทางวิญญาณ" นั้นก็คือ โรคที่มีเชื้ออยู่ที่ความรู้สึกว่า-ตัวเรา ว่า-ของเรา หรือว่า-ตัวกู หรือว่า-ของกู นั่นเอง. ที่มีอยู่ในใจ ประจำอยู่ในใจ เป็นเชื้อโรคอยู่; แล้วก็เบิกบานออกมาเป็นความรู้สึกว่าตัวกู-ของกู แล้วก็เห็นแก่ตัวแล้วก็ทำไปตามอำนาจความเห็นแก่ตัว; มันจึงเป็นเรื่องความโลภ ความโกรธ ความหลง ทำให้เดือดร้อนกันทั้งตัวเองและผู้อื่น. นี่คือ อาการของโรคทางวิญญาณมันเป็นอยู่ภายใน; ฉะนั้น ให้เรียกกันเพื่อจำง่ายว่า โรคตัวกู-ของกู จะดีกว่า ง่ายกว่า.
    พวกเรามีโรค "ตัวกู-ของกู" กันอยู่ทุกคน แล้วก็รับเชื้อนี้เพิ่มเติมเข้ามาทุกคราวที่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัส ทางผิวหนัง และคิดไปในใจตามประสาคนที่ไม่รู้, เขาเรียกว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ๖ อย่าง : คู่กันกับตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ๖ อย่างด้วยเหมือนกัน. คือว่า มีการรับเชื้อหรือสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เป็นโรคนี้ ที่ปรุงแต่งให้เป็นโรคนี้อยู่ทุกคราวที่มีการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ฯลฯ.
    เราจะต้องรู้จักเชื้อ คือ ความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเรียกโดยภาษาบาลีว่า"อุปาทาน". อุปาทาน แปลว่า ความยึดมั่นถือมั่น ความยึดมั่นถือมั่นมี ๒ อย่าง : คือยึดมั่นว่าเรา และยึดมั่นว่าของเรา.
    "ยึดมั่นว่าเรา" นั้นคือรู้สึกว่า เราเป็นเรา เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้ เราเป็นลูกผู้ชายแพ้ใครไม่ได้ อะไรทำนองนี้; นี่เรียกว่าเรา.
    ทีนี้"ของเรา" คือว่า นั่นของเรา นั้นของที่เรารักที่เราชอบ แม้ที่เราเกลียด ก็ถือว่าเป็นศัตรูของเรา; นี่เรียกว่าเป็นของเรา.
    ถ้าเรียกอย่างบาลี ก็เรียกว่า "อัตตา" นี้คือ ตัวเรา, "อัตตนียา" นี้คือของเรา. ถ้าเรียกกว้างออกไปอย่างที่ใช้เรียกในทุกแขนงของปรัชญาในอินเดียแล้ว เขาเรียกว่า อหังการ นี้คือตัวเรา, มมังการ นี้คือของเรา. อหังการแปลว่า ทำความรู้สึกว่าเรา เพราะคำว่า อหัง แปลว่าเรา, และมมังการ แปลว่า ทำความรู้สึกว่าของเรา เพราะคำว่า มมะ แปลว่าของเรา.
    ความรู้สึกว่า เป็นอหังการ มมังการ นี้คือตัวอันตรายที่ร้ายกาจที่สุด หรือตัวสิ่งที่เป็นพิษที่ร้ายกาจที่สุด ซึ่งเราเรียกว่าโรคในทางวิญญาณ ในที่นี้; ซึ่งทุกแขนงของปรัชญา หรือธรรมะในอินเดียครั้งพุทธกาลต้องการจะกวาดล้างสิ่งนี้ด้วยกันทั้งนั้น; แม้จะเป็นลัทธิอื่นนอกไปจากพุทธศาสนา ก็ต้องการจะกวาดล้างสิ่งที่เรียกว่าอหังการและมมังการนี้ทั้งนั้น. มันมาผิดกันตรงที่ว่า ถ้ากวาดล้างสิ่งนี้ออกไปแล้ว เขาไปเรียกมันใหม่ว่าตัวตนที่แท้จริง อาตมันบริสุทธิ์ที่ต้องการ. ส่วนพุทธศาสนาเราไม่ยอมเรียกว่า ตัวตนที่บริสุทธิ์ หรืออาตมันที่ต้องการ เพราะไม่ต้องการจะยึดถือตัวตนหรือของตน อะไรขึ้นมาอีก เลยจัดเป็นความว่างที่สุด ที่เรียกว่า นิพพาน. อย่างในบทที่ว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ ซึ่งแปลว่า ว่างที่สุดนั่นแหละคือนิพพาน ก็แปลว่าว่างจากตัวกู ว่างจากของกู โดยเด็ดขาด โดยประการทั้งปวงไม่เหลือเยื่อใย นั่นแหละคือนิพพาน หรือความหายจากโรคทางวิญญาณ.
    ในเรื่องความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกูนี้ มันมีความลับมาก ถ้าไม่สนใจจริงๆแล้ว ก็เข้าใจไม่ได้ว่า มันเป็นตัวการของความทุกข์ หรือเป็นตัวการของโรคทางวิญญาณ.
    สิ่งที่เรียกว่าอัตตาหรือตัวตนนี้ มันตรงกับคำว่า ego ในภาษาลาตินที่รู้จักกันดี ถ้าความรู้สึกที่เห็นแก่ตัวตนเกิดขึ้น เราเรียกว่า egoism; เพราะว่าถ้ารู้สึกว่า มีตัวเราแล้ว มันก็ต้องคลอดความรู้สึกว่าของเรานี้ออกมาด้วยเป็นธรรมดา ช่วยไม่ได้. เพราะฉะนั้น ความรู้สึกว่าตัวตนและของตนรวมกันนั้น คือ egoism. ความรู้สึกที่เป็นตัวตน หรือ ego นี้กล่าวได้ว่าเป็นของธรรมชาติธรรมดาที่ต้องมีอยู่ในสิ่งที่มีชีวิต แล้วยังแถมเป็นศูนย์กลางด้วย.
    ego ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษก็ต้องแปลว่า soul คืออัตตา และมันก็ตรงกับภาษากรีกว่า kentricon ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า centre, คำ kentricon นี้ตรงกับคำว่า centre ในภาษาอังกฤษซึ่งแปลว่าศูนย์กลาง. เมื่อ ego และ kentricon คือสิ่งๆเดียวกันแล้ว soul อัตตานี้ ก็เป็นสิ่งที่ถือกันว่า เป็นศูนย์กลางของสิ่งที่มีชีวิต เป็น nucleus ที่จำเป็นสำหรับสิ่งที่มีชีวิต; เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถเอาออกไปได้ หรือเราไม่สามารถจะเว้นจากสิ่งนี้ได้ สำหรับคนธรรมดา.

    เป็นอันว่า ทุกคนที่เป็นปุถุชน จะต้องมีความรู้สึกที่เป็น egoism อยู่เป็นประจำ; แม้ไม่แสดงออกมาให้เห็นชัดตลอดเวลาก็จริง แต่ก็จะแสดงออกมาทุกคราว ที่ได้เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสทางผิวหนัง หรือนึกอะไรขึ้นในใจ. ฉะนั้น ทุกคราวที่มันเกิดเต็มรูปขึ้นมา เป็นความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู ให้ถือว่าเป็นโรคโดยสมบูรณ์แล้ว จะโดยอาศัยการเห็นรูป หรือฟังเสียง หรือดมกลิ่น หรือลิ้มรส หรืออะไรก็ตาม ถ้าในขณะนั้นเกิดความรู้สึกว่า ตัวกู- ของกู แล้วละก็ถือว่าเป็นโรคโดยสมบูรณ์; คือ มันเกิดความรู้สึกที่เห็นแก่ตัวจัดขึ้นมา.
    ตอนนี้เราไม่เรียกว่า egoism แล้ว แต่เราจะไปเรียกว่า selfishness หรืออะไรทำนองนั้น คือมันเป็น egoism ที่เดือดพล่านและน้อมไปในทางต่ำ, หรือผิด, หรือข้างเห็นแก่ตัว จนไม่ดูหน้าใคร คือไม่เห็นแก่ผู้อื่น, ฉะนั้นมันจึงทำอะไรที่เป็นไปข้างเห็นแก่ตัวหมด เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ปรารภตัวเองหมด. นี่คืออาการของโรค แสดงออกมาเป็น selfishness แล้วมันก็ทำอันตรายผู้อื่น และรวมทั้งตัวเองด้วย คือเป็นอันตรายแก่โลกมากที่สุด.
    ที่โลกเรากำลังลำบาก ยุ่งยากอยู่เดี๋ยวนี้ มันก็ไม่มีอะไรนอกไปจากเพราะสิ่งที่เรียกว่า selfishness คือความเห็นแก่ตัวของแต่ละคน ของแต่ละฝ่ายที่คุมกันเป็นพวกๆ อยู่ในโลกในเวลานี้: การที่ต้องรบกันอย่างที่ไม่อยากจะรบ ก็จำต้องรบกันนี้ มันก็เพราะบังคับสิ่งนี้ไม่ได้ หรือทนต่ออำนาจของสิ่งนี้ไม่ได้ มันจึงเกิดเป็นโรคขึ้นมา.
    โรคเห็นแก่ตัวนี้มันตั้งขึ้นได้ คือมันรับเชื้อเข้ามาแล้วก่อเป็นโรคขึ้นมาได้ ก็เพราะว่าทุกคนไม่รู้จักสิ่งซึ่งเป็นเครื่องต้านโรค กล่าวคือ หัวใจของพุทธศาสนา.
    เดี๋ยวนี้อาตมาได้กล่าวคำว่า "หัวใจของพุทธศาสนา" ขอให้เข้าใจคำว่าหัวใจของพุทธศาสนาต่อไป.
    เมื่อถามกันขึ้นว่า อะไรเป็นหัวใจของพุทธศาสนา? อาจเห็นมีชิงกันตอบจนปากสลอนไปหมด คือ ใครๆก็ตอบได้ แต่มันอาจจะถูกหรือผิดนั้นอีกเรื่องหนึ่ง; และที่เขาตอบนั้นมันตอบ ตามที่ไปจำๆเขามา, หรือว่าเขามองเห็นด้วยสติปัญญาของเขาเอง ว่ามันเป็นหัวใจของพุทธศาสนาจริงๆ.
    ขอให้ลองสังเกตดูในส่วนนี้เถอะ ว่ามันเป็นกันอยู่อย่างไรในบัดนี้ ใครรู้จักหัวใจของพุทธศาสนาจริงๆ และเข้าถึงจริงๆบ้าง.
    เมื่อถามกันว่า อะไรเป็นหัวใจของพุทธศาสนา? คงจะมีคนตอบว่า อริยสัจจ์ ๔ ประการบ้าง, หรือเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาบ้าง,     หรือบางคนก็อ้างหลักว่า "สพฺปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ -ไม่ทำชั่วทั้งปวง ทำความดีให้เต็ม ทำจิตให้บริสุทธิ์; นี้คือ หัวใจของพุทธศาสนา" อย่างนี้ก็ได้ ก็ถูกเหมือนกัน แต่มันถูกน้อยที่สุดและว่าเอาเองด้วย; แล้วก็ยังเป็นเรื่องว่าตามๆกันไปด้วย ไม่ได้เห็นเอง ไม่ได้เห็นจริงด้วยตนเอง.
    สิ่งที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนานั้น อาตมาอยากจะแนะถึงประโยคสั้นๆที่มีกล่าวอยู่ว่า "สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น"
    เรื่องมันมีอยู่ในพระบาลีมัชฌิมนิกายว่า คราวหนึ่งมีคนไปทูลถามพระพุทธเจ้า โดยทูลว่าพระพุทธวจนะทั้งหมดที่ตรัส ถ้าจะสรุปให้สั้นเพียงประโยคเดียวได้หรือไม่ จะว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านว่าได้. พระองค์ตรัสว่า "สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย" : สพฺเพ ธมฺมา แปลว่า สิ่งทั้งปวง, นาลํ แปลว่า ไม่ควร, อภินิเวสาย-เพื่อจะยึดมั่นถือมั่น; สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แล้วพระองค์ก็ย้ำลงไปอีกทีหนึ่งว่า ถ้าใครได้ฟังความข้อนี้ก็คือได้ฟังทั้งหมดในพระพุทธศาสนา, ถ้าได้ปฏิบัติข้อนี้ก็คือได้ปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา, ถ้าได้รับผลจากการปฏิบัติข้อนี้ ก็คือได้รับผลทั้งหมดในพุทธศาสนา.
    นี่ลองคิดดูเองว่ามันเป็นหัวใจของพุทธศาสนาหรือยัง เพราะมันเป็นทั้งเรื่องวิชชา, เป็นทั้งเรื่องปฏิบัติ, และเป็นทั้งเรื่องผลของการปฏิบัติ. มันสมบูรณ์ถึงอย่างนี้ คือรู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ปฏิบัติเพื่อไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ได้ผลมาเป็นจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร เป็นจิตที่ว่างที่สุด จึงถือว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา.
    ทีนี้ ถ้าใครเข้าถึงความจริงข้อนี้ว่า สิ่งทั้งปวงล้วนแต่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ก็แปลว่ามันไม่มีเชื้อที่จะเกิดเป็นโรคโลภ โกรธ หลง, หรือเป็นการกระทำผิดอย่างอื่น ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางจิต, และเมื่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ประดังกันเข้ามา เชื้อต่อต้านภายในที่ว่า "สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น" จะเป็นเชื้อต้านทานโรคอย่างยิ่ง; มันไม่รับเชื้อโรค หรือว่าถ้ารับมันก็รับเข้ามาทำลายหมดไป. มันไม่ก่อเชื้อลุกลามเป็นโรคขึ้นมาได้ เพราะมันมีสิ่งต้านทานคอยทำลายอยู่เรื่อย เป็นอำนาจต้านทานโรค เป็น immunity อย่างสูงสุดอยู่เรื่อย.
    นี่แหละคือหัวใจของพุทธศาสนา คือหัวใจของธรรมะทั้งหมด ที่ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น หรือเป็นบาลีว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย.
    บุคคลชนิดที่รู้หัวใจของพุทธศาสนานี้ ย่อมเป็นบุคคลที่เหมือนกับมีเชื้อต้านทานโรค หรือเชื้อทำลายโรคอยู่ในตัวเขา เขาจึงเป็นโรคทางวิญญาณไม่ได้, แต่คนธรรมดาสามัญ ที่ไม่รู้หัวใจของพุทธศาสนานั้นก็ต้องเป็นตรงกันข้าม คือเป็นเหมือนกับบุคคลที่ไม่มีอำนาจต้านทานโรค หรือ immunity ในตัวเสียเลยแม้แต่นิดเดียว จึงลุกลามเป็นโรคทางวิญญาณนี้โดยเร็วและเป็นอยู่ประจำ.
    เมื่อพูดมาถึงเท่านี้ ก็คงจะเข้าใจได้แล้วว่า คำว่า"โรคทางวิญญาณ" หรือ แพทย์ผู้รักษาโรคทางวิญญาณ นี้หมายความว่าอย่างไร? และได้แก่ใคร? ต่อเมื่อเราเห็นว่าได้แก่พวกเรา เมื่อนั้นเราก็จะกระตือรือร้นกันอย่างยิ่ง และถูกทางด้วย ที่จะรักษาโรคของเรา. ก่อนหน้านี้เราไม่รู้ เราก็สนุกสนานกันไปตามเรื่อง เหมือนกับคนที่เป็นโรคร้ายๆ เช่น โรคมะเร็ง โรควัณโรค หรืออะไรก็ตาม เขาไม่รู้เขาก็หลงใหลเพลิดเพลินไปตามเรื่องตามราว ไม่คิดจัดการเยียวยารักษาโรค จนกระทั่งสายเกินไป แล้วจะต้องตายเพราะเหตุนั้น.
    เราจะไม่เป็นคนประมาทถึงขนาดนั้น อย่างนั้นเรียกว่าประมาทให้สมตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า อย่าประมาท จงสมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท หมายถึงอย่างนี้. เพราะฉะนั้นเราเป็นผู้ไม่ประมาท ก็ต้องเหลือบตาดูเสียบ้างว่า เป็นโรคทางวิญญาณกันอย่างไร? หรือพยายามสอบสวนให้รู้จักเชื้อโรค หรือตัวโรค ทางมาของโรคในทางวิญญาณอย่างถูกต้องอยู่เสมอๆ แล้วก็จะต้องได้รับ สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ทันในชาตินี้เป็นแน่นอน.
    เราจะต้องดูกันให้ละเอียดต่อไปอีก ถึงข้อที่ ความยึดมั่นถือมั่นนี้เป็นตัวโรค หรือว่าเป็นเชื้อโรค แล้วก็ลุกลามเป็นโรคได้อย่างไร.
    ถ้าท่านสังเกตสักนิดหนึ่ง ก็จะเห็นได้ด้วยกันทุกคนว่า: ความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวกูก็ตาม เป็นของกูก็ตาม นี่แหละคือแม่บทของกิเลสทั้งปวง.
    กิเลสนั้นเราจะแจกเป็น โลภะ โทสะ โมหะ ก็ได้, ราคะ โกธะ โมหะ ก็ได้, หรือจะซอยลงไปให้ละเอียดเป็น ๑๖ อย่าง เป็นกี่อย่างก็ได้; ผลสุดท้ายมันก็รวมเป็นโลภ โกรธ หลง. แต่ว่าทั้งโลภ ทั้งโกรธ ทั้งหลง ทั้งสามอย่างนั้น รวมเหลืออย่างเดียวก็ได้ คือความรู้สึก ว่าตัวกู ว่าของกู.
    ความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู ที่เป็นศูนย์กลาง(nucleus)อยู่ภายในนั้น มันคลอดออกมาเป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลง :
    - ออกมาเป็นโลภ คืออยากได้ หรือกำหนัดรักใคร่ คือออกมาดึงดูด หรือรับเอาอารมณ์ที่มากระทบ.
    - ถ้าในขณะอื่น มันออกมาในรูปที่ผลักดันผลักไสอารมณ์ออกไป มันก็เป็นเรื่องของความโกรธหรือโทสะ.
    - แต่ในบางคราวมันก็โง่อยู่ ไม่รู้ว่าเป็นอะไรดี ได้แต่วนเวียนอยู่รอบๆ คือว่าไม่ดึงดูดหรือไม่ผลักออก, มันก็เป็นโมหะ.
    ที่กล่าวอย่างนี้ก็กล่าวเพื่อให้สังเกตง่าย ราคะหรือโลภะนั้นคือดูดเอาอารมณ์เข้ามา มีการดึงดูดเข้าหากัน; ที่เป็นโกรธะหรือโทสะนั้น คือผลักออกจากกัน; ที่เป็นโมหะความหลงนั้นมันวนเวียนอยู่ โดยไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรดี คล้ายกับเวียนอยู่รอบๆจะผลักออกก็ไม่กล้า จะดึงเข้าหาก็ยังไม่กล้า.
    อาการของความรู้สึกที่เป็นกิเลสนี้ จะมีอยู่ ๓ ประเภท ที่มันจะมีต่ออารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส; มันแล้วแต่ว่าอารมณ์นั้นมันมาในรูปไหน? คือมาในรูปเปิดเผยหรือเร้นลับ: มาในรูปที่ยั่วให้เข้าหา, หรือยั่วให้ผลักออก, หรือว่ามันไม่อาจเข้าใจได้ มันงงๆอยู่; อย่างนี้ทั้งนั้น.
    แต่ว่าแม้จะแตกต่างกัน ทั้งสามอย่างนี้มันก็เป็นกิเลส เพราะมันมีมูลมาจาก ตัวกู-ของกู ที่รู้สึกอยู่ในภายใน. เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวได้ว่า ความรู้สึกว่าตัวกู-ของกู ที่เป็นแม่บทของกิเลสทั้งปวงนี้ เป็นมูลเหตุของความทุกข์ทั้งปวง คือเป็นมูลเหตุของโรคทั้งปวง.
    อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสถึงความทุกข์ไม่ค่อยจะสังเกตกันให้ดีๆเลยเข้าใจผิด, ไปเข้าใจว่าเกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ฯลฯ นั้นเป็นอาการที่แจกออกไปเป็นลักษณะของอาการ. แต่ท่านได้ตรัสสรุปท้ายไว้ว่า "สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา" แปลว่า เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่น(คืออุปาทาน) นั่นแหละเป็นตัวทุกข์.
    ข้อนี้หมายความว่า สิ่งใดมีความยึดถือหรือถูกยึดถือก็ตาม ว่าตัวกู ว่าของกูแล้ว สิ่งนั้นคือตัวทุกข์. ในสิ่งใดไม่มีความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู-ของกูแล้ว สิ่งนั้นไม่มีทุกข์.
    ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อะไรก็ตาม ถ้าไม่ถูกยึดมั่นในฐานะเป็นตัวกู-ของกูแล้ว มันหาทุกข์ไปได้ไม่. ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่ถูกยึดมั่นว่าเป็นตัวกู-ของกูเท่านั้น ที่จะเป็นความทุกข์.
    ร่างกายและจิตใจนี้ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเป็นร่างกายและจิตใจแล้วมันจะต้องเป็นทุกข์กันไปหมด ไม่ใช่; มันต้องต่อเมื่อในนั้นมี ความยึดมั่นว่าตัวกูว่าของกูต่างหาก มันจึงจะเป็นทุกข์. ส่วนในร่างกายจิตใจที่บริสุทธิ์ล้วนๆไม่เจืออยู่ด้วยความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู นี้ไม่ทุกข์เลย. เช่นร่างกายและจิตใจของผู้ที่เราถือกันว่าเป็นพระอรหันต์ เป็นร่างกายและจิตใจที่สะอาด บริสุทธิ์ ไม่เจืออยู่ด้วยกิเลส คือตัวกู-ของกู จึงไม่ทุกข์ ไม่รู้สึกเป็นทุกข์.
    เราจะต้องรู้ว่า ตัวกู-ของกูนี้ เป็นมูลเหตุของความทุกข์ทั้งปวง.
    เมื่อมีความรู้สึกที่เป็นความยึดมั่นถือมั่นแล้ว มันก็มีลักษณะไปในทางมืด เป็นอวิชชา ไม่ใช่เป็นแสงสว่าง เพราะมันไม่ว่าง มันกลัดกลุ้มเดือดพล่านอยู่ด้วยความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู. ทีนี้สิ่งที่ตรงกันข้ามก็คือ จิตใจที่ไม่ประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู คือเป็นจิตว่าง; ไม่เดือดพล่านอยู่ด้วยความรู้สึกว่าตัวกู-ของกู อย่างที่ว่านั้น จิตอย่างนี้มันเต็มอยู่ด้วยสติปัญญา.
    เราจะต้องจับข้อเท็จจริงข้อนี้ให้ได้ว่า มันมีของอยู่ ๒ อย่าง คือความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู นั้นอย่างหนึ่ง, และสติปัญญา อีกอย่างหนึ่ง. สองอย่างนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างตรงกันข้าม ถ้าสิ่งหนึ่งเข้ามา อีกสิ่งหนึ่งต้องกระเด็นออกไป; ถ้าสิ่งหนึ่งมีอยู่แล้ว อีกสิ่งหนึ่งอยู่ไม่ได้. ถ้าความรู้สึกที่ว่าตัวกู-ของกู เต็มปรี่อยู่แล้วละก็ สิ่งที่เรียกว่าสติปัญญานี้เข้ามาไม่ได้. ถ้าสติปัญญามีอยู่แล้ว ตัวกู-ของกูก็หายไป, ว่างจากตัวกู-ของกู หรือว่างจากตัวกู-ของกูนั่นแหละ คือสติปัญญา.
    ถ้าจะกล่าวอย่างฉลาดๆคือกล่าวอย่างรวบรัด แต่ค่อนข้างจะน่ากลัวนี้ ก็กล่าวอย่างพวกนิกายเซ็นหรืออย่างฮวงโป กล่าวว่า ความว่างนั้นคือธรรมะ ความว่างนั้นคือพุทธะ ความว่างนั้นคือจิตเดิมแท้หรือจิตตัวแท้ นี้ฝ่ายหนึ่ง; ส่วนฝ่ายไม่ว่าง ความไม่ว่างหรือความวุ่นนั้น คือไม่ใช่ธรรมะ ไม่ใช่พุทธะ ไม่ใช่จิตเดิมแท้ แต่เป็นความคิดปรุงแต่งใหม่; เกิดเป็นของ ๒ อย่าง ตรงกันข้ามกันขึ้นมาอย่างนี้ เมื่อเรารู้จักของ ๒ อย่างนี้แล้ว จะเข้าใจธรรมะทั้งหมดได้ง่ายที่สุด.
    อย่างท่านที่นั่งฟังที่นี่ เดี๋ยวนี้ กำลังว่างอยู่ กำลังไม่มีความคิดปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกู-ของกู กำลังฟังอยู่และกำลังมีสติปัญญาอยู่ ความรู้สึกว่าตัวกู-ของกู เข้ามาไม่ได้; แต่ถ้าว่าบางคราว หรือโอกาสอื่น, เมื่อมันมีอะไรมากระทบเกิดความรู้สึกว่าตัวกู-ของกูขึ้นมาแล้ว ความว่างในใจอย่างที่ท่านมีอย่างที่นี่ จะหายไปทันที เพราะฉะนั้น ย่อมหมายความว่าสติปัญญาได้หายไปทันที.
    ตรงนี้ขอแทรกนิดหน่อยว่า สิ่งที่เรียกว่าสติปัญญานี้ เราหมายถึงสติปัญญาที่แท้จริง; เพราะยังมีสติปัญญาไม่ใช่ที่แท้จริง คือสติปัญญาที่ไม่เกี่ยวกันกับความว่างจากตัวกูนั่นเอง. สติปํญญาเฉลียวฉลาด ในทำนองนั้น ภาษาบาลีเขาไม่เรียกว่าสติปัญญา, มีคำอีกคำหนึ่งในภาษาบาลีสำหรับเรียกสติปัญญาชนิดนั้นว่า "เฉโก"; เฉโกก็แปลว่าปัญญาเหมือนกัน ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็แปลว่าปัญญา แต่มันไม่ใช่สติปัญญาอย่างที่ว่างจากตัวกู มันกลับเป็นสติปัญญาที่เต็มอัดอยู่ด้วยตัวกู-ของกู คือสติปัญญาโง่ที่จะไปเอา ไปเป็น ไปยึดมั่นถือมั่น นั่นเอง. สติปัญญาอย่างนี้ต้องได้รับการยกเว้น ไม่รวมอยู่ในคำว่า "สติปัญญา" ที่มันเป็นปฏิปักษ์ต่อความยึดถือว่าตัวตน เป็น egoism, เพราะว่าเฉโกอย่างนั้นมันเป็นตัวตน เป็น egoism เสียเอง อย่าเอามาปนกัน ถ้าเอามาปนกันแล้วจะยุ่ง.
    ถ้าเรามีความว่างจากความยึดถือว่าตัวตน เป็น egoism ไม่มีความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกูแล้ว สติปัญญาแท้ที่จะดับทุกข์ได้ที่เป็นยาแก้โรคทางวิญญาณอยู่ในตัวนั้นก็มีอยู่; เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นโรคเกิดไม่ได้ หรือโรคที่เกิดอยู่ก่อนก็หายไปทันทีเหมือนปลิดทิ้ง ในขณะนั้นจึงมีธรรมะเต็มไปหมด; สมกับที่กล่าวว่า ความว่างนั้นคือสติปัญญา ความว่างคือธรรมะ ความว่างคือพุทธะ เพราะว่าในขณะที่จิตว่างจากตัวกู-ของกู ในขณะนั้นจะมีธรรมะทุกอย่างทุกประการหมดทั้งพระไตรปิฎกที่เราควรปรารถนา.
    เอากันอย่างง่ายๆว่า ในขณะนั้นจะมี สติสัมปชัญญะที่สุด, มี หิริ โอตตัปปะ คือความละอายบาป กลัวบาปที่สุด, มีขันติ โสรัจจะ ความอดกลั้นอดทนที่สุด, มีความ กตัญญูกตเวทีที่สุด,มีความ สัตย์ซื่อที่สุด,เรื่อยไปจนกระทั่งมี ยถาภูตญาณทัสสนะ ที่จะทำให้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้.
    อาตมาแจกลูกไปแต่ต้นว่า จะต้องมี สติ สัมปชัญญะ หิริ โอตตัปปะ ขันติ โสรัจจะ กตัญญูกตเวที นี้ก็เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นธรรมะเหมือนกัน เป็นธรรมะที่เป็นที่พึ่งแก่โลกได้เหมือนกัน.
        แม้แต่ หิริ โอตตัปปะ ละอายบาป เกลียดบาป กลัวบาปนี้ลองมีซิ โลกนี้ก็สงบเป็นสันติภาพถาวร.
    เดี๋ยวนี้มีแต่คนหน้าด้าน ไม่รู้จักกลัวบาป อายบาปแก่ตัวเอง จึงทำสิ่งที่ไม่ควรทำอยู่ได้ แล้วยืนยันและยืนกรานที่จะทำอยู่เรื่อย ทั้งๆที่เห็นว่านี้มันจะทำความพินาศให้ทั้งโลก ก็ยังยืนกรานที่จะทำอยู่เรื่อย, เพราะไม่มีหิริ โอตตัปปะ โลกนี้จะต้องวินาศลงเพราะไม่มีธรรมะแม้เพียงข้อนี้.
    หรือธรรมะต่ำแคบกว่านั้นอีก คือธรรมะที่ชื่อว่า กตัญญูกตเวที อย่างนี้ ลองมีธรรมะข้อนี้ข้อเดียว โลกนี้ก็สงบได้ เพราะเราต้องยอมรับว่า ทุกคนในโลกมีบุญคุณแก่กันและกัน ในฐานะที่ช่วยกันสร้างโลกให้น่าดูให้งดงามอย่างนี้ เช่น คิดค้นวิชาขึ้นมาใส่โลกอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะคนทุกคนในโลกมีบุญคุณต่อกัน. ไม่ต้องพูดถึงคนหรอก; แม้แต่สุนัขและแมวก็ยังมีบุญคุณแก่มนุษย์,แม้แต่นกกระจอกก็ยังมีบุญคุณแก่มนุษย์. ถ้าเรารู้จักบุญคุณของสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ทำอะไรชนิดที่เป็นการเบียดเบียนกันไม่ได้.โดยอำนาจธรรมะ คือ ความกตัญญูกตเวทีเท่านั้น ก็ช่วยโลกได้.
    เป็นอันว่า ขึ้นชื่อว่าธรรมะนั้น ถ้าเป็นธรรมะจริงแล้ว เหมือนกันหมด เป็นอันเดียวกันหมด คือช่วยโลกได้ทั้งนั้น.
    ถ้าธรรมะไม่จริงแล้ว มันขัดขวางกันไปหมด มันจะดูมากมายรกรุงรังไปหมด. ฉะนั้นเมื่อมีธรรมะจริง คือมีว่างจากตัวกู-ของกูแล้ว ก็มีธรรมะหมด มีพุทธะหมด มีอะไรหมดอยู่ในนั้นเอง ในจิตดวงเดียวนั่นเอง ซึ่งเป็นจิตแท้ หรือจิตที่เป็นสภาพเดิมแท้. ถ้าตรงกันข้ามคือว่า จิตกำลังปรุงอยู่ด้วยตัวกู-ของกูเดือดพล่านอยู่ในใจแล้ว ธรรมะก็ไม่มีขณะนั้น มันไม่มีสติสัมปชัญญะ; มีสภาพผลุนผลัน ไม่คิดไม่นึกไม่ยับยั้งชั่งใจ มีอหิริ มีอโนตตัปปะ ไม่ละอายบาป ไม่กลัวบาป เป็นคนด้านต่อความชั่วที่สุด และเป็นคนอกตัญญูที่สุด ตลอดถึงเป็นคนที่ทำทุกสิ่งที่เป็นการทำลายโลกก็ได้. มันมืดมัวถึงขนาดนี้แล้ว ไม่ต้องพูดถึงว่า จะมีญาณทัสสนะเห็นแจ้งในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรืออะไร ทำนองนั้นซึ่งมันเป็นไปไม่ได้.
    นี่แหละเราต้องรู้จักของ ๒ อย่างนี้เสียก่อน คือว่า ว่างจากตัวกู กับ ไม่ว่างจากตัวกู : ว่างจากตัวกู นี้ก็เรียกว่า ว่าง, แล้วไม่ว่างจากตัวกู เราเรียกว่า วุ่น; เพื่อประหยัดเวลาในการออกเสียงก็มี ว่าง กับ วุ่น.
    ทีนี้ อาจรู้สึกด้วยสามัญสำนึกทันทีขึ้นมาเดี๋ยวนี้แล้วว่า ทุกคนไม่มีใครชอบวุ่น. ถ้าถามว่าใครชอบวุ่นลองยกมือขึ้น ถ้าใครยกมือมาแล้วคงจะขำพิลึก เพราะว่าทุกคนนี้ก็ชอบว่าง จะว่างชนิดไหนก็ล้วนแต่ชอบทั้งนั้น; ว่างขี้เกียจไม่ต้องทำงานนี้ก็ยังมีคนชอบ ว่างจากไม่มีอะไรมากวน ไม่มีลูกมีหลานมีเหลนมากวน อย่างนี้ใครๆก็ชอบ, แต่ว่าว่างอย่างนั้นเป็นเรื่องข้างนอก ยังไม่ใช่ว่างจริง.
    ว่างข้างในนั้นคือ การที่มีใจคอปรกติ ใจคอไม่ระส่ำระสาย วุ่นวาย อย่างนี้เรียกว่า ว่าง ถ้าใครรู้จักก็จะยิ่งชอบ. ถ้าว่างยิ่งขึ้นไปอีกก็ถึงที่สุด คือว่างจากความรู้สึกที่เป็นตัวตน เป็น egoism ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวเราเป็นของเราอย่างนี้ เป็นนิพพาน ว่างอย่างยิ่ง; นี้เราเรียกว่าว่าง.
    ที่วุ่นนั้นก็ตรงกันข้าม วุ่นได้ทุกอย่างทุกทาง ทั้งทางกาย ทางใจ และทางวิญญาณ; มันวุ่นคือว่าถูกรบกวนไปหมด ไม่มีความสงบสุขเลย.
    ในตัวความว่างนั้น คือธรรมะ คือพุทธะ คือสภาพเดิมแท้ของจิต หรืออะไรแล้วแต่จะเรียก. ในตัววุ่นนั้นคือไม่มีธรรมะ ไม่มีพุทธะ แม้แต่จะร้องตะโกนอยู่ว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ หรืออะไรมันก็ไม่มีธรรมะไปได้.
    นี้แหละ คนที่มีจิตใจวุ่นอยู่ด้วยตัวกู-ของกู ถึงจะไปรับไตรสรณาคมน์ รับศีล ทำบุญให้ทานอะไร มันก็ไม่มีพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ที่แท้จริงขึ้นมาได้ มันเป็นเพียงพิธีไปหมด.
    ถ้าเป็นพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ที่แท้จริงแล้ว ต้องเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง; เมื่อใดจิตว่างจากตัวกู-ของกูแล้ว เมื่อนั้นมีพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ที่แท้จริงอยู่ในจิตนั้น. ถ้ามีอย่างชั่วคราว ก็เป็นพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ชั่วคราว; ถ้ามีเด็ดขาดไปก็มีพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ที่แท้จริงและถาวร.
    ให้อุตส่าห์ปรับปรุงให้จิตใจว่างจากตัวกู-ของกูอยู่เรื่อยไปก็แล้วกัน : แล้วจะมีพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ในระดับหนึ่งประจำอยู่ในจิตใจ ทำเรื่อยๆไปจนกว่าจะเต็มที่ สมบูรณ์ หรือเด็ดขาด.
    นี้เรียกว่า เราได้รับเอาธรรมะที่เป็นยาแก้โรคด้วย, เป็นเชื้อต้านทานโรคด้วย, พร้อมกันไปในตัว เข้าไปใส่ไว้ในจิตใจในวิญญาณก็ได้ มันก็ไม่มีทางที่จะเกิดโรคทางวิญญาณ.
    ทีนี้ เราควรจะได้พูดกันถึงส่วนที่เป็นการรักษาเยียวยานั้น ให้ชัดเจนลงไปสักเล็กน้อย.
    การที่จะป้องกัน หรือรักษาเยียวยาโรคนี้ ก็ต้องมีหลักอย่างที่กล่าวมาแล้ว; คือว่า ต้องไม่ให้ตัวกู-ของกูเข้ามาเกี่ยวข้อง.
    ทีนี้มันจะโดยวิธีใดบ้าง? มันก็มีอยู่หลายวิธีเหมือนกัน เพราะว่าแม้แต่รักษาโรคทางกายนี้หรือทางจิตทาง mental ก็ตาม ซึ่งในโรคเดียวกันนั้น ก็ยังมีวิธีรักษาได้หลายแบบ ไม่ใช่มันจะแบบเดียวตายตัว; แต่ความมุ่งหมายหรือผลของมันนั้น ก็มีเป็นอย่างเดียว.
    ถ้าว่าเราจะรักษาโรคทางวิญญาณละก็ พระพุทธเจ้าท่านก็ได้กล่าวถึงวิธีปฏิบัตินี้ไว้มากมายหลายอย่างเหมือนกัน เพื่อให้เหมาะสมแก่บุคคล แก่เวลา แก่สถานที่ ตามโอกาส เราจึงได้ยิน ได้ฟังธรรมมากมายหลายชื่อ. บางทีฟังแล้วน่าตกใจว่า ตั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์; ถ้า ๘๔,๐๐๐ เรื่องแล้ว ท่านทั้งหลายจะรู้สึกท้อถอย ถ้าขืนเอาให้ได้ก็ตายเปล่า; คือมันไม่อาจจะได้ มันก็เรียนแล้วลืม ลืมแล้วเรียน เรียนแล้วลืมอยู่นั่น หรือว่าสับสนกันหมด. แต่ว่าที่แท้จริงแล้วมันมีเพียงกำมือเดียว เรื่องเดียว อย่างพระพุทธเจ้าท่านบอกแล้วว่า ท่านสรุปลงไปในคำๆเดียวว่า "สิ่งทั้งปวงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น" ได้ยินข้อนี้ก็คือได้ยินทั้งหมด, ปฏิบัติข้อนี้ก็คือปฏิบัติทั้งหมด, ได้ผลข้อนี้ก็คือหายจากโรคทั้งหมด.
    ที่ว่ามีวิธีหลายแบบในการขจัดโรคตัวกู-ของกูนี้, ความจริงล้วนแต่สามารถขจัดตัวกู-ของกูนี้ออกไปทั้งนั้น เหมือนกันทุกแบบ; แล้วแต่ว่าจะปฏิบัติโดยวิธีอะไรบ้าง. คือมีหลายอย่างเช่น :-
    ประการที่ ๑. วิธีทำการพิจารณาอยู่เสมอให้เห็นว่าตัวกู-ของกู นี้เป็นเพียงมายา
    ตัวมายา คือ สิ่งที่ไม่มีตัวจริง เป็นภาพลวงตา illusion, hallucination หรืออะไรทำนองนี้ เรียกว่ามายา; จะให้เห็นว่าที่เรารู้สึกว่ามีตัวตน มีก้อน มีชิ้น มีดุ้น ว่าตัวกู-ของกูนั้น ที่แท้มันเป็นเพียงมายา ตามวิถีทางของอาการที่เรียกกันว่า ปฏิจจสมุปบาท.
    เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ ถ้าจะกล่าวทางทฤษฎีหรือหลักวิชามันยืดยาว ใช้เวลาเรียนถึงเดือนหนึ่งหรือสองเดือนก็ได้ สำหรับเรื่องปฏิจจสมุปบาทเพียงเรื่องเดียว; เพราะในทางทฤษฎี หรือทางหลักวิชานั้น มันขยายไปในรูปของจิตวิทยาหรือปรัชญา เรื่อยไปจนกระทั่งเป็นน้ำท่วมทุ่งเพ้อเจ้อไปเลย.
    แต่ว่า ปฏิจจสมุปบาทในฝ่ายภาคปฏิบัติแท้ๆนั้น มันก็มีเพียงหยิบมือเดียว หรือกำมือเดียว เท่าที่พระพุทธเจ้าท่านว่า; คือว่า เมื่อสัมผัสกันเข้ากับรูป หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรสอะไรก็ตาม ทางตา ทางหู ทางใดทางหนึ่ง เมื่อมีการกระทบแล้ว ก็เรียกว่า สัมผัส บาลีว่าผัสสะ, ผัสสะนี้ ปรุงให้เป็นเวทนา เวทนานี้ ปรุงเป็นตัณหา ตัณหานี้ปรุง เป็นอุปาทาน อุปาทานปรุงเป็นภพ ภพปรุงเป็นชาติ คือ ความเกิด ต่อจากชาติก็คือ แก่ เจ็บ ตาย คือ ตัวทุกข์.
    ให้ดูที่ว่า พอมากระทบอารมณ์ก็เป็นผัสสะ แล้วมันปรุงเป็นเวทนา หรือที่ปรุงต่อๆกันไปนั้น ก็เรียกว่า "อาการของปฏิจจสมุปบาท" คือ อาการของการที่สิ่งต่างๆมันอาศัยสิ่งหนึ่งแล้ว ปรุงสิ่งหนึ่งขึ้น, แล้วอาศัยสิ่งนั้นปรุงอีกสิ่งหนึ่งขึ้น, อาศัยสิ่งนั้นแล้วปรุงอีกสิ่งหนึ่งขึ้น, อาการอย่างนี้หรือภาวะอย่างนี้ ก็เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท : คืออาศัยกันเกิดขึ้น อาศัยกันเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ได้มีตัวจริงที่ไหน เพียงแต่พึ่งอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น แล้วเกิดขึ้น เอาอาการที่อาศัยกันเกิดขึ้นนี้เป็นตัวปฏิจจสมุปบาท.
    วิธีที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ก็คือว่า อย่าให้มันอาศัยกันเกิดขึ้นได้ ให้ตัดตอนมันเสีย คือว่าเมื่อผัสสะกระทบทางตาเป็นต้นแล้วให้มันขาดตอนลงไป. อย่าให้ปรุงเป็นเวทนา อย่าให้รู้สึกเป็นพอใจหรือไม่พอใจขึ้นมา นี้เรียกว่าไม่ปรุงเวทนา. เมื่อไม่ปรุงเวทนาแล้ว ก็ไม่เกิดตัณหา อุปาทาน ซึ่งเป็นตัวกูหรือของกู มันเป็นตัวกู-ของกู อยู่ตรงที่เกิดตัณหาอุปาทานนั่นแหละ มายาอยู่ที่ตรงนั้น. ถ้าพอว่ากระทบอารมณ์เป็นผัสสะล้วนๆ แล้วหยุดแต่แค่นั้น มันก็ไม่มีทางที่จะเกิดตัวกู-ของกู ก็ไม่เป็นโรคทางวิญญาณและไม่เป็นทุกข์.
    อีกทีหนึ่งก็คือว่า คนธรรมดาสามัญนี้ที่จะไม่ให้ผัสสะปรุงเป็นเวทนานั้นยากนัก เพราะพอกระทบเข้าแล้ว; ก็ต้องเลยไปรู้สึกเป็นพอใจหรือไม่พอใจเสียเสมอไป ไม่หยุดอยู่ได้เพียงแค่ผัสสะ เพราะว่าไม่เคยได้ศึกษาอบรมในทางธรรม. แต่ก็ยังมีทางเอาตัวรอด อีกตอนหนึ่ง คือตอนที่ว่า ปรุงเป็นเวทนาแล้วนี้ พอใจหรือไม่พอใจแล้วนี้ ก็ให้หยุดอยู่เพียงนั้นอีก ให้เวทนาสักว่าเวทนา แล้วดับไป; อย่าให้เลยไปเป็นตัณหา ความอยากอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น ตามความพอใจหรือตามความไม่พอใจ. เพราะถ้าพอใจก็อยากได้ รักใคร่ หลงใหล หึงหวง ริษยา อะไรกันเป็นแถวเลย; ถ้าไม่พอใจแล้วอยากตีให้ตาย อยากทำลาย อยากล้างผลาญมันเสียเลย อยากจะฆ่ามันเสียเลย. ถ้าอยากอย่างนี้แล้วได้ชื่อว่า มันปรุงเป็นตัณหาแล้ว, เวทนานั้นได้ปรุงเป็นตัณหาเสียแล้ว, ถ้าอย่างนี้แล้วต้องเป็นโรคทางวิญญาณที่เป็นทุกข์ ไม่มีใครช่วยได้ ต่อให้พระเจ้าทั้งหมดรุมกันช่วย ก็ช่วยไม่ได้.
    พระพุทธเจ้าท่านก็ว่า ท่านช่วยไม่ได้ ท่านไม่ใช่ผู้บังคับกฎธรรมชาติได้, ท่านเป็นเพียงผู้เปิดเผยกฎธรรมชาติ; ให้ไปปฏิบัติกันเอาเอง; ถ้าปฏิบัติผิดมันก็ต้องเป็นทุกข์, ถ้าปฏิบัติถูกมันก็ไม่เป็นทุกข์, เพราะฉะนั้นจึงว่าถ้าเวทนาปรุงเป็นตัณหาแล้ว ไม่มีใครช่วยได้ จึงต้องเป็นทุกข์โดยแน่นอน; เพราะมันทำให้เกิดความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาแล้ว เป็นตัณหาแล้ว.
    ทีนี้ในตัวความอยากนั้น ในตัวที่เกิดขึ้นเป็นความอยากพล่านอยู่ในใจนั้น ขอให้มองดูให้ดีๆ; มองดูแยกส่วนออกไปให้ได้ว่าในนั้นมันมีความรู้สึกที่เป็นตัวผู้อยาก คือ ตัวกูหรือตัวเราที่รู้สึกอยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้ อยากจะทำอย่างนั้น อยากจะทำอย่างนี้, หรือว่ากระทำลงไปแล้วอย่างนั้นอย่างนี้, หรือว่าได้รับผลการกระทำอย่างนั้นอย่างนี้. มันมีตัวผู้อยากอยู่ นั่นแหละคือตัวกูที่มันอยาก; มันก็จะได้เอามาเป็นของกู หรือว่าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง: เป็นทรัพย์สมบัติของกู, เกียรติยศของกู, เป็นชัยชนะของกู. เป็นความปลอดภัยของกู, ในนั้นมันมีความรู้สึกว่าของกูอยู่ด้วย.
    ความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกูนี้เรียกว่า อุปาทาน. เกิดมาจากตัณหา ตัณหาปรุงเป็นอุปาทาน. ถ้าปฏิจจสมุปบาทได้ส่งทะยอยกันมาถึงตัณหาอุปาทานแล้ว มันก็เป็นมูลเหตุของความทุกข์ได้โดยสมบูรณ์แล้ว. นี้แปลว่าเดี๋ยวนี้เชื้อโรคฟักตัวเต็มที่แล้ว,เชื้อโรคที่รับเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ในขณะของผัสสะหรือเวทนานั้น เมื่อมาถึงขั้นของตัณหา อุปาทานนี้ มันฟักตัวเต็มที่ถึงขนาดจะแสดงเป็นอาการของโรคโดยสมบูรณ์แล้ว, เพราะว่าหลังจากอุปาทานก็มีภพ.
    อุปาทานทำให้เกิดภพ. ภพ แปลว่า ความมี-ความเป็น; ความมีความเป็นของอะไร? ก็ของตัวกูและของกูนั่นเอง. กรรมภพ ก็คือการกระทำที่ทำให้เกิดตัวกูและของกู. ถ้าเรียกว่า"ภพ"เฉยๆก็คือภาวะแห่งตัวกูเต็มที่ เป็นโรคเต็มที่.
    ภพให้เกิดชาติ ก็หมายความว่า ความเต็มที่นั้นมันแสดงออกมาเป็นชาติ คือความเกิด. ทีนี้ตัวกูได้เกิดออกมาแล้ว เป็นความทุกข์ เป็นความแก่ ความตาย โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส มากมายเหลือที่จะจาระไนอาการ แต่รวมเรียกว่าเป็นทุกข์.
    ขณะนี้ก็คือ อาการที่เรากำลังเจ็บปวดทุรนทุรายอยู่ด้วยผลของโรค; นี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ได้เป็นมา ส่งทะยอยกันมาจนถึงกับเกิดโรค หรือเกิดทุกข์.
    ในทางปฏิบัติเราหยุดมันเสียได้ ตรงที่ไม่ให้ผัสสะปรุงเวทนา,หรือถ้าพลาดตรงนั้น ก็ให้มาทำตรงที่ไม่ให้เวทนาปรุงเป็นตัณหา หลังจากนี้แล้วช่วยไม่ได้.
    เราต้องพยายามมีธรรมะกันให้ได้ ตรงที่เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ฯลฯ นี้ โดยที่เราศึกษาอบรมอยู่เป็นประจำ ถึงข้อที่ว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น. แปลว่าคนธรรมดาเขามีแนวว่า ถ้าเกิดผัสสะแล้วก็เกิดเวทนา แล้วเกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ นี้เป็นทางที่เดินกันจนเตียนโล่งไปหมด เดินง่ายที่สุด. แต่เราไม่เอาอย่างนั้น พอมีผัสสะกระทบแล้ว เราก็วกกลับเดินไปในทางของสติปัญญา ไม่เดินไปทางตัวกู-ของกู.
    หรือแม้ว่า จิตเดินไปจนถึงเวทนาแล้วก็ตาม ยังยักกลับไปทางของสติปัญญา ก็ได้ไม่ลอยไปตามกระแสแห่งตัวกู-ของกู; อย่างนี้ไม่มีทุกข์เลย, ทุกวันทุกคืนจะไม่มีทุกข์เลย. แล้วถ้าทำได้เก่งคือว่าทำไปตามวิธีที่ถูกต้องถึงที่สุดแล้ว เป็นพระอรหันต์ได้ในตัวเอง.
    ถ้าเอาตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัส ก็มีหลักง่ายๆ คือหลักที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสแก่พระสาวก ชื่อพาหิยะว่า :-
    "ดูกรพาหิยะ, เมื่อใดเธอได้เห็นรูป สักว่าตาเห็น, ได้ฟังเสียง สักว่าหูได้ยิน, ได้ดมกลิ่น ก็สักแต่ว่าได้กลิ่น, ได้ลิ้มรส ก็สักแต่ว่าได้ชิม, ได้สัมผัสผิวหนัง ก็สักแต่ว่าเป็นการกระทบทางผิวหนัง, จะคิดนึกขึ้นมาในใจ ก็สักแต่ว่ารู้สึกตามธรรมชาติขึ้นมาในใจ. เมื่อเป็นดังนี้แล้ว เมื่อนั้นตัวเธอจักไม่มี (คือตัวกูไม่มี); เมื่อตัวเธอไม่มี การวิ่งไปทางโน้นหรือวิ่งมาทางนี้หรือหยุดอยู่ที่ไหนก็ตาม มันก็ไม่มี. นั่นแหละคือที่สุดของความทุกข์, นั่นแหละคือที่สิ้นสุดของความทุกข์, นั้นแหละคือนิพพาน". เมื่อใดเป็นอยู่อย่างนั้น เมื่อนั้นเป็นนิพพาน ถ้าเป็นถาวรก็เป็นนิพพานถาวร; ถ้าเป็นชั่วคราวก็เป็นนิพพานชั่วคราว นี่แปลว่าเป็นหลักเพียงอย่างเดียว ไม่มีอย่างอื่น.
    จะปฏิบัติวิธีไหนก็ให้เป็นไปเพื่อเฉยได้ หรือหยุดได้ ต่ออารมณ์ที่มากระทบทั้งนั้น จะทำวิปัสสนาแบบไหนก็ตามเถอะ ถ้าถูกต้องหรือไม่หลอกลวงกันแล้ว ก็จะต้องมาในรูปนี้รูปเดียวกัน; คือในรูปที่อารมณ์ไม่ปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกู-ของกู ขึ้นมาได้ และอันนี้มันไม่ยากที่จะทำลายกิเลส; เพราะเมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ ทำได้อย่างนี้,มันทำลายกิเลสของมันเอง มันฆ่ากิเลสอยู่ในตัวมันเอง.
    เปรียบง่ายๆเหมือนว่า ถ้าเราอยากจะให้ไม่มีหนูมารบกวนเราเอาแมวมาเลี้ยง เรื่องของเราก็เพียงแต่เอาแมวมาเลี้ยง หนูมันก็หมดไปได้ โดยที่เราเองไม่ต้องไปจับหนู แมวมันทำหน้าที่ของมันเอง หนูก็ไม่มีได้; สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาก็ไม่มีเพราะเหตุนี้.
    ทีนี้เราทำแต่ควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ถูกวิธีเท่านั้น ตอนที่จะฆ่ากิเลสนั้นมันเป็นการฆ่าของมันเอง นี้พูดอย่างสมมติ. เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ถ้าพวกเธออยู่กันให้ถูกต้องแล้ว โลกนี้ก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์" ฟังดูให้ดีๆ; ว่าอยู่กันให้ถูกต้องเท่านั้น ไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าอยู่ให้ถูกต้อง แล้วโลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์.
    คำนี้ไม่ใช่คำเล็กน้อย ใจความมันก็บอกอยู่แล้ว; และมันไม่เล็กน้อยก็ตรงที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านสั่งเมื่อใกล้ๆจะปรินิพพานว่า "อิเม เจ ภิกฺขเว ภิกฺขู สมฺมา วิหเรยฺยํ    อสุญฺโญ โลโก อรหนฺเตหิ อสฺส" -ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเหล่านี้จะพึงเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกจักไม่ว่างจากพระอรหันต์. สมฺมา วิหเรยฺยํ แปลว่า พึงเป็นอยู่หรือพึงอยู่โดยชอบ.

อยู่โดยชอบนี้อยู่อย่างไร โลกจึงจะไม่ว่างจากพระอรหันต์?
    อยู่โดยชอบ ก็คืออยู่ในลักษณะที่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนี้เข้ามาแตะต้องไม่ได้; คือมากระทบนั้นได้ แต่ว่าจะมาปรุงแต่งให้เกิดเวทนา เกิดตัณหา อุปาทาน นั้นไม่ได้. เราอยู่ในลักษณะที่ฉลาดอยู่ด้วยสติปัญญา หรือความว่างจากตัวกู อย่างที่กล่าวแล้ว เพราะเราศึกษาเพียงพอปฏิบัติมันจนเคยชินเพียงพอ. เพราะฉะนั้นเมื่อมันมา ก็มากระทบ, แล้วตายเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง; เหมือนกับบ้านเรามีแมว หนูมาจากบ้านอื่นหรือมาจากป่า ขึ้นมาบนเรือนนี้มันก็ตายหมด เพราะแมวมันคอยฆ่าอยู่เรื่อย.
    ถ้าเรามีการเป็นอยู่ที่ถูกต้องตามหลักของความไม่ยึดมั่นนี้แล้ว รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธัมมารมณ์ ก็ไม่มาทำอันตรายเราได้. มากระทบได้ มาเกี่ยวข้องได้; แต่เราใช้มันด้วยสติปัญญา เราจัดการกับมันด้วยสติปัญญา : กินมันก็ได้ บริโภคมันก็ได้ มีมันก็ได้ เก็บมันไว้ก็ได้ แต่ไม่มีผลเป็นทุกข์; เพราะมันมีค่าเท่ากับไม่มี ไม่เป็น ไม่ใช้ ไม่กิน ไม่เก็บ เพราะไม่มีตัวเรา ไม่มีของเรา.
    ในทางที่ตรงกันข้ามนั้น มันไปมีตัวเรามีของเราหมด เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นทุกข์ตลอดเวลา : ไม่ทันกิน ไม่ทันเก็บ มันก็ทุกข์แล้ว, กินอยู่ เก็บอยู่ มันก็ทุกข์อีก, มันเป็นทุกข์ไปหมดเพราะเหตุนี้; นั่นเรียกว่าไม่อยู่โดยชอบ. ไม่ได้เป็นอยู่โดยชอบก็กลุ้มไปด้วยโรค หรือความทุกข์; ถ้าเป็นอยู่โดยชอบ มันก็ไม่มีทางที่จะเกิดโรคหรือเกิดความทุกข์ได้.
    คำ "เป็นอยู่ชอบ"นี้ อธิบายได้ต่อไปถึงกับว่าเป็นอยู่อย่างนั้นกิเลสไม่ได้อาหารหล่อเลี้ยง กิเลสผอมตายเอง. เปรียบเหมือนว่าเสือดุร้ายนี้เราล้อมคอกมันไว้ได้แล้ว เราก็ล้อมมัน. มันก็ไม่ได้กินอาหาร; เพราะในคอกนั้นมันไม่มีอาหาร เราไม่ต้องฆ่ามัน มันก็ตายเอง. เพราะฉะนั้น เราล้อมไว้ให้ถูกวิธีตรง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธัมมารมณ์ ที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รอบตัวเรา; ล้อมตรงนี้คือปฏิบัติถูกต่อสิ่งเหล่านี้ที่ตรงนี้, กิเลสไม่มีทางได้กินอาหารก็ไม่อาจเกิด ไม่อาจเจริญงอกงาม; เชื้อของกิเลสจึงหมดไป มันก็เลยไม่มีเชื้อที่จะให้เกิดกิเลสหรือทำให้เกิดทุกข์.
    พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "อยู่ให้ชอบ อยู่ให้ถูกวิธีเท่านั้น โลกจักไม่ว่างจากพระอรหันต์" นี้เรียกว่า ปฏิบัติตามหลักของปฏิจจสมุปบาท, เรียกว่าเป็นอยู่ถูกต้อง ชนิดที่เกิดกิเลสไม่ได้ โดยที่เห็นว่าตัวกู-ของกูนี้เป็นเพียงมายา เพราะมันเพิ่งเกิดมาเมื่อมีรูปมากระทบตา หูเป็นต้น; เกิดเวทนาแล้วปรุงเป็นความอยาก. ถ้าอย่าให้มีอะไรมาปรุงเป็นความอยาก มันก็ไม่เกิดอุปาทานว่าตัวกู ว่าของกู.
    พึงเข้าใจให้ถูกต้อง ว่ากิเลสมันเพิ่งเกิดหยกๆ เพราะการปรุงขึ้นมา ไม่ใช่ตัวจริง.
    มันเป็นมายาเหมือนกับหน่วยคลื่น ที่เกิดขึ้นเพราะลมพัดน้ำ น้ำก็มีอยู่จริง ลมก็มีอยู่จริงแต่ตัวคลื่นนั้นเป็นมายา. นี่เปรียบเทียบโดยวัตถุ แต่จะเอาเป็นเรื่องเดียวกันแท้ไม่ได้; มุ่งหมายแต่จะชี้ตรงความเป็นมายาของคลื่น ที่เกิดขึ้นมาเพราะการปรุงแต่ง คือ ลมพัดน้ำให้กระฉอกเป็นลูกคลื่น ยกเป็นสันลูกคลื่นขึ้นมา แล้วก็หายไป.

ความรู้สึกว่าตัวกู-ของกู คราวหนึ่งๆในวันหนึ่ง ซึ่งเกิดอยู่หลายๆคราวนั้น ก็เป็นเหมือนคลื่นที่มีมาจากน้ำ คืออารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส; แล้วก็กระทบด้วยลม คือความโง่ ความหลง อวิชชา แล้วเกิดเป็นคลื่น คือตัวกู-ของกู โผล่ขึ้นมาเป็นคราวๆ,วันหนึ่งหลายคราว.
    ความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู หรือ egoism ที่โผล่ขึ้นมาคราวหนึ่งนี้ ท่านเรียกว่า ชาติหนึ่ง ชาติคือความเกิดทีหนึ่ง.
    นี่แหละความเกิดที่แท้จริง หมายถึง ความเกิดของสิ่งนี้ คือ ตัวกู-ของกู. อย่าได้ไปหมายถึงความเกิดจากท้องแม่. คนหนึ่งเกิดจากท้องแม่ทีหนึ่ง แล้วก็เข้าโลงไปทีหนึ่ง นั้นไม่ใช่ความเกิดที่พระพุทธเจ้าท่านมุ่งหมาย; มันเป็นความเกิดทาง physical มากไป.
    ความเกิดที่พระพุทธเจ้าท่านมุ่งหมายนั้น เป็นฝ่าย spiritual หมายถึงการเกิดที่เป็นอุปาทานว่า ตัวกู-ของกู วันหนึ่งเกิดได้หลายชาติ หลายสิบชาติ หรือหลายร้อยชาติก็ตาม แล้วแต่ว่าใครจะเกิดเก่งสักกี่มากน้อย; แต่ทุกคราวจะต้องเป็นชาติ เป็นตัวกู-ของกูขึ้นมาทีหนึ่งเสมอไป; แล้วมันก็ค่อยจางไป เดี๋ยวมันก็ค่อยดับลง แล้วก็ตายไป, เดี๋ยวก็เกิดโผล่มาใหม่อีก เมื่อไปกระทบรูป เสียง หรือกลิ่นอย่างอื่นขึ้นมาอีก. และแต่ละชาติมีปฏิกิริยาเป็น reaction ส่งต่อถึงกัน อย่างที่เราเรียกว่ากรรมเก่าของชาติก่อนมา ส่งผลให้เกิดในชาตินี้ เป็นอย่างนี้ เป็นผลขึ้นมา แล้วส่งต่อกันไปอย่างนี้ทุกๆชาติ. คำว่า "ผลกรรม" หรือ "การรับผลกรรม" ก็มุ่งหมายอย่างนี้ และจะถูกตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอน; ถ้าไม่อย่างนั้นจะออกนอกเรื่องนอกราวไป. เราต้องเข้าใจเรื่องเกิด เรื่องกรรม ผลกรรม และการรับผลกรรม อย่างนี้ :-
    อย่างว่า เกิดเป็นผู้อยากได้ของรักอย่างใดขึ้นมาแล้วตายไป; แล้วเกิดเป็นผู้ไปขโมย หรือว่าไปทำโจรกรรมเข้าจริงๆแล้วก็ตายไป; แล้วไปเกิดเป็นผู้บริโภคสิ่งนั้นเข้าไป หรือว่าไม่ได้บริโภคสิ่งนั้นเข้าไป เดี๋ยวไปเกิดเป็นจำเลย ถูกกล่าวหาแล้ว, เดี๋ยวไปเกิดเป็นนักโทษอยู่ในตะรางแล้ว. ความเกิดอย่างนี้มีได้มากและสับสนกันอย่างยิ่งหลายสาย หลายแนว พร้อมคลุกเคล้ากันไป; ดูมันให้ดีๆจะเข้าใจ.ถ้าทำการหยุดความเกิดเสียได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นเป็นนิพพาน ซึ่งไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย.
    ถ้ายังมีเกิด เป็นต้องรู้สึกว่าตัวกู-ของกูอยู่เรื่อย : ก็เป็นวัฏฏสงสารไปเรื่อย คือทุกข์เรื่อย เป็นลูกโซ่ไปเลย.
    เราอย่าไปเข้าใจผิดตรงที่ว่า ไม่เกิดๆนี้มันหมายถึงว่างจนขนาดว่าไม่มีความรู้สึกอะไร ไปนั่งตัวแข็งเป็นท่อนไม้นี้ไม่ใช่ มันกลับว่องไว (active) มากที่สุด. ที่ว่างจากตัวกู หรือว่างจากการเกิดมากที่สุดนั้น กลับเป็นสติปัญญามากที่สุด ทำอะไรได้คล่องแคล่วที่สุด เพราะมันไม่อาจทำผิด คิดผิด พูดผิด มันจึงทำได้โดยเร็ว.
    ที่ว่ามันไม่มีทางที่จะผิดได้ ก็เพราะมันเป็นสติปัญญาอยู่โดยธรรมชาติ ในตัวธรรมชาติเป็นอัตโนมัติ. สิ่งที่เรียกว่า "ความว่างจากตัวกู" มันเป็นอย่างนี้เอง. "เรา" ที่ว่าว่างจากตัวกู หรือผู้ที่ว่างจากตัวกู หรือผู้ที่เป็นนิพพานอยู่นี้ทำอะไรได้หมด แต่แล้วไม่ทำอะไรผิดเลย; เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง รวดเร็วอย่างยิ่ง มากมายอย่างยิ่ง ดีอย่างนี้.
    อย่าได้ไปเข้าใจว่า ถ้าเกิดความรู้สึกว่างอย่างนี้แล้ว มันทำอะไรไม่ได้ หยุดทำอะไรไปหมด, หนืดไปหมด เนือยไปหมด หรือมันอยู่เฉยไปเลย; อย่างนั้นว่าเอาเอง. เพราะความโง่ของตัวเองก็เลยทำให้กลัว กลัวความว่าง กลัวนิพพาน หรือกลัวจะหมดกิเลสตัณหาแล้วจะไม่สนุก อย่างนี้เป็นต้น.
    ความหมดกิเลสตัณหา ยิ่งสนุกอย่างยิ่ง ยิ่งเป็นสุขอย่างยิ่ง; แต่ถึงอย่างไรก็ต้องเป็นความสุข หรือความสนุกที่แท้จริง คือจะไม่เป็นอันตราย ไม่หลอกลวง ไม่เป็นมายา.
    ในความสุขสนุกของคนปุถุชนนั้นมันไม่จริง, มันหลอกลวง มันเป็นมายา, แล้วมันใส่ความทุกข์ให้แก่ผู้นั้น เหมือนกับเหยื่อที่ใครกินเข้าไปแล้วมันติดเบ็ด. นี้เรียกว่าตกอยู่ใต้อำนาจพญามาร; มันก็วุ่นกันอยู่ตลอดเวลา, มันก็จมอยู่ในวัฏฏสงสาร คือห่วงโซ่ของความทุกข์, หรือว่าทะเลวนของความทุกข์, ขึ้นมาไม่ได้.
    นี้เรียกว่าเราอาศัยการดับตัวกูเสียได้ ด้วยมองเห็นตัวกู-ของกูนี้ว่า เป็นมายาโดยอาศัยการปฏิบัติตามหลักของปฏิจจสมุปบาท นับว่าเป็นอย่างหนึ่ง แนวหนึ่ง หรือวิธีหนึ่ง.
    ประการที่ ๒. เห็นอารมณ์ทั้ง ๖ โดยหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
    อาตมาจะยกตัวอย่างมาหลายๆแนว เพื่อให้เป็นตัวอย่าง เช่นว่า : มองที่อารมณ์ คือมองลงไปที่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธัมมารมณ์ หกประการที่มันจะมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่าแม้แต่อารมณ์นี้มันก็เป็นมายา โดยอาศัยความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา.
    เราอย่าทำเล่นกับเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันไม่ใช่เรื่องสำหรับคนแก่ หรือว่าเป็นเรื่องเอาไว้สวดศพคนตายแล้ว; มันเป็นเรื่องที่ต้องนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับคนเป็นๆ.
    ถ้าใครสามารถเอาความรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้ามากำกับอยู่กับชีวิตประจำวันแล้ว คนนั้นได้ชื่อว่า มีเชื้อต้านทานโรคสูงสุด, แล้วอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส นั้นจะไม่เกิดเป็นพิษขึ้นมาได้ เราจะมีอยู่เป็นอยู่อย่างมีความเกษม.
    บาลีใช้คำว่า เขมะ-เกษม นี้เป็นภาษาสันสกฤต คือ กฺษมะ แล้วมาเป็นไทยว่าเกษม เราจะเป็นอยู่อย่างเกษม.
    น่าแปลกเหมือนกันที่ท่านไม่ใช้คำว่า เป็นสุข, เพราะคำว่า"สุข"นี้ มันออกจะเป็นมายา หรือหลอกลวงอยู่รูปหนึ่งเหมือนกัน เอาแต่เกษมก็แล้วกัน. เกษม หมายความว่า อิสระและสงบเย็น.
    ถ้าจะพูดให้เห็นชัดหน่อย ไม่ให้เป็นที่ตั้งของความหลง ก็เรียกว่า เกษมจากโยคะ. โยคะคือเครื่องรบกวน; เกษมจากเครื่องรบกวนนั้นคือว่าง หรือนิพพาน.
    หากต้องการจะมีชีวิตอย่างเกษมแล้ว ก็ต้องอาศัยความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้สมบูรณ์, มันจะต่อต้านกันได้กับอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่มากระทบ ไม่ให้ไปหลงรักหรือหลงเกลียด.
    เรื่องวุ่นวายมีอยู่ ๒ อย่างเท่านั้น คือ ไปหลงรักอย่างหนึ่ง, ไปหลงเกลียดอย่างหนึ่ง, ซึ่งเป็นเหตุให้หัวเราะและต้องร้องไห้.ถ้าใครมองเห็นว่า หัวเราะก็กระหืดกระหอบ มันเหนื่อยเหมือนกัน; ร้องไห้นี้มันก็กระหืดกระหอบเหมือนกัน; สู้อยู่เฉยๆดีกว่า อย่าต้องหัวเราะ อย่าต้องร้องไห้ นี่แหละมันเป็นความเกษม.
    เราอย่าได้ตกไปเป็นทาสของอารมณ์,จนไปหัวเราะหรือร้องไห้ตามที่อารมณ์มายั่ว; เราเป็นอิสระแก่ตัว หยุดอยู่ หรือเกษมอยู่อย่างนี้ดีกว่า. นี้คือ การที่เราใช้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเครื่องมือกำกับชีวิตเป็นประจำวัน สามารถเห็นว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นมายา, เป็น illusion เหมือนอย่างที่ตัวกู-ของกูก็เป็น illusion เพราะว่าตัวกู-ของกู มันเกิดมาจากอารมณ์. ตัวกู-ของกูเป็นมายา อารมณ์ทั้งหลายก็เป็นมายา เห็นได้ด้วยหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โรคก็ไม่เกิด ความทุกข์ก็ไม่เกิด.
    ประการที่ ๓ เราจะตัดลัดมองไปดูสิ่งที่เป็นสุขเวทนา คือ ความสุขสนุกสนาน เอร็ดอร่อย ที่เป็นสุขนั้น เรียกว่า สุขเวทนา.
    ตัวสุขเวทนานั้นเป็นมายา เพราะว่ามันเป็นเหมือนลูกคลื่นที่เกิดขึ้นเป็นคราวๆไม่ใช่ตัวจริงอะไร. ที่พูดดังนี้ก็เพราะว่าในบรรดาสิ่งทั้งปวงในโลกทั้งหมดทุกโลก ไม่ว่าโลกไหน มันมีค่าอยู่ก็ตรงที่ให้เกิดสุขเวทนา.
    คิดดูให้ดีว่า ท่านศึกษาเล่าเรียนทำไม? ท่านประกอบอาชีพ หน้าที่การงานทำไม? ท่านสะสมทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง พวกพ้องบริวารทำไม? มันก็เพื่อสุขเวทนาอย่างเดียว. เพราะฉะนั้น แปลว่า อะไรๆมันก็มารวมจุดอยู่ที่สุขเวทนาหมด. ฉะนั้น ถ้าเรามีความรู้ในเรื่องนี้ จัดการกับเรื่องนี้ ให้ถูกต้องเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น;ทุกเรื่องมันถูกหมด เพราะฉะนั้นจึงต้องดูสุขเวทนาให้ถูกต้อง ตามที่เป็นจริงว่า มันก็เป็นมายาชนิดหนึ่ง.
    เราจะต้องจัดการให้สมกันกับที่มันเป็นมายา; ไม่ใช่ว่า จะต้องไปตั้งข้อรังเกียจ เกลียดชังมัน อย่างนั้นมันยิ่งบ้าบอที่สุด; ถ้าเข้าไปหลงรัก หลงเป็นทาสมัน ก็เป็นเรื่องบ้าบอที่สุด. แต่ว่าไปจัดการกับมันอย่างไรให้ถูกต้อง นั้นแหละเป็นธรรมะ เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ที่จะเอาชนะความทุกข์ได้ และไม่ต้องเป็นโรคทางวิญญาณ.
    มันก็ต้องทำโดยวิธีที่พิจารณาให้เห็นว่า สุขเวทนานี้ที่แท้ก็คือมายา เป็นเหมือนลูกคลื่นลูกหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะน้ำถูกลมพัด.หมายความว่า เมื่อรูป เสียง กลิ่น รส ฯ เข้ามา แล้วความโง่ คืออวิชชา โมหะ ออกรับ กระทบกันแล้วเป็นคลื่น กล่าวคือสุขเวทนาขึ้นมา, เดี๋ยวมันก็แตกกระจายไป. ถ้ามองเห็นอย่างนี้แล้ว เราก็ไม่เป็นทาสของสุขเวทนา เราสามารถจะควบคุม จะจัด จะทำกับมันได้ในวิธีที่ไม่เป็นทุกข์ ตัวเองก็ไม่เป็นทุกข์ ครอบครัวก็ไม่เป็นทุกข์ เพื่อนบ้านก็ไม่เป็นทุกข์ คนทั้งโลกก็ไม่พลอยเป็นทุกข์ เพราะมีเราเป็นมูลเหตุ. ถ้าทุกคนเป็นอย่างนี้ โลกนี้ก็มีสันติภาพถาวร คือเป็นความสุขที่แท้จริงและถาวร.
    นี่คืออานิสงส์ของการหายโรคโดยวิธีต่างๆกัน : ไม่เป็นโรคตัวกู ไม่เป็นโรคของกู.
    อาตมายกตัวอย่างมาเพียง ๓ อย่างก็พอแล้ว เพราะเวลาก็จะหมดอยู่แล้ว ว่าเราจะเห็นตัวกู-ของกูนี้เป็นมายา โดยหลักของปฏิจจสมุปบาท ก็ได้; หรือว่าอีกวิธีหนึ่ง เราจะเห็นอารมณ์ทั้งหกคือ รูป เสียง กลิ่น รส นี้มันเป็นมายา โดยหลักของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ได้; หรือว่าเราจะเห็นสุขเวทนาว่าเป็นมายา โดยหลักของการเห็นว่ามันเป็นของปรุงแต่ง หรือเป็นเพียงสังขารเท่านั้น ไม่ใช่ของจริงอะไรอย่างนี้ก็ได้.
    ทั้งหมดนั้นจะเป็นได้อย่างนั้น ก็ดูให้ดี หรือระมัดระวังให้ดีมีสติสัมปชัญญะกันให้มาก ตรงขณะที่อารมณ์มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นั่นเอง. เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านกำชับพระพาหิยะ ให้เห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักว่าได้ยิน อย่าให้ปรุงเป็นเวทนา หรือถ้าปรุงเวทนาแล้ว ก็อย่าให้ปรุงเป็นตัณหาก็ได้; ยังได้อีกทีหนึ่ง; แล้วก็ไปสนใจเรื่องว่างเรื่องวุ่นให้มากที่สุด.
    พูดเพียงครั้งเดียว หรือฟังเพียงครั้งแรกนี้ พอเข้าใจเลาๆ; ต้องไปสังเกตจนจับให้ได้ว่า เราเองนี้แท้ที่จริงก็มีว่างอยู่มาก, เวลาที่เราว่างไม่วุ่นหรือมีสติปัญญามีอยู่มาก. วุ่น หรือความรู้สึกเป็นตัวกู-ของกูนั้นมาเป็นพักๆคราวๆ, ที่เรียกว่า ความเกิดนั้นมันมาเป็นคราวๆ เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที; แต่ว่าขณะที่ไม่เกิดนั้นไม่เป็นทุกข์เลยและมีอยู่มาก แล้วคนก็โง่เอง มองข้ามไปเสียเอง คือมองข้ามนิพพานที่มีอยู่เองไปเสีย จึงมองไม่เห็นว่ามีนิพพาน.
    แม้เป็นนิพพานน้อยๆ นิพพานชิมลองก็จริง แต่ว่าก็เป็นนิพพานอย่างเดียวกับนิพพานจริง หรือนิพพานถาวร เพียงแต่ว่ามันไม่ถาวร เพราะว่าเราไม่สามารถป้องกันโรค ไม่สามารถทำลายโรค โรคจึงมาแทรกเสียเป็นพักๆ นิพพานก็ขาดเป็นห้วงๆ.
    ถ้าใครมีบุญ คือฉลาดถึงกับรู้ว่า โดยที่แท้พื้นฐานนั้นมันว่างหรือเป็นนิพพานอยู่เองแล้ว; เรื่องมันก็ระวังอยู่แต่เพียงว่า อย่าให้ของใหม่เข้ามาแทรกแซง. เจ้าบ้านว่างดีอยู่แล้ว แขกอาคันตุกะนั่นคือวุ่น; เพราะฉะนั้น อย่าให้มันเข้ามา ไล่มันออกไป ไม่ให้เข้ามาในบ้านในเรือนของเรา มันก็ว่างอยู่ตลอดเวลาได้.
    วิธีไล่ออกไป ก็คือ วิธีปฏิบัติธรรมะตามหลักของพระพุทธเจ้า. นี่เป็นเหตุให้เกิดกำลังใจ เกิดความเชื่อ-ศรัทธา แน่นแฟ้นในธรรมะ, เกิดวิริยะ-ความพากเพียรเอาจริงในธรรมะ, เกิดวิมังสา-สอดส่องอยู่เสมอ, แล้วมันก็สำเร็จเป็นของที่ไม่ยาก.
    แต่ถ้าว่า โง่ในตอนแรกแล้ว มันยากอย่างยิ่ง คือว่ายากยิ่งกว่ากลิ้งครกขึ้นภูเขา; แต่ถ้าคลำถูกเงื่อนถูกปมแล้วละก็ มันง่ายยิ่งกว่า กลิ้งครกลงมาจากภูเขา.
    อีกทีหนึ่งหรืออีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เรามีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ อย่าลืมและอย่าประมาท คอยจับให้พบความว่างและความวุ่นที่เกิดอยู่เป็นประจำวัน.
    คำว่า"เรา"นี้หมายถึงจิต ไม่ใช่เราคือตัวกู-ของกู ให้มีจิตรักและพอใจในความว่าง คือนิพพานนี้อยู่เสมอไป อย่าได้มีจิตโน้มไปในทางที่เข้าใจผิดไปหลงสิ่งที่วุ่น.
    เดี๋ยวนี้ปัญหายากที่สุดมันอยู่ตรงที่ ทุกคนไม่ชอบความดับทุกข์ จนไม่กล้าจะยืนยันว่าเกิดมานี้เพื่อไม่ทุกข์ มันกลายเป็นว่าเกิดมาเพื่ออะไรก็ได้ เอาทั้งนั้น; ขอแต่ให้ได้ตามใจตัวสนุกๆก็แล้วกัน ก็เลยปล่อยตามเรื่องไปหมด. ที่จริงเรื่องดับทุกข์นี้มันไม่ยาก ไม่เหลือวิสัยอะไร มันก็พอๆกันกับการงานต่างๆ แต่เราไม่เข้าใจ เราหันหลังให้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นทุกข์อยู่เรื่อย.
    เป็นอันว่า ความหมดโรค หรือไม่เป็นโรคทางวิญญาณนี้ มันอยู่ตรงที่รู้จักทำไม่ให้ตัวกู-ของกูเกิดขึ้นมา. นั่นแหละคือ"ความไม่มีโรค" ซึ่งเราเรียกกันว่าเป็นลาภอย่างยิ่ง.
    คำนี้เป็นคำโฆษณาชวนเชื่อของคนขายยาครั้งพุทธกาล ว่า "อาโรคฺยปรมา ลาภา"; เที่ยวร้องก้องไปตามสี่แยก ไปตามถนนหนทาง มันไม่ได้หมายถึงโรคอย่างนี้ มันเพียงเป็นโรคปวดหัว ปวดฟัน หรืออะไรทำนองนั้น. โรคทางวิญญาณของพระพุทธเจ้านี้ ท่านหมายถึงโรคที่เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ซึ่งเป็นโรคอย่างแท้จริงอย่างนี้ แล้วความหมดโรคก็ต้องจริงถึงขนาดนี้.
    เราพ้นโรคอยู่เป็นประจำทุกวันนี้ ก็เป็นการพ้นโรคอย่าง ตทังคปหาน ตทังควิมุตติ. มันพ้นโรคโดย coincident อยู่เป็นประจำวันอยู่เหมือนกัน. coincident ก็มีมาอีกรูปหนึ่ง คือว่ามีโรคฟลุคขึ้นมาแทรกแซงอยู่เสมอเหมือนกัน. แต่อย่างไรก็ดี เราอย่าลืมว่าพ้นโรคเป็นประจำตามธรรมดา โดยไม่รู้สึกตัวนั้นก็มีอยู่ เรียกว่า ตทังควิมุตติ.
    ทีนี้บางคราว เราตั้งอกตั้งใจควบคุม มันก็ว่างได้มากกว่านั้นอีก พ้นจากโรคได้มากขึ้นอีก อย่างนี้เรียกว่า วิกขัมภนวิมุตติ เพราะเราคอยคุมมันไว้.
    ถ้าเราจัดการเด็ดขาดเลย ถอนรากถอนเหง้าถอนเชื้อได้หมดเลย. อย่างนี้เรียกว่า สมุจเฉทวิมุตติ หรือ สมุจเฉทปหาน คือฆ่าตายเลย ไม่เพียงแต่ฟลุค หรือไม่เพียงแต่ข่มขี่ไว้ชั่วคราว.
    ตามธรรมดาเราจึงได้ผล อย่างน้อยก็ได้ผลเป็น ตทังควิมุตติ ได้กำไรมากอยู่แล้ว. ถ้ามากกว่านั้นก็เป็น วิกขัมภนวิมุตติ และเป็น สมุจเฉทวิมุตติ ซึ่งเป็นอันดับสุดท้ายไปเลย. เราไม่ได้เป็นอยู่โดยความโลภ ความหลง และความไม่ปรารถนาต่างๆ แต่ว่าเป็นอยู่ด้วยความเกษม เต็มอยู่ด้วยสติปัญญา, เป็นความไม่ทุกข์ไม่ร้อน เป็นความสดชื่นเหมือนกับภาวะแห่งความหนุ่มความสาวที่ไม่รู้จักแก่เฒ่า; นี่แหละคือความหายจากโรคทางวิญญาณ.
    ในที่สุดนี้ ก็ขอให้เราทุกคนที่รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มของพุทธบริษัทนี้ รู้จักความมุ่งหมายอันแท้จริงของการรวมกลุ่ม. ถ้าเห็นว่าดี ว่าจริงอย่างนี้แล้ว ก็ช่วยกันสามัคคีในการที่จะเสียสละสิ่งที่ถูกกว่า เพื่อซื้อเอาสิ่งที่แพงกว่า ดีกว่า ประเสริฐกว่า เข้ามาให้ได้; คือช่วยกันรักษากิจการนี้ไว้ อย่าให้ล้มไป ให้เจริญก้าวหน้า เพื่อประโยชน์แก่ตัวเราเอง แก่เพื่อนมนุษย์ทุกคน ก็จะได้ชื่อว่า เกิดมาทีหนึ่งได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะทำ, และได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ แล้วมันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น มันมีเท่านั้น.
    เป็นอันว่าจบเรื่องที่จะต้องเรียนจะต้องทำ หรือว่าจะต้องเสวยผลของการกระทำ และมีชีวิตอยู่โดยไม่เป็นทุกข์เลย ทั้งในขณะแสวงหาและขณะบริโภค. เมื่อประกอบการงานเพื่อแสวงหา รวมทั้งการศึกษาเล่าเรียน การทำอาชีพเหล่านี้ เป็นการแสวงหา, ขณะนี้เราก็ไม่ทุกข์; ครั้นได้ผลเป็นเงินเป็นทอง ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียงอะไรมาบริโภค มันก็ไม่เป็นทุกข์, มันไม่เป็นทุกข์ทั้ง ๒ สถานอย่างนี้ มันก็วิเศษอย่างยิ่ง. เหมือนกับไปจับปลามากินก็ไม่ถูกเงี่ยงปลาตำ ได้ปลามากินแล้วก็ไม่ถูกก้างปลาเลย. เมื่อจับปลาก็ไม่ทุกข์ เมื่อกินปลาก็ไม่ทุกข์ มันก็หมดกันเท่านั้น มันไม่มีอะไรมากกว่านั้น.
    ขอให้ทุกคนรู้จักโรคทั้งทางกาย (physical disease) และทางจิต (mental disease) และทั้งทางวิญญาณ (คือ spiritual disease) กันให้ครบถ้วน,  อย่าให้ขาดตกบกพร่อง เว้าแหว่ง แต่ประการใด, แล้วแก้ไขเยียวยามันไปทุกโรค. ให้เป็นผู้ไม่มีโรค และชื่อว่า "อาโรคฺยาปรมา ลาภา" ที่แท้จริง.

อาตมาขอยุติการบรรยายตามโอกาสนี้ เพียงเท่านี้.